“ทิม พิธา” เสนอญัตติตั้ง กมธ.ศึกษาป่าทับที่ประชาชน – ร่ายยาวการจัดการ “อดีต – ปัจจุบัน – อนาคต” อัดนโยบาย “ทวงคืนผืนป่า” คสช. ยิ่งสร้างความเหลื่อมล้ำ ลั่น “ทรัพยากรธรรมชาติ-สิทธิมนุษยชน” ต้องคู่กัน แนะรัฐลดการถือครองที่ดินเขตป่า-ให้สิทธิชุมชนจัดการ

0
1979

***”ทิม พิธา” เสนอตั้ง กมธ.ศึกษาแก้ปัญหาที่ดิน

เมื่อวันที่ 31 มกราคม ที่รัฐสภา (เกียกกาย) นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคอนาคตใหม่ อภิปรายในฐานะผู้เสนอญัตติ ขอให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญเพื่อพิจาณณาปัญหาที่ดินทำกินของราษฎรทับซ้อนในเขตที่ดินของรัฐ และการแก้ปัญหาที่ดินทั่วประเทศ โดยระบุว่า ปัญหาความขัดแย้งของชุมชนในเขตป่า เป็นข้อพิพาทมาอย่างยาวนานระหว่างประชาชนกับหน่วยงานของรัฐ หรืออาจเรียกว่ากฎหมายป่าทับคน ส่งผลกระทบให้กับชุมชนจำนวนมาก ประชาชนกลายเป็นผู้อาศัยอย่างผิดกฎหมาย และปัญหาเกิดความขัดแย้งที่ดิน ป่าไม้รุนแรง ชุมชนเหล่านี้ถูกกล่าวโทษหรือถูกตีตรา ว่าเป็นผู้บุกรุกทำลายป่า เข้าไม่ถึงสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน เช่น ถนน ไฟฟ้า น้ำประปา และระบบชลประทาน

 “การดำเนินงานของภาครัฐในรัฐบาลที่ผ่านมา ต้องการเพิ่มสัดส่วนพื้นที่ป่าไม้ของประเทศไทย จากที่ลดลงเหลือร้อยละ 31 ในปัจจุบัน รัฐบาลจึงกำหนดแผนแม่บทการพิทักษ์ทรัพยากรป่าไม้ เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 40 ภายในระยะเวลา 10 ปี ซึ่งเกิดผลกระทบและมีการร้องเรียนจากพี่น้องประชาชนจำนวนมากเกี่ยวกับที่ดินทำกิน ข้อเท็จจริงปรากฏว่า มาตราฐานการดำเนินคดี การบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับที่ดินที่ทับซ้อนกับแนวเขตที่ดินของรัฐ ซึ่งเป็นที่กังขาต่อความรู้สึกของพี่น้องประชาชน เนื่องจากมีการดำเนินคดีชาวบ้านจำนวนมาก กว่า 80,000 คดี กรณีดังกล่าว เป็นเรื่องที่กระทบเสรีภาพของประชาชนอย่างร้ายแรง ตนจึงขอเสนอญัตติด่วน เพื่อให้สภาผู้แทนราษฏรได้พิจารณาและมีมติตั้ง กมธ.วิสามัญ เพื่อศึกษาแนวทางบรรเทา ทุเลา และเยียวยา ปัญหาความขัดแย้งนี้ เพื่อที่จะส่งผลให้กับรัฐบาลในการดำเนินการต่อไป” นายพิธา กล่าว

***ชี้วิธีการจัดการป่า “รวมศูนย์อำนาจ” สู่ส่วนกลาง

นายพิธา กล่าวว่า หัวข้อที่ตนจะอภิปรายในวันนี้คือ จินตนาการใหม่กับที่ดินไทย เป็นการอภิปรายถึงอดีต ปัจจุบัน และในอนาคต ของการจัดการที่ดินในประเทศไทย เพราะจะคิดไปถึงอนาคตได้ จำเป็นต้องเข้าใจปัจจุบันเสียก่อน  จะเข้าใจปัจจุบันได้ เราก็ต้องมองย้อนหลังไปในอดีต ว่าที่ผ่านมา วิธีการจัดการปัญหาที่ดินของประเทศเราเป็นอย่างไร

นายพิธา กล่าวว่า ในอดีตที่ผ่านมา หากย้อนไป 124 ปี พ.ศ.2436 กรมป่าไม้ถูกจัดตั้งเป็นครั้งแรกโดยมาเจ้ากรม หรืออธิบดีเป็นคนประเทศอังกฤษ แนวทางจัดการป่าไม้ในประเทศไทยจึงมีกลิ่นอายหรือแนวคิดมาจากตะวันตก นอกจากนี้ ยังเชิญบุคลากรในแถบสแกนดิเนเวียมาศึกษาปัญหาที่ดินและป่าไม้ในช่วงเวลานั้นอีกด้วย ซึ่งสาระสำคัญจากคำแนะนำของชาวอังกฤษและชาวสแกนดิเนเวีย คือ การสร้างแผนจัดการป่า เพื่อที่จะรวมศูนย์อำนาจกลับมาจากเจ้าเมืองต่างๆในภาคเหนือ ซึ่งเนื้อหาใจความสำคัญของคำแนะนำคือ ให้รัฐบริหารป่าแนวอนุรักษ์ และแนวอรรถประโยชน์นิยม จากหน้าประวัติศาสตร์ของกรมป่าไม้เขียนไว้ดังันี้ ‘รัฐควรจัดการป่าไม้เสียเอง ไม่ควรปล่อยให้มือของเอกชนคนใดคนหนึ่ง ฉะนั้น ป่าไม้สักอันมีค่าของไทย ควรโอนมาดูแลควบคุมของรัฐบาลโดยสิทธิ์ขาด’ นี่คือความคิดในสมัยนั้น ว่ารัฐเป็นเจ้าของสัมปทานและควรได้ประโยชน์สูงสุดจาดป่าไม้ที่ประเทศไทยมี

***กม.ฉบับแรกเหยียดเชื้อชาติ-รัฐให้สัมปทานทำสภาพป่าหาย

นายพิธา กล่าวว่า พ.ศ.2484 พ.ร.บ.ป่าไม้ฉบับแรกได้กำเนิดขึ้น และนิยามป่าไม้ที่อยู่ใน พ.ร.บ.ฉบับนั้นเขียนเอาไว้ว่า ‘ที่ดินที่ยังไม่ได้มีบุคคลได้มาตามกฎหมายที่ดินถือว่าเป็นป่าไม้’ นั่นหมายความว่าที่ดินที่ยังไม่มีเอกสารสิทธิ์นับว่าเป็นป่าไม้หมดทั่วทั้งประเทศ ต่อมา พ.ศ.2502 รัฐบาลในสมัยนั้นได้รับความช่วยเหลือจากสหรัฐอเมริกา มาช่วยการจัดการอุทยานในประเทศไทย ซึ่งวิธีคิดวิธีบริหารอุทยานในสมัยนั้น มีหนังสือบันทึกไว้ว่า มีกลิ่นอายของความเป็นสงครามเย็น มีสไตล์ที่เหมือนทหาร และอาจจะมีความเหยียดเชื้อชาติอยู่ในนั้น ซึ่งนี่ก็เป็นแนวทางวิธีคิดของอเมริกาในยุคสมัยนั้น

 “ต่อมาปี พ.ศ.2507 พ.ร.บ.ป่าสงวน ได้กำเนิดขึ้น เปลี่ยนจากการให้สัมปทานกับต่างประเทศ มาให้สัมปทานในท้องถิ่นแทน รัฐไทยกลายเป็นผู้รับเหมาสัมปทานใหญ่ เริ่มมีการจัดโซนของป่าเสื่อมโทรมให้กลายเป็นป่าเศรษฐกิจ นั่นคือจุดเริ่มต้นของการปลูกยูคาลิปตัส สวนยางหรือต้นปาล์ม เพราะฉะนั้น ตั้งปี พ.ศ.2439-2507 ป่าไม้ในภาคเหนือ ผ่านการสัมปทานมาถึงสองครั้ง คือสัมปทานจากต่างประเทศและสัมปทานในท้องถิ่น สภาพป่าแทบจะไม่หลงเหลืออยู่ เกิดการใช้ป่าโดยไม่คำนึงถึงการอนุรักษ์ จนกระทั่ง พ.ศ.2532 เกิดเหตุดินถล่มที่ภาคใต้ น้ำท่วมในเขตที่ไม่เคยท่วมมาก่อน จากนั้นเกิดกระแสต่อต้านจากสังคมทำให้สัมปทานดังกล่าวจึงหยุดไป”

***ปี 40 ปชช.โต้กลับจัดการป่า – แต่ไม่ครอบคลุมสาระสำคัญ

 นายพิธา กล่าวว่า  ในปี 2540 ประชาชนโต้กลับ โดยการเสนอสิทธิชุมชนในการบริหารจัดการ ผ่าน พ.ร.บ.ป่าชุมชน แต่แล้วสาระสำคัญก็ถูกตัดออกไปจาก พ.ร.บ. และเมื่อกฎหมายออกมา สามารถบังคับใช้ได้แค่กับป่าสงวนที่เสื่อมโทรม แต่ป่าที่เหลืออีกทั้งประเทศ ไม่สามารถใช้สิทธิชุมชนในการบริหารจัดการได้ และต่อมาปี 2557 ประวัติศาสตร์ซ้ำรอยอีกครั้ง คำสั่งของ คสช. หรือแนวคิดที่เรียกว่า ทวงคืนผืนป่า เพื่อที่จะให้เป้าหมายในการที่มีป่าเพียง 31 เปอร์เซ็นต์ กลับมาเป็น 40 เปอร์เซ็นต์อีกครั้งหนึ่ง และทั้งหมดนี้คือแนวทางในอดีตของประเทศไทย ในการจัดการป่าไม้แบบตะวันตก แบบสแกนดิเนเวีย แบบอังกฤษ แบบอเมริกา จนกระทั่งเป็นปัญหาถึงทุกวันนี้

***อัดนโยบาย “ทวงคืนผืนป่า” ยิ่งสร้างความเหลื่อมล้ำ

นายพิธา กล่าวอีกว่า สถาการปัจจุบัน สถานการณ์ตอนนี้เต็มไปด้วยความเหลื่อมล้ำ และความอยุติธรรม จาก 320 ล้านไร่ในประเทศไทย เป็นของรัฐ 57 เปอร์ อีก 43 เปอร์เซ็นต์ เป็นของเอกชน ที่มีโฉนดเพียงไม่กี่เจ้า ถ้าเรานำที่ของรัฐที่กระจัดกระจายอยู่ตามกระทรวงต่างๆ ทั้งหมดมารวมกัน วันนี้ ไทยจะมีพื้นที่ 464 ล้านไร่ ถ้าเรานำภาคเอกชนที่รวยที่สุด 10 เปอร์เซ็นต์ มาเปรียบเทียบกับคนยากจนที่สุด 10 เปอร์เซ็นต์ ของประเทศไทย อัตราการครองกรรมสิทธิ์ต่างกัน 853 เท่า คนรวยที่สุด 10 เปอร์เซ็นต์ ถือครองที่ดินรวมกัน 95 ล้านไร่ คนยากจนที่สุดในประเทศ 10 เปอร์เซ็นต์ มีพื้นที่รวมกัน 68,000 ไร่ นี่คือความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้นในประเทศไทย

 “ความพยายามแยกคนออกจากป่า ยังมีผลพวงตามมาในรูปแบบของคดีความกว่า 80,000 คดี ผมสงสัยว่า อาจจะเป็นลำดับที่ 2 รองจากคดียาเสพติด ที่เป็oข้อพิพาทระหว่างรัฐกับประชาชน ทั้งนี้ สิทธิที่ดินทำกินไม่ควรที่จะเป็นอาชญากรรมในประเทศนี้ การสนธิกำลังเข้าไปปราบประชาชนเหมือนเป็นศัตรู ควรจะยุติได้แล้ว รวมไปจนถึงคดีความต่างๆ ควรจะยุติได้แล้ว ในขณะที่ประชาชนถูกทวงคืนผืนป่า แต่เอกชนหรือนายทุน กลับได้รับการอำนวยความสะดวก ไม่ว่าจะเป็นเหมืองหรือเขตเศรษฐกิจพิเศษ โดยเฉพาะเหมืองในเขตป่าสงวน ยังคงได้รับการอำนวยความสะดวกอยู่ เขตเศรษฐกิจชายแดน สามารถใช้ที่ดินได้ถึง 50 ปี ถ้าเป็นในเขต EEC สามารถใช้ที่ดินได้ถึง 99 ปี แต่หากเป็นพี่น้องประชาชนที่มาจากเขตอุทยาน ใช้ที่ดินได้เพียง 20 ปี ความเหลื่อมล้ำเหล่านี้ ความอยุติธรรมเหล่านี้ ควรจะยุติลงเสียได้แล้ว เพราะเป็นการสวนกระแสการพัฒนาของโลกอย่างสิ้นเชิง”

***ชี้แนวทางอนาคต “ทรัพยากรธรรมชาติ-สิทธิมนุษยชน” ต้องคู่กัน

นายพิธา กล่าวอีกว่า สำหรับในอนาคต ในโลกใบใหม่ ทรัพยากรธรรมชาติและสิทธิมนุษยชน ต้องเป็นของที่คู่กันแบบที่แยกออกจากกันไม่ได้ หมดยุคแล้วกับการละเมิดสิทธิมนุษยชน ในนามของคำว่าอนุรักษ์ โลกกำลังเปลี่ยนไป ประเทศไทยก็จะต้องการบริหารจัดการทรัพยากรด้วยเช่นเดียวกัน ในโลกแห่งอนาคต แนวคิดจะต้องเปลี่ยนจากคำว่า ป่าปลอดคน หรือจะเรียกให้ชัดกว่าเดิมคือ ป่าปลอดคนจน ให้เปลี่ยนเป็น ปลูกคนเพื่อให้ปลูกป่า ในการที่เราจะพูดถึงอนาคตหรือจินตนาการใหม่ๆ ในขณะที่ผ่านมารัฐไทยมัวแต่กำลังทวงคืนผืนป่าจากพี่น้องประชาชน แต่ไม่เคยมองดูตัวเองเลยว่า ที่ดินของรัฐมีมากมายขนาดไหน ไม่เคยหันกลับไปมองเลยว่า ที่ดินของนายทุนมีมากเท่าไร หรือที่ดินของทหารมีมากเท่าใด

“ทุกวันนี้รัฐไทยถือครองที่ดินถึง 57% ทำให้กลับมาคำถามที่ว่า ชาติคืออะไร? ชาติคือประชาชน หรือ ชาติคือรัฐ ในขณะที่เราเคยนับหน้าถือตาประเทศอเมริกา ตอนนี้ในประเทศอเมริการัฐถือครองที่ดินเพียง 35 % ของทั้งประเทศ ในส่วนที่ดินในแถบสแกนดิเนเวีย รัฐถือครองที่ดินเพียง 15 เปอร์เซ็นต์ และประเทศอังกฤษรัฐถือครองที่ดินเพียง 6 เปอร์เซ็นต์ ผมมีคำถามต่อไปยังเพื่อสมาชิกและรัฐบาลว่ารัฐไทยจะมีที่ดินเยอะแยะมากมายขนาดนี้โดยที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ไปเพื่ออะไร” นายพิธา กล่าว

***แนะรัฐลดการถือครองที่ดินเขตป่า-ให้สิทธิชุมชนจัดการ

นายพิธา กล่าวทิ้งท้ายว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีพื้นที่ป่า 31 % สัดส่วนการถือครองป่าของรัฐไทย เกือบจะ 100% แต่ในส่วนของประเทศที่พัฒนาแล้ว การถือครองที่ดินในเขตป่าอยู่ในมือของบุคคลทั่วไปและภาคเอกชน มากกว่า 97% ในประเทศสวีเดน และ มากกว่า 70% ในประเทศอเมริกา ซึ่งเป็นการแสดงให้เห็นว่า ประเทศจากโลกตะวันตกที่เคยมาสอนในการจัดการหรือวิธีการบริหารที่ดินให้กับประเทศไทย ทุกวันนี้เปลี่ยนแปลงการบริหารไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ความก้าวหน้าในการบริหารหรือสิทธิชุมชนของประเทศในโลกตะวันตกได้เปลี่ยนไปหมดแล้ว

“จินตนาการใหม่ของผมก็คือ การที่มองไปถึงปลายทางของอุโมงค์ว่า ในการที่เราจะปฏิรูปที่ดินในการที่เราจะคิดถึงความยุติธรรมในการกระจายที่ดิน เราต้องมีภาพที่บอกขึ้นมาว่า ภายใน 20 ปี หน้าตาควรจะเป็นอย่างไร สิ่งที่เราขาดหายในการบริหารได้อย่างมีประสิทธิภาพ ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของสังคม ทรัพยากร สิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ คือเราต้องเพิ่มความเป็นเอกชนและความเป็นชุมชนขึ้นมา ถ้ารัฐบาลไทยตรวจสอบแล้วเห็นว่าไม่มีความจำเป็นต้องใช้ที่ดินมากมายขนาดนี้อีกต่อไป ถ้าเราดึงที่ดินเหล่านี้กลับคืนมากว่า 27 ล้านไร่ ซึ่งครบตามที่รัฐบาลต้องการ แล้วเปลี่ยนเป็นป่าสหกรณ์หรือป่าชุมชนให้หมด ซึ่งจะเป็นการปลูกคน เพื่อที่จะให้คนไปปลูกป่า แล้วทรัพยากรสิ่งแวดล้อม สิทธิมนุษยชน ก็จะสามารถอยู่ร่วมกันได้” นายพิธา กล่าว