“ชวลิต” แนะคณะ กก.วัตถุอันตราย ห่วงใยสุขภาพคนไทย ตั้งเป้าไทยเป็นศูนย์อาหารปลอดภัยของโลก

0
1183

นายชวลิต วิชยสุทธิ์ ส.ส. นครพนม พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางควบคุมการใช้สารเคมีในภาคเกษตรกรรม สภาผู้แทนราษฎร ให้ความเห็นต่อการประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตรายในครั้งต่อไปว่า ควรแปรวิกฤตไวรัสโควิด – 19 ที่ระบาดทั่วโลกอยู่ในขณะนี้  เป็นโอกาสที่ประเทศไทยจะผลิตอาหารปลอดภัยป้อนคนไทยและชาวโลก นำรายได้เข้าประเทศ ทดแทนรายได้ด้านอื่นที่เสียหายไป

ผมจึงขอแนะนำให้รีบแบน “ไกลโฟเซต” ตามมติสภาผู้แทนราษฎรโดยเร็ว ทั้งนี้ ประธานสภาผู้แทนราษฎรซึ่งเป็นประมุขฝ่ายนิติบัญญัติ ได้ส่งมติ เมื่อวันที่ 21 พ.ย.62 ไปยังรัฐบาลซึ่งเป็นฝ่ายบริหาร รับไปดำเนินการ แต่ยังไม่มีความคืบหน้าแต่ประการใด

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นหัวหน้าฝ่ายบริหาร ต้องใส่ใจในเรื่องนี้ที่จะติดตาม ควบคุมในด้านนโยบายด้านสุขภาพอนามัยประชาชน เพราะถ้าจะว่าไปแล้ว สถิติคนไทยตายด้วยโรคมะเร็ง เฉลี่ยชั่วโมงละ 8 คน เป็นการตายเงียบ ตายผ่อนส่ง น่ากลัวยิ่งกว่าไวรัสโควิด – 19 เสียอีก

ขอฝากให้คณะกรรมการวัตถุอันตรายลองสังเกตุตั้งแต่คนใกล้ชิด มิตรสหาย ใกล้ไกล เพื่อนร่วมรุ่น ฯลฯ ตายด้วยโรคมะเร็ง ร่วงผล็อย ๆ ปีละเท่าไหร่

ส่วนผมเป็น ส.ส.จะต้องไปงานศพเป็นประจำ  ได้สอบถามสาเหตุการตายทุกครั้งพบว่า มีสาเหตุการตายจากโรคมะเร็งเป็นส่วนใหญ่ นับเป็นภัยเงียบที่มองไม่เห็นที่น่าสะพรึงกลัวมาก ไม่รู้ว่าภัยเงียบนั้น จะถึงตัวเราและคนใกล้ชิดเมื่อไหร่ ดังนั้น เมื่อรู้สาเหตุ เราก็ควรป้องกันไว้ดีกว่าแก้

อนึ่ง  ขอให้คณะกรรมการวัตถุอันตรายเลิกตั้งเงื่อนไขให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์หาสารเคมีทดแทนให้ได้ถึงจะแบนไกลโฟเซต เมื่อเป็นสารเคมีที่มีความเสี่ยงสูง มีอันตรายต่อคนและสิ่งแวดล้อม ไม่ควรมีเงื่อนไขใด ๆ ผลประโยชน์อื่นล้วนด้อยค่ากว่าชีวิตมนุษย์และสิ่งแวดล้อม  

เป็นที่ตระหนักกันดีว่า หลังจากไวรัสโควิด – 19 ได้ระบาดทั่วโลก  คนไทยและชาวโลกให้ความสำคัญกับสุขภาพเป็นลำดับแรก ดังนั้น จึงควรปรับวิธีคิดใหม่ กำหนดเป็นนโยบายว่า สุขภาพของคนไทย เกษตรกรไทย รวมทั้งชาวโลก มีความสำคัญเหนือกว่าประโยชน์ทางด้านผลประโยชน์ ผลกำไร

เพราะหากใช้สารเคมีที่มีความเสี่ยงสูงแล้วได้ผลผลิตดี ได้กำไรมาก แต่สารเคมีความเสี่ยงสูงนั้น ทำลายทั้งชัวิตคน ทำลายทั้งสิ่งแวดล้อม นับว่าไม่คุ้มค่ากับผลประโยชน์โดยส่วนรวมของประเทศ

นอกจากนี้ ยังมีวิธีอื่นที่จะกำจัดวัชพืชโดยรักษาชีวิตคนและสิ่งแวดล้อมไว้ได้ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญมากกว่าผลกำไรดังกล่าว โดยองค์ความรู้ในการกำจัดวัชพืชนั้น มีอยู่ในมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ที่มีงานวิจัย ตลอดจนองค์ความรู้ของปราชญ์ชาวบ้าน ที่รัฐบาลควรส่งส่งเสริม สนับสนุนทุนวิจัย  แล้วนำผลวิจัย และองค์ความรู้ของปราชญ์ชาวบ้านมาใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างจริงจัง

ขอยกตัวอย่าง มหาวิทยาลัยแม่โจ้ โดยท่านอธิการบดีได้มาชี้แจงคณะกรรมาธิการวิสามัญ ฯ ที่ผมเป็นประธานว่า มหาวิทยาลัยได้พัฒนาสารชีวภัณฑ์กำจัดวัชพืช ได้ผลเป็นอย่างดี ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนทดลองกำจัดเหง้าของวัชพืช

มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดย อ.ปัญญา เหล่าอนันต์ธนา อาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมศาสตร์ ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญเครื่องจักรกลการเกษตร เชี่ยวชาญ AI เคยควบคม ดูแล นศ.เข้าประกวด AI ชนะเลิศระดับโลก ถึง 3 ปีซ้อน สามารถผลิตเครื่องจักรกลการเกษตรกำจัดวัชพืชได้ตามพันธุ์พืชที่ปลูก เช่น อ้อย ยางพารา และสภาพภูมิประเทศ ที่เป็นที่สูง ที่ต่ำ รวมทั้งสามารถสร้างเครื่องจักรกลการเกษตรที่ใช้ระบบ AI ใช้กับพันธุ์พืชได้อีกหลายชนิด

กล่าวโดยสรุป หลังวิกฤตไวรัสโควืด – 19 ประเทศไทยควรแปรวิกฤตให้เป็นโอกาส ด้วยการตั้งเป้าให้ประเทศของเราเป็นศูนย์อาหารปลอดภัยป้อนคนไทยและชาวโลก

หวังเป็นอย่างยิ่งว่า รัฐบาลจะฟังเสียงสภาผู้แทนราษฏรที่มีมติเป็นเอกฉันท์ให้ความสำคัญกับสุขภาพอนามัยประชาชนด้วยการเสนอให้แบน 3 สารเคมีการเกษตร ที่มีความเสี่ยงสูง คือ พาราควอต คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเซต โดยตั้งเป้าหมายที่จะให้ประเทศไทยเป็นศูนย์อาหารปลอดภัยป้อนคนไทยและชาวโลก เตรียมการรองรับเป้าหมายขององค์การสหประชาชาติ หรือ UN ที่ตั้งเป้าหมายในปี 2573

หรืออีก 10 ปีข้างหน้า เป็นปีเกษตรยั่งยืน ซึ่งเกษตรยั่งยืนเป็น 1 ใน 17 เป้าหมาย ที่ประเทศไทยต้องมีส่วนร่วมไปสู่เป้าหมายนั้น