“สุเทพ” อัดมาตรการเยียวยา รบ.เปรียบฝนตกไม่ทั่วฟ้าและไม่ตรงฤดูกาล – ไร้เหลียวแลแรงงานในระบบ ชี้ ประกาศ ก.แรงงงาน จูงใจหยุดกิจการ-เลิกจ้าง !

0
941

***”สุเทพ” อัดมาตรากรเยียวยา เปรียบฝนตกไม่ทั่วฟ้าและไม่ตรงฤดูกาล

เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม พ.ศ.2563 ที่ อาคารรัฐสภา (เกียกกาย) ในการอภิปรายกฎหมาย 3 ฉบับ ได้แก่ พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 พ.ศ.2563, พ.ร.ก.การให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบวิสาหกิจ ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563 และ พ.ร.ก.การรักษาเสถียรภาพของระบบการเงินและความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ พ.ศ. 2563 ซึ่งเป็นกฎหมายจำเป็นเร่งด่วนและมีการบังคับใช้แล้วก่อนที่จะส่งให้สภาผู้แทนราษฎร ในฐานะฝ่ายนิติบัญญัติพิจารณาให้ความเห็นชอบ ซึ่งดำเนินการอภิปรายมาเป็นวันที่ 2 แล้วนั้น

นายสุเทพ อู่อ้น ส.ส.พรรคก้าวไกล กล่าวว่า วิกฤตโควิดในครั้งนี้ได้สร้างผลกระทบกับพี่น้องประชาชนอย่างถ้วนหน้าไม่มีเลือกปฏิบัติ แต่ด้วยเหตุใดความช่วยเหลือเยียวยาจากรัฐบาลถึงได้เลือกปฏิบัติ มาตรการของรัฐบาลต่างๆ ที่ออกมามีปัญหาไม่ถ้วนหน้าและล่าช้าไม่ทันการณ์ เหมือนฝนที่นอกจากจะตกไม่ทั่วฟ้าแล้ว ยังจะไม่ตกตามฤดูกาลอีกด้วยประชาชนได้รับความเดือดร้อนโดยตรงจากการประกาศปิดสถานประกอบการต่างๆ ของรัฐบาล และยังมีผลกระทบโดยอ้อมจากการที่เศรษฐกิจถดถอย คนไม่มีกำลังที่จะใช้จับจ่ายใช้สอยได้ เพราะขาดรายได้ ความละเลย เพิกเฉยต่อหน้าที่ในการช่วยเหลือเยียวยาด้านเศรษฐกิจของรัฐบาล มีราคาที่ประชาชนเป็นผู้จ่าย ทั้งการจ่ายเป็นคราบน้ำตาความหิวโหย ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ซ้ำร้ายไปกว่านั้น สำหรับบางคนต้องจ่ายด้วยชีวิต วิกฤตครั้งนี้ที่รัฐบาลประกาศว่า ไทยชนะ โดยต้นทุนของชัยชนะประชาชนคนหาเช้ากินค่ำต้องเป็นผู้จ่ายและแบกรับ

***ชี้ไร้เหลียวแลแรงงานในระบบ – ทั้งที่พบปัญหารายได้ลดลงทุกเดือน

ส.ส.ปีกแรงงาน พรรคก้าวไกล กล่าวว่า เงินกู้ 1 ล้านล้านบาทของรัฐบาล มีให้กับประชาชน 2 กลุ่ม คือ กลุ่มแรกพี่น้องแรงงานนอกระบบ ได้รับ 5,000 บาทต่อคนต่อเดือนที่กว่าจะได้รับก็ล่าช้า ต้องให้พี่น้องประชาชนพิสูจน์ความจนและต้องรอคอย หนำซ้ำต้องรอลุ้นเหมือนซื้อล๊อตเตอรี่ว่าตัวเองจะโชคดีได้รับหรือไม่ กลุ่มที่สองคือเกษตรกร ที่ได้ครัวเรือนละ 5,000 บาท ต่อเดือน เป็นเวลา 3 เดือน แต่ก็มีข้อเท็จจริงคือกลุ่มที่สาม คือ แรงงานในระบบประกันสังคมกลับเป็นกลุ่มที่ถูกทอดทิ้งไม่ได้อะไรเลยจากการเยียวยา พี่น้องแรงงานในระบบประกันสังคมก็เดือดร้อนไม่แพ้กัน ไม่ได้อยู่ดีมีสุขแบบที่รัฐบาลคิด โดยปกติได้ค่าแรงวันละ 325 บาท ซึ่งพี่น้องแรงงานจะทราบกันดีว่าชีวิตอยู่ได้ด้วยโอที และเงินพิเศษจิปาถะ เช่น ค่าชิ้นงาน ค่ากะ ค่าข้าว และจำเป็นต้องทำโอทีให้ได้เพิ่มวันละ 3 ชั่วโมง นอกเหนือจากที่ต้องทำ 8 ชั่วโมงอยู่แล้ว เพื่อให้มีรายได้ตกวันละ 500 บาท และจะต้องทำงานเดือนละ 26 วัน เดือนนึงจะมีรายได้ตกอยู่ประมาณ 13,182 บาท เพื่อให้มีรายได้พอมีชีวิตยังชีพไปได้ ในสังคมที่มีความเหลื่อมล้ำและค่าใช้จ่ายที่สูงขนาดนี้

“แต่เศรษฐกิจเริ่มไม่ดีมาตั้งแต่ก่อนโควิดแล้ว จะเห็นได้ว่าพอเริ่มปี 2563 โรงงานหลายแห่งเริ่มลดการผลิตลง ซึ่งจะไม่ต้องทำงานล่วงเวลา ไม่มีโอที  เงินเดือนก็จะลดไปราวๆ 3,000 บาทต่อเดือน เหลือเพียงเดือนละ 10,010 บาท พอช่วงกุมภาพันธ์ สถานการณ์โควิดเริ่มระบาดในจีน เศรษฐกิจยิ่งแย่ลงอีก คราวนี้โรงงานหลายแห่งเริ่มลดชั่วโมงทำงานและซ้ำร้ายยังลดวันทำงานลงอีก อาจเหลือเพียงรับเดือนละ 7,700 บาท  จากนั้นมีนาคม สถานการณ์เริ่มเลวร้ายหนักเข้าไปอีกมีโรงงานบางแห่งที่เริ่มประกาศให้บางคนหยุดงาน ทั้งนี้ ถ้านายจ้างให้หยุดงาน แรงงานจะได้รับค่าชดเชยจากนายจ้าง ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน มาตรา 75 ที่ทำให้เพื่อนๆ แรงงานจะได้เงิน ร้อยละ 75 ของเงินเดือนที่ได้รับแต่แรงงานก็ยังต้องแบกภาระไม่ได้เงินเองอีกร้อยละ 25 ทำให้รายได้ตลอดทั้งเดือนมีนาคมจะเหลือเพียง 6,337 บาท” นายสุเทพ กล่าว

***ประกาศ ก.แรงงาน แรงงจูงใจผู้ประกอบการหยุดกิจการ – เลิกจ้าง

นายสุเทพ กล่าวต่อว่า พอประกาศกฎกระทรวงแรงงานว่า กิจการสามารถอ้างเหตุสุดวิสัยในการสั่งหยุดงานได้ ทีนี้โรงงานต่างๆได้ปิดกันเป็นดอกเห็ด  เมื่อประกาศนโยบายเช่นนี้ สิ่งที่เกิดขึ้น คือ นายจ้างมีแรงจูงใจที่จะประกาศหยุดงานมากขึ้น เนื่องจากจากเดิมที่หลายแห่งก็พยายามประคับประคองให้ยังจ้างงานอยู่ เพราะการที่นายจ้างสั่งหยุดงานแล้วก็ยังต้องจ่ายค่าจ้างเองอยู่ร้อยละ 75  ตามมาตรา 75 ของกฎหมายคุ้มครองแรงงาน แต่เมื่อกิจการหลายแห่งอ้างเหตุสุดวิสัยในการปิดชั่วคราว นายจ้างจะไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยเอง แต่ลูกจ้างจะไปรับเงินจากกองทุนชดเชยการว่างงานของประกันสังคม และได้เงินร้อยละ 62 ของค่าแรงตามเพดานของประกันสังคมแทน ทำให้พี่น้องแรงงานที่ต้องประสบชะตากรรมร่วมกันจากมาตรการของรัฐบาล จะเหลือเงินที่จะใช้แต่ละเดือนเพียงเดือนละ 5,239 บาท เท่านั้น ซ้ำร้ายรัฐบาลเองก็ไม่ได้เอางบประมาณมาจ่าย แต่ใช้เงินของกองทุนชดเชยการว่างงานที่เงินหลัก ๆ มาจากการสมทบของพี่น้องแรงงานและนายจ้างเข้ากองทุนประกันสังคม ซึ่งรัฐสมทบเพียงแค่ร้อยละ 0.25 และรัฐบาลยังไม่ได้ตั้งงบประมาณมาคืนในภายหลังด้วย

“ดูทางฝั่งรายได้ว่าเศร้าแล้วที่รายได้ลดลงเรื่อยๆในแต่ละเดือน แต่รายจ่ายยังคงที่ คือหากพี่น้องแรงงานที่ยังไม่มีลูกค่าใช้จ่ายจะตกอยู่ประมาณ 7,000 บาทต่อเดือน ฝนตกไม่ทั่วฟ้ามันเป็นอย่างไร สามารถดูได้จาก การแก้ปัญหาวิกฤตโควิด 19 จากมาตรการเยียวยาของรัฐบาลต่อพี่น้องแรงงานและประชาชนอีกเป็นจำนวนมาก” นายสุเทพ กล่าว

***แนะอัดเม็ดเงินอุดหนุนค่าจ้าง – แลกรักษาสภาพงานไม่ปลดคน

นายสุเทพ กล่าวด้วยว่า วิกฤตโควิดยังเป็นข้อพิสูจน์ให้เห็นถึงความเปราะบางของระบบสวัสดิการสังคมในประเทศนี้รัฐบาลประกาศชัยชนะแต่เต็มไปด้วยประชาชนที่พ่ายแพ้ การเยียวยาประชาชนเป็นได้เพียงการสงเคราะห์และการเยียวยาที่ไม่ทั่วถึง ไม่ถ้วนหน้า ทิ้งคนไว้ข้างหลังมากมาย ดังนั้น ทางออกของการแก้ปัญหานี้คือ รัฐสวัสดิการที่ถ้วนหน้าเท่าเทียม เงินกู้เงินจำนวนมหาศาลในครั้งนี้ จะสร้างรัฐสวัสดิการถ้วนหน้าให้กับประชาชนทุกคนโดยครอบคลุมไม่ต้องพิสูจน์ความเดือดร้อน ไม่ต้องพิสูจน์ความจน โดยจะให้เงินช่วยเหลือ 3,000 บาทต่อคนต่อเดือนแก่ผู้ที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป หากครอบครัวใดมีสมาชิกที่อายุต่ำกว่า 18 ปี ก็จะได้เสริมอีกรายละ 1,000 บาท เพื่อเป็นหลักประกันให้กับประชาชนทุกค นสามารถดำรงชีพได้อยู่เหนือเส้นความยากจนทุกคนอย่างมีเกียรติมีศักดิ์ศรี แม้จะต้องใช้งบประมาณมากขึ้น แต่จะตัดปัญหาเรื่องวุ่นวายในการพิสูจน์สิทธิ ปัญหาการบริหารจัดการ งานธุรการ แปลว่าเมื่อถึงเวลาทุกคนจะได้รับเงินเยียวยาทันที ประชาชนจะมีความมั่นใจว่าไม่อดตาย วางแผนได้ว่าจะต้องใช้ชีวิตอย่างไร

“นอกจากนี้ ต้องมีมาตรการเพื่อรักษาการจ้างงาน ป้องกันไม่ให้คนต้องตกงานด้วย เพราะเมื่อลูกจ้างตกงานจะมีปัญหาอื่นๆ ตามมาอีกมาก พรรคก้าวไกลจึงเสนอจัดงบประมาณอีก 1 แสนล้านบาท เพื่ออุดหนุนค่าจ้างงานให้ลูกจ้างในระบบ 50% แต่ไม่เกิน 5,000 บาทต่อราย และฐานเงินเดือนไม่เกิน 30,000 บาท เพื่อให้สภาพการจ้างยังคงอยู่ ข้อแม้ของเงินอุดหนุนนี้คือนายจ้างจะต้องรักษาการระดับการจ้างงานให้เท่าเดิม ไม่ปลดคนออก ทำให้แรงงานยังคงมีรายได้ และยังคงมีงานทำต่อไป ข้อเสนอดังกล่าว จะทำให้พี่น้องประชาชนกลับมารู้สึกมั่นคง วางแผนได้และจะให้ความร่วมมือ เกิดเป็นความร่วมมือร่วมใจของพี่น้องประชาชน ไม่กลัว Lockdown หากเกิดการระบาดระลอกใหม่ รัฐบาลก็จะได้รับความเชื่อถือจากประชาชน  อีกทั้งนี่จะเรียกได้เต็มปากว่าคือความมั่นคงที่แท้จริง ที่ไม่ได้มาจากการใช้อำนาจไม่ได้มาจากการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน แต่เป็นความมั่นคงของพี่น้องประชาชนทุกคน” นายสุเทพ กล่าว