“พิธา” เตรียมนำสมัครสมาชิก “ก้าวไกล” ลั่นสานต่อภารกิจ “อนาคตใหม่” – ด้าน ส.ส. ทำงานต่อ แถลงอัดยับรัฐบาลแก้ปัญหาผิดพลาด-ขยายผลข้อมูลอภิปรายไม่ไว้วางใจสอย “ธรรมนัส”

0
1640

****”พิธา” นั่งประธาน -เตรียมนำ 55 ส.ส.สมัคร “ก้าวไกล” 

เมื่อวันที่ 8 มีนาคม ที่ศูนย์ประสานงาน ส.ส.ฝั่งธนบุรี ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กลุ่ม ส.ส.อดีตพรรคอนาคตใหม่ แถลงข่าวการเตรียมเดินทางไปสมัครสมาชิกพรรคใหม่ รวมถึงชี้แจงการทำงานติดตามสถานการณ์และแก้ปัญหาสำคัญ โดยนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์  ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ กล่าวว่า ตนในฐานะตัวแทน ส.ส. ขอประกาศอย่างเป็นทางการว่า เราจะย้ายไปพรรคใหม่ด้วยกัน นั่นคือ พรรคก้าวไกล ซึ่งตอนนี้อยู่ระหว่างการติดต่อประสานกัน คาดว่าจะไปสมัครเข้าพรรคได้ในช่วงสัปดาห์หน้า ทั้งนี้ ตนขอยืนยันอีกครั้งว่า ภารกิจของเรา ส.ส.ทั้ง 55 คน คือ สานต่ออุดมการณ์ สารต่อภารกิจพรรคอนาคตใหม่ เรายังยึดมั่นหลักการในอดีตที่เคยทำงานร่วมกันมา ดังนั้น ขอให้พี่น้องประชาชนมั่นใจ แม้จะอยู่บ้านหลังใหม่ แต่หัวจิตหัวใจยังเหมือนเดิม เรายังคงยืนอยู่ข้างประชาชน ยืนอยู่ข้างประชาธิไตย ยืนหยัดต่อต้านการสืบทอดอำนาจคณะรัฐประหาร และผลักดันนโยบายที่ก้าวหน้าต่อไป

นายพิธา กล่าวด้วยว่า ตอนนี้ที่ประชุม ส.ส. ได้มีมติเลือกตนเป็นประธาน ส.ส. ชั่วคราว และเลือกนายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ส.ส.บัญชีรายชื่อ เป็นโฆษกชั่วคราว ทั้งนี้ แม้จะอยู่ในกระบวนการย้ายพรรคใหม่ แต่ปัญหาของประชาชนรอไม่ได้ จำเป็นต้องทำงานต่อทันที จึงมีประเด็นที่เพื่อน ส.ส.จะต้องขับเคลื่อนระหว่างปิดสมัยประชุมสภา ผ่านคณะทำงานต่างๆ อาทิ ปัญหาไวรัสโควิด-19  ปัญหาเรื่องพิษเศรษฐกิจ กรณีแฟลชม็อบของนักเรียนนิสิตนักศึกษา ปัญหาภัยแล้งและกรณีที่สืบเนื่องจากการเสียชีวิตของคุณคณากร เพียรชนะ อดีตผู้พิพากษาหัวหน้าคณะชั้นต้นในศาลจังหวัดยะลานอกจากนี้ยังมี กรณีสืบเนื่องจากการอภิปรายไม่ไว้วางใจที่มีข้อมูลเตรียมดำเนินการต่อไป

***”หมอเก่ง” อัดมาตรการแก้ “โควิด 19” รัฐบาลล้มเหลว 

นพ.วาโย อัศวรุ่งเรือง ส.ส. บัญชีรายชื่อ กรณีภาวะวิกฤตไวรัสโควิด-19 ว่า มี 3 ประเด็นที่จะพูดถึง คือ 1.ความล่าช้าของมาตการภาครัฐ ซึ่งมักจะช้ากว่าสถานการณ์อย่างน้อย 1 ก้าวเสมอ เช่น กรณีผู้ใช้แรงงานที่เกาหลีใต้เดินทางกลับมาก็ขาดขาดมาตรการกักตัว หรือจำกัดบริเวณที่เป็นรูปธรรม ซึ่งล่าสุดก็เพิ่งมีประกาศออกมา กำหนดให้ผู้เดินทางกลับจากประเทศเสี่่ยง 4 ประเทศคือ จีน เกาหลีใต้ อิหร่าน และอิตาลี ที่รัฐต้องจัดการ แต่ทว่าก็ช้าไปแล้ว มีคนจากลุ่มประเทศเสี่ยงนี้เข้ามาก่อนแล้ว  เช่น ผู้ใช้แรงงานไทยที่กลับมาจากเกาหลีใต้ กว่า 200 คน เป็นต้น จะเห็นว่า นอกจากการนี้ปัญหาไวรัสโควิด -19 ไม่ใช่เป็นหน้าที่ของกระทรวงสาธารณสุขฝ่ายเดียว ต้องมีการบูรณาการร่วมกระทรวงอื่นด้วย ไม่ว่าจะเป็น กระทรวงคมนาคม กระทรวงการต่างประเทศ และกระทรวงพาณิชย์ เป็นต้น

     “เรื่องที่ 2 การกักตัว ซึ่งขณะนี้ประเทศไทยไม่มีการปิดกั้นเที่ยวบินที่มีความเสี่ยงเลย รัฐบาลให้น้ำหนักแต่เรื่องเศรษฐกิจ เรื่องความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ซึ่งเรื่องสาธารณสุขและความมั่นคงสุขภาพอนามัยประชาชน ต้องให้น้ำหนักมากขึ้น ซึ่งข้อเสนอ คือควรเริ่มมีกระบวนการจัดโควต้าวีซ่าให้เที่ยวบินบางประเทศ และหากกลัวกระทบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ หรือกระทบเศรษฐกิจ ภาคธุรกิจ ก็ควรใช้มาตรการกักตัวอย่างเท่าเทียมกัน ไม่ใช่ใช้แต่กับคนไทย และเรื่องที่ 3 การใช้หน้ากากอนามัยและกระจายหน้ากากอนามัยต้องเท่าเทียม ทั่วถึง และเพียงพอ และต้องไม่ปล่อยให้มีการหากำไรจากการขายหน้ากาก” นพ.วาโย กล่าว 

***”หมอเอก” ชี้ต้องยึดหลักการแก้ระบาด- ไม่ใช่ตามอำเภอใจ

ด้าน นพ.เอกภพ เพียรพิเศษ ส.ส.เขต 1 จ.เชียงราย กล่าวว่า เรื่องการจัดการโรคระบาดไวรัส โควิด-19 สิ่งที่ต้องเน้นคือ 1.เรื่องพื้นฐานที่สำคัญ ควรดำเนินการอยู่บนข้อมูลและหลักวิชาการ ไม่ใช่ทำตามอำเภอใจ  2.ข้อมูลการระบาดเป็นเรื่องสำคัญต้องเปิดเผย และต้องเป็นข้อมูลที่ตรง ข้อมูลที่จริง เพื่อที่จะสามารถควบคุมโรคได้ โดยเฉพาะการกระจายข้อมูลนี้ไปสู่บุคลากรทางการแพทย์ทั่วประเทศ 3.อุปกรณ์หน้ากากอนามัยที่ยังขาดแคลน เป็นสิ่งที่รัฐบาลต้องจัดการอย่างเร่งด่วน  4.การดำเนินการป้องกันโรคในพื้นที่ ซึ่งมีแรงงานจากต่างประเทศที่เดินทางกลับมา แต่เราไม่มีการดำเนินการควบคุมโรคอย่างเป็นระบบบางคนกักตัวอยู่ในบ้าน บางคนก็อยู่ในชุมชนก็มีความหวาดระแวงกันรัฐบาลควรเข้าไปดูว่าคนที่กักตัวอยู่อยู่อย่างไร ลำบากอย่างไร ต้องสนับสนุนข้อมูลให้ชุมชนได้รู้ข้อเท็จจริงร่วมกันด้วย  

“และประกาสุดท้าย 5. เรื่องของการฟื้นฟู วันนี้ เรายังไม่มีคำยืนยันชี้แจงจากรัฐบาลว่าถ้าเป็นแบบนี้ คาดการณ์ว่าสถานการณ์จะสิ้นสุดเมื่อไหร่ และกระบวนการทำให้สิ้นสุดได้เร็วนั้นทำอย่างไร รวมถึงความสูญเสีย เศรษฐกิจสังคมที่เกิดขึ้น จะฟื้นฟูทำอย่างไร ผมคิดว่าการรับมืออย่างรวดเร็ว มาตการชัดเจนบนหลักการเป็นสิ่งสำคัญ” นพ.เอกภพกล่าว 

***”สุเทพ” จี้ รบ. จริงใจช่วยเหลือแรงงาน-ดัน พ.ร.บ.คุ้มครอง

นายสุเทพ อู่อ้น  ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ ตัวแทนแรงงาน กล่าวว่า รัฐบาลควรมีมาตรการแก้ไขเรื่องปัญหาไวรัสโควิด-19 ที่กระทบกับแรงงาน ทั้งระยะสั้น กลาง และยาว คือ 1.ระยะสั้น งานบริการที่ไม่ได้รับอุปกรณ์ป้องกัน ไม่ว่าจะเป็นหมอพยาบาล หรือคนที่อยู่ในสถาประกอบการต้องได้รับการดูแลเพียงพอ ต้องมีอุปกรณ์ป้องกัน  2.ปัญหาการหยุดกิจการซึ่งขณะนี้ยังไม่มีความชัดเจน บางแห่งปิดแล้วไม่จ่ายค่าตอบแทน ต้องเข้าไปดูแล  3. มองว่าเป็นเรื่องในระยะกลาง ค่าอุปกรณ์ป้องกันตัวเองของประชาชนต้องได้รับการดูแล ต้องไม่โยนภาระเหล่านนี้ให้ประชาชน เพราะหากคิดจากค่าจ้างขั้นต่ำ  331 บาทต่อวัน ค่าอุปกรณ์นี้ก็จะเป็น 10 เปอร์เซ็นต์ต่อค่าครองชีพ

“และ 4. ระยะยาว เรื่องกองทุนเงินทดแทน สถานประกอบการกรณีเกิดอุบัติเหตุ เจ็บป่วยจากงาน ต้องมีความชัดเจนสิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องที่ต้องร่วมกันผลักดัน รวมถึงการดำเนินการกรณีเงินสมทบเงินประกันสังคม รัฐต้องจริงจัง และร่วมสมทบให้ครบจำนวน หรือแม้แต่กรณีการดูแลแรงงานที่กลับมาจากต่างประเทศ ต้องดูแลจัดการมาตรฐานควรระดับเดียวกัน และสุดท้าย เรื่องกฎหมาย พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน ภาครัฐ หน่วยงานต่างๆ ต้องผลักดันให้เกิดขึ้น กฎหมายแรงงานสัมพันธ์ การส่งเสริมให้มีสหภาพแรงงานในภาครัฐ หรือ GSP ซึ่งเราจะดำเนินการขับเคลื่อนเรื่องพวกนี้” นายสุเทพ กล่าว

***”ศิริกัญญา” ชี้มาตรการกระตุ้น ศก.ต้องสร้างความเชื่อมั่น ปชช.

ขณะที่ น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล กล่าวว่า เรื่องเศรษฐกิจเป็นที่ชัดเจนว่าประเทศไทยเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย การที่จีดีพีหดตัว ธนาคารแห่งประเทศไทย นักวิเคราะห์พูดเป็นเสียงเดียวกันว่า 2 ไตรมาส ติดลบแน่นอนแล้ว ซึ่งเข้าใจได้เพราะเราเจอภาวะไม่คาดคิดอย่างไวรัสโควิด-19 แต่ปัญหาคือ มาตรการที่จะออกมารองรับนั้น ฟื้นฟูความเชื่อมั่นประชาชนได้หรือไม่ ซึ่งการแจกเงินให้คนมีรายได้น้อย เกษตรกร อาชีพอิสระนั้นได้รับคำวิจารณ์อย่างมาก การกู้วิกฤตคือการกู้ความการเชื่อมั่น แต่ถ้าออกมาตรการที่ประชาชนไม่เชื่อมั่นออกมาอย่างนี้ รัฐบาลต้องกลับไปทบทวน และนอกจากนี้ ในการแถลงของ ครม.เศรษฐกิจ ยังมีอีกกว่า 10 มาตรการ ใช้เงินรวมกันกว่า 1 แสนล้าน ซึ่งสิ่งที่ต้องติตามคือ ถามว่าเอาเงินเอามาจากไหน เพราะเงินสำรองฉุกเฉินเหลือไม่ถึง 1 แสนล้านแล้ว

“มีการเสนอวิธีการให้ประกันสังคมเอาเงินมาปล่อยกู้ ซึ่งเราไม่เห็นด้วย เพราะเป็นเงินของผู้ประกันตน รวมถึงประกันสังคมไม่มีความเชื่ยวชาญจัดการเรื่องนี้  หรือการจะให้ธนาคารออมสินปล่อยกู้ดอกเบี้ยต่ำให้กับธนาคารพาณิชย์ไปปล่อยกู้ต่อ เราคิดว่าควรต้องแยกให้มีความอิสระในการบริหาร จริงอยู่แม้เป็นหน่วยงานรัฐ แต่การแทรกแซงรัฐวิสาหกิจแบบนี้แสดงว่ารัฐถังแตก ไม่มีเงินเพียงพอกระตุ้นเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตามก็มีมาตรการที่เห็นด้วย เช่น การตั้งกองทุนเยียวยาผู้ประกอบการ ไม่ให้มีการเลิกจ้าง เพราะวันนี้ การท่องเที่ยวหาย 50-60  % กระทบผู้ประกอบการ 11 ล้านคน  แต่กระสุนที่มีน้อย ต้องพุ่งไปที่ผู้ประกอบการในส่วนที่่ได้รับผลกระทบ เช่น สาธารณสุข ท่องเที่ยว และโรงงานที่เป็นซับพลายเชยกับจีน ต้องให้ความสนใจเป็นอันดับต้นๆ ไม่ใช่ยิงกราด” น.ส.ศิริกัญญา กล่าว 

***”โรม” ลั่นการเสียชีวิตของ “ผู้พิพากษา” ต้องไม่สูญเปล่า 

ด้าน นายรังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ กล่าวถึง กรณีการเสียชีวิตของนายคณากร เพียรชนะ อดีตผู้พิพากษาหัวหน้าคณะชั้นต้นในศาลจังหวัดยะลา ว่า ขอแสดงความเสียใจต่อครอบครัวท่านผู้พิพากษา ซึ่งประเด็นปัญหาที่เกิดขึ้นนั้นตกลงแล้ว มีกระบวนการแทรกแซงการทำคำพิพากษาของผู้พิพากษาหรือไม่ ซึ่งท่านได้แถลงออกมาว่าให้แก้พระธรรมนูญศาลยุติธรรม เพื่อห้ามตรวจร่างคำพิพากษาก่อนอ่านให้คู่ความฟัง  เพราะจะเป็นการทำหลายหลักศาลยุติธรรม ซึ่งในหลักรัฐธรรมนูญ ในสากล นี่คือหลักความเป็นอิสระผู้พิพากษา ซึ่งสำคัญมาก เป็นหลักประกันต่อการทำคำพิพากษาให้มีความยุติธรรม ถ้าหากถูกแทรกแซง หากถูกทำลาย คงเป็นยากที่การทำคำพิพากษา กระบวนการยุติธรรม จะมีความยุติธรรมได้

“เมื่อคุณคณากรได้ตัดสินใจอย่างนี้ ก็นำสู่การตั้งคำถามของสังคม สื่อมวลชน และเราในฐาน ส.ส. ว่าจะทำอย่างไรให้กระบวนการยุติธรรมเราถูกเชื่อมั่นต่อไป เพราะตั้งแต่  4 ต.ค. 2562 ที่ท่านพยายามทำอัตวิบากรรมครั้งแรก จนถึงวันนี้เราไม่เคยเห็นหรือได้ยินเรื่องการปรับปรุงการแทรกแซง หรือว่าที่เกิดขึ้นนั้นมีจริงหรือไม่ มีการแก้ไขหรือไม่ เพราะการที่ผู้พิพากษากระทำแบบนี้ สำหรับตนเป็นเรื่องใหญ่ เราตั้งใจว่า สิ่งที่ท่านเสียสละจะไม่สูญเปล่า ท่านอาจไม่ได้เห็นการปฏิรูปศาล ไม่ได้เห็นการป้องกันการแทรกแซงด ไม่ได้เห็นหลักประกันความอิสระว่าจะถูกสถาปนาให้มีความเข้มแข็งอย่างไร แต่เรายืนยันว่า เราจะทำให้คำพิพากษาเป็นของผู้พิพากษา เพื่อทำให้ความยุติธรรมเป็นของประชาชน” นายรังสิมันต์ กล่าว

***”ณัฐชา – วิโรจน์” เผยเตรียมขยายผล “อภิปรายไม่ไว้วางใจ” 

ด้าน นายณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ ส.ส.กรุงเทพมหานคร กล่าวถึง กรณีผลลงมติในการอภิปรายไม่ไว้วางใจ โดยนายธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรฯ ได้คะแนนไว้วางใจน้อยที่สุด ทั้งนี้ ตนเองและนายธีรัจชัยพันธุมาส ส.ส.ที่เป็นผู้อภิปรายนั้น มีข้อมูลที่จะมีผลสืบเนื่องทางกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นการที่นายธรรมนัสเคยต้องโทษจำคุกมาก่อน และการที่ภรรยาถือครองหุ้นบริษัทที่เป็นคู่สัญญากับรัฐวิสาหกิจ ซึ่งมีความผิดชัดเจน ต้องหลุดจากการเป็น ส.ส. ทั้งนี้เราจะนำเรื่องส่งให้ประธานสภาผู้แทนราษฎร เพื่อส่งต่อศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัย ต่อไป 

ขณะที่ นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ส.ส.บัญชีรายชื่อ กล่าวว่า กรณีเรื่องของไอโอ หรือปฏิบัติการข่าวสารของกองทัพตอนนี้สังคมตระหนักมากขึ้น มีการเตือนสติร่วมกัน ทำให้ความเกลียดชังต่อกันในหมู่ประชาชนลดลง นอกจากนี้ ยังมีการขับเคลื่อนร่วมกันในภาคประชาชน ในพื้นที่โลกไซเบอร์ซึ่งมีผู้ที่มีความเชี่ยวชาญ แกะรอยดิจิตอลฟุตปริ้นส่งให้มาให้อีกเป็นจำนวนมาก แต่อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เราต้องตามคำตอบ เพราะถ้าอ้างอิงจากคู่มือปฏิบัติการสนาม เรื่องการปฏิบัติที่มุ่งเป้าประชาชนนั้นเป็นข้อห้าม และ ผบ.ทบ.เองเคยบอกไว้ว่า จะไม่มีปฏิบัติการจิตวิทยา ข่าวสารกับประชาชน ไม่มองประชาชนคู่ขัดแย้ง ดังนั้น คำสั่งใดๆ ไม่ว่าลับหรือไม่ลับ ที่พุ่งเป้าประชาชนนั้นขัดคำสั่ง ผบ.ทบ และผิดคู่มือปฏิบัติการสนามแน่นอน  รัฐต้องตอบว่ามีการใช้ภาษีประชาชน คุกคาม แบ่งแยก สร้างความเกลียดชังทำลายการรู้รักสามัคคีประชาชน โดยใช้ เจ้าหน้าที่รัฐ น้ำ ไฟ หรือไม่ ทั้งนี้ ได้ยินว่าอาจมีการผ่องถ่ายภารกิจนี้ให้บริษัทเอกชนบ บางรายดำเนินการต่อ ซึ่งเป็นเรื่องน่าตกใจมาก และก็น่าติดตาม ส่วนกรณีเว็บไซต์พูโลนี ได้ประสานงานกับนักสิทธิมนุษยชน จะมีการดำเนินการทางกฎหมายเรื่องนี้ต่อไป