นายรังสิมันต์ โรม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล กล่าวถึงสถานการณ์การเเพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา2019 ที่มาตรการการจัดการของรัฐบาลนั้น ยังคงไม่ครอบคลุมอย่างทั่วถึงในส่วนของประเด็นปัญหาผู้ใช้เเรงงานในต่างประเทศ ว่า ตนได้รับทราบว่ามีพี่น้องผู้ใช้แรงงานชาวไทยเป็นจำนวนมากยังคงติดค้างอยู่ในหลายประเทศ โดยภายหลังจากที่รัฐบาลได้มีมาตรการ Fit-to-fly เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ซึ่งอาจมีความจำเป็นในการควบคุมการแพร่ระบาดของโรค แต่มาตรการดังกล่าวก็ส่งผลกระทบให้พี่น้องผู้ใช้แรงงานยังไม่สามารถเดินทางกลับมาแผ่นดินเกิดได้ ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาผมได้เฝ้ามองการทำงานของรัฐบาล และได้ให้เวลารัฐบาลในการจัดการแก้ไขปัญหาดังกล่าวมาพอสมควรแล้ว ก็ปรากฏว่าปัญหาดังกล่าวยังไม่มีความคืบหน้าเท่าที่ควร
โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มพี่น้องผู้ใช้เเรงงานที่ไปทำงานที่ประเทศมาเลเซีย ซึ่งประเทศมาเลเซียได้ปิดประเทศตั้งแต่วันที่ 18 มีนาคม 2563 นับเป็นเวลารวมกว่า 45 วันแล้ว และมีมาตรการภายในประเทศให้ประชาชนอยู่แต่ในบ้าน มีการปิดตลาด ปิดห้างสรรพสินค้า ปิดร้านอาหาร การเดินทางออกจากเคหสถานมีการควบคุม จับกุมอย่างเข้มงวด โดยสามารถออกจากบ้านได้เพียงครอบครัวละ 1 คน ในรัศมีไม่เกิน 10 กิโลเมตร
ซึ่งภาวะดังกล่าวเช่นนี้ ทำให้พี่น้องผู้ใช้แรงงานชาวไทยที่เดินทางไปทำงานที่ประเทศมาเลเซียต้องตกอยู่ในสภาวะที่ยากลำบากเป็นอย่างมาก เนื่องจากสถานที่ทำงานถูกปิด และไม่สามารถออกไปหาซื้ออาหารได้เพียงพอต่อการบริโภค บางคนต้องแบ่งบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป 1 ห่อใช้ทาน 2 มื้อเพื่อประทังชีวิต บางคนมีลูกทารกก็ไม่มีนมผงให้ลูกกิน บางคนมีโรคประจำตัว ต้องไปรับยามารักษา ก็ไม่สามารถเดินทางไปรับยาได้ ต้องแบ่งยากินมื้อละ 1/4 เม็ด เท่าที่ตนได้ทราบ ยังมีจำนวนคนไทยตกค้างอยู่ที่มาเลเซียราว 80,000 คน ตอนนี้ส่วนใหญ่ต้องการเดินทางกลับมาประเทศไทย ใครต้องการกลับมาต้องลงทะเบียนออนไลน์กับสถานทูต ซึ่งก็พบว่ามีปัญหาการลงทะเบียนไม่สำเร็จทำให้ไม่สามารถเดินทางกลับมาได้ นอกจากนี้มาตรการคัดกรองข้ามแดนนั้นจำกัดจำนวนให้คนไทยกลับจากประเทศมาเลเซียเพียง 350 คนต่อวัน แต่ในทางปฏิบัติพบว่ามีผู้ที่ต้องการข้ามแดนมากถึง 1,000 คนต่อวัน
สำหรับยอดติดเชื้อสะสมใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ มี 326 คน รักษาหายแล้ว 176 คน และมีจำนวนผู้เสียชีวิต 4 คน นั่นหมายความว่าสถานการณ์การติดเชื้อในจังหวัดชายแดนภาคใต้นั้นส่วนใหญ่มีโอกาสกลับเป็นปรกติ และได้มีมาตรการป้องกันควบคุมโรคในประเทศที่มีประสิทธิภาพอยู่แล้ว ดังนั้นการผ่อนปรนมาตรการให้คนไทยเดินทางกลับมาจากประเทศมาเลเซียเพิ่มมากขึ้นจึงน่าจะเป็นสิ่งที่เป็นไปได้
.
เป็นเรื่องน่าเศร้าที่ผมได้เห็นการนำเสนอข่าวคนไทยในต่างประเทศแอบกลับเข้าประเทศอย่างผิดกฎหมายตามช่องทางธรรมชาติ ทั้งที่อันที่จริงแล้วการมีมาตรการที่เป็นอุปสรรคไม่ให้คนไทยกลับประเทศได้ นี่ต่างหากที่เป็นเรื่องที่ผิดกฎหมายและขัดต่อรัฐธรรมนูญ ผมเห็นว่ามาตรการ Fit-to-fly เป็นมาตรการที่สุ่มเสี่ยงต่อการขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 39 วรรคหนึ่ง ซึ่งบัญญัติว่า “การเนรเทศบุคคลสัญชาติไทยออกนอกราชอาณาจักร หรือการห้ามมิให้ผู้มีสัญชาติไทยเข้ามาในราชอาณาจักร จะกระทำมิได้” นายรังสิมันต์ โรม กล่าว
.
โดย นายรังสิมันต์ โรม ได้เสนอให้รัฐบาลเร่งดำเนินการ ดังนี้ 1.เสนอให้รัฐบาลผ่อนปรนมาตรการในการคัดกรองแรงงานไทย และเพิ่มจำนวนการคัดกรองต่อวัน
- ให้รัฐบาลเตรียมสถานที่กักกัน และเพิ่มศักยภาพสถานที่กักกันเพื่อรองรับคนไทยที่กลับจากมาเลเซียให้มีศักยภาพมากขึ้น
- ให้รัฐบาลไทยเเละกระทรวงการต่างประเทศประสานไปยังรัฐบาลมาเลเซียเพื่อดูแลประชาชนในเรื่องการเข้าถึงอาหารและยารักษาโรคในระหว่างรอกลับประเทศไทย และให้กระทรวงการต่างประเทศประสานไปยังรัฐบาลมาเลเซียเพื่อเตรียมยานพาหนะไปรับคนไทยที่ยังตกค้างอยู่ที่มาเลเซีย
- ให้รัฐบาลทบทวนการดำเนินมาตรการ Fit-to-fly ให้พิจารณาเพิ่มมาตรการตรวจคัดกรองก่อนเข้าสู่ประเทศไทยให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นแทน
ทั้งนี้ นายรังสิมันต์ โรม กล่าวทิ้งท้ายว่า ผมทราบดีว่าเราต้องพยายามควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อ COVID-19 ภายในประเทศ แต่แน่นอนว่ามาตรการต่างๆ ที่รัฐบาลดำเนินการนั้นควรเป็นมาตรการที่ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ถ้าเรารู้อยู่แล้วว่าเรากำลังปล่อยให้คนไทยจำนวนหลายหมื่นคนเผชิญชะตากรรมอันยากลำบากด้วยตนเองที่ต่างประเทศ เราต้องไม่นิ่งเฉยครับ เพราะการนิ่งเฉยเท่ากับการทิ้งพวกเขาไว้โดยไม่ใยดี