สถานการณ์ไวรัสโควิด-19 ระบาด ทุกสาขาอาชีพล้วนปรับตัวและหาทางช่วยเหลือเกื้อกูลกัน หนึ่งในนั่นคือแพลตฟอร์มของเหล่าปัญญาชนในมหาวิทยาลัย ทั้งศิษย์เก่าศิษย์ปัจจุบันต่างรังสรรค์ตลาดออนไลน์ ชื่อแซ่ที่แต่ละ ม.(มหา’ลัย) ตั้งขึ้นมา ล้วนหลากความหมายตามแต่อัตลักษณ์ของแหล่งเรียนมา
กรุ๊ป “มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการฝากร้าน” ก็เช่นกัน …
แต่สินค้าที่โดดเด่นสะดุดตา เชื่อมโยงกับชื่อมหาวิทยาลัยแห่งนี้ที่สุด คงหนีไม่พ้น “สิ่งของที่เกี่ยวเนื่องด้วยผู้ประศาสน์การ ม.ธรรมศาสตร์” นาม “ปรีดี พนมยงค์”
วันที่ 18 เมษายน 2563 กรุ๊ปธรรมศาสตร์และการฝากร้าน เกิดความฮือฮาเมื่อ นักศึกษานิติศาสตร์ รหัส 51 นำนามบัตรนายปรีดี พนมยงค์ พร้อมข้อความและลายเซ็นแท้ๆ มาประมูล…. ปิดด้วยราคา 77,777 บาท โดยนักศึกษา รหัส43 ผู้หนึ่ง
ทีมงาน The Sender ไปสืบเสาะผู้ชนะประมูล จนทราบนามผู้นี้ว่า
“ร.อ.ณัฐพล โยธินพนาเวศ” เป็นนักศึกษาคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รหัส 43
หลังจบ ป.ตรี ก็ไปศึกษาต่อ ป.โท ที่ London School of Economics ตอนนี้ทำธุรกิจส่วนตัว ส่วนกิจการรุ่งแค่ไหน? “ดูที่ความเปย์” เจ้าตัวบอก… แค่เริ่มก็ “เผ็ด” แล้ว
-รับรู้ “อาจารย์ปรีดี” ในฐานะอะไร?
รับรู้ อาจารย์ปรีดีในฐานะผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้สำเร็จราชการของประเทศไทย และผู้นำคณะราษฎรสายพลเรือน
-แปลว่าติดตามการเมืองมาไม่น้อย?
ติดตามในระดับหนึ่ง โดยเฉพาะส่วนที่เกี่ยวข้องกับปากท้องประชาชน และผลประโยชน์ประเทศชาติ
-ถ้าอธิบายความขัดแย้งทางการเมืองไทยตอนนี้ จะเปรียบกับอะไร
“การเมืองไทยตอนนี้ยังพายเรือในอ่างที่หนีไม่พ้นอยู่ 2-3 เรื่อง” ณัฐพลกล่าว พร้อมยกตัวอย่างว่า
1. การขุดเอาคุณทักษิณที่ออกนอกประเทศไปแล้วสิบกว่าปี มาโจมตีเสมอๆเมื่อเกิดเรื่องร้ายๆ เกิด เหลือง-แดง
2. การที่ทหารไม่รู้ขอบเขตบทบาทและอำนาจของตัวเอง คือก้าวก่ายการบริหารประเทศ แล้วก็ยึดอำนาจ เกิดประชาธิปไตย-เผด็จการ
3. การที่องค์กรอิสระต่างๆ ถูกแทรกแซง ทำให้คนเริ่มมองว่า “เป้าหมาย กำหนดความชอบธรรมของวิธีการ” คือ วิธีไหนที่ทำให้เป้าหมายบรรลุได้ ถูกต้องหมด
“สรุปความขัดแย้งการเมืองไทยตอนนี้ ไม่รู้จะเปรียบกับอะไรให้ครอบคลุมในอุปมาเดียว เพราะมันมีหลายประเด็นเหลือเกิน”
-ทำไมถึงตัดสินใจประมูลด้วยราคานี้ (แพงมาก)
ตัดสินใจประมูลนามบัตรด้วยเหตุผลว่า อยากให้เกิดความคึกคักกับการประมูล แล้วเกิดการbidราคาสูงขึ้นไปเรื่อยๆแต่กลายเป็นว่านั่นเป็นราคาที่สูงสุดแล้วไม่มีใครbidต่ออีกเลย (อดสนุก) แต่ส่วนตัวก็คิดว่า การมีของที่ยึดโยงกับประวัติศาสตร์ของมหาวิทยาลัยที่เราเรียน กับบุคคลสำคัญเช่น ท่านอาจารย์ปรีดี ก็เป็นของที่เหมาะแก่การสะสม
-จะเอาไปทำอะไร?
“คงเก็บไว้เฉยๆมั้งครับ ไม่ได้ไปยกให้องค์กรไหน” นี่คือคำตอบจากณัฐพล ก่อนที่เขาจะรวบตึงบทสรุปของการสัมภาษณ์ครั้งนี้ได้กินใจสมกับเป็นนักศึกษาธรรมศาสตร์ว่า
“นามบัตรนี้ จะทำให้ชื่อ ‘ปรีดี พนมยงค์’ ถูกกล่าวดังขึ้นในสังคมไทยอีกครั้ง และไม่ว่าประวัติศาสตร์จะเขียนถึงท่านอย่างไร ผลงานต่าง ๆ จะเป็นเครื่องพิสูจน์ความจริงต่าง ๆ แทนได้อย่างดี ส่วนคุณค่าในทางการเมือง ผมหวังว่าคุณธรรมที่ท่านอาจารย์ปรีดีทำไว้ จะได้เป็นแบบอย่างให้กับนักการเมืองปัจจุบันได้เอาไปปฏิบัติ”
(ที่จริงผู้เขียนอยากถามอีกคำถามว่า ถ้ามีหมุดฯมาประมูล จะสนไหม? แต่ก็เกรงใจ ฮาาา)
สำหรับนามบัตรชิ้นนี้ ได้รับการยืนยันจากเพจ “120 ปีชาตกาล ปรีดี พนมยงค์” ว่าเป็นของแท้!

โดยมีผู้กรุณาให้ข้อมูลมาว่า น้อย+แดง ในเนื้อความนี้ หมายถึง นายวิชิตวงศ์ ณ ป้อมเพชร และภรรยา โดยที่นายวิชิตวงศ์เป็นบุตรชายของหลวงวิชิตอัคนีนิภา (ขาว) พี่ชายคนโตของท่านผู้หญิงพูนศุข ภรรยานายปรีดี
ส่วนลายเซ็น นายปรีดีนั้น เป็นลายเซ็นของนายปรีดีจริง หากแต่ลายมือที่เขียนข้อความทั้งสองบรรทัด เป็นลายมือของ “วาณี พนมยงค์” บุตรีคนสุดท้องที่ทำหน้าที่เป็นเลขาฯ ส่วนตัวให้บิดา

….หลายคนอาจกำลังคิดว่า ไม่นึกว่านามบัตร “นายปรีดี” หนึ่งในผู้นำคณะราษฎร ที่ถูกส่งต่อกันมา จะกลายเป็นของมีค่าในวันนี้
คงเช่นเดียวกับ “ประชาธิปไตยไทย” ที่ก่อกำเนิดมาแล้ว “หายาก” และนับวันยิ่ง “แพง” เสียเหลือเกิน
แค่ได้คิดถึง ก็เป็นสุขใจ