เมื่อวันที่ 19 มกราคม ที่ จ.เชียงใหม่ ฝ่ายการศึกษาและพัฒนาพรรคอนาคตใหม่ ได้จัดกิจกรรม ‘Awaken land stand for our future : สำรวจดินแดนอนาคต ปลดปล่อยตัวเองจากพันธนการแห่งอดีต’ งานนี้เป็นกิจกรรมภายใต้แนวคิด Brain & boots ที่รวมเยาวชนผู้ที่ไม่ยอมจำนวนจากทั่วประเทศกว่า 49 ชีวิต ณ ค่ายลูกเสือม่อนคำออน จ.เชียงใหม่ โดยภายในค่ายมีกิจกรรม Walking talk เส้นทางประวัติศาสตร์ของผู้ไม่ยอมจำนน กิจกรรม Critical Thinking workshop และกิจกรรมไฮไลท์อย่าง Awaken talk ที่จะพบกับ นายสมบัติ บุญงามอนงค์ (บก.ลายจุด) อ.ไชยันต์ รัชกูล อ.สมชาย ประชาศิลปกุล อ.อนุสรณ์ อุณโณ และอ.ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี ที่จะมาเป็นวิทยากรในฐาน Awaken talk นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมที่น่าสนใจอีกมากมายในการออกค่ายครั้งนี้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับการจัดค่ายเยาวชนผู้ไม่ยอมจำนนในครั้งนี้ ตั้งใจจัดขึ้นมาเพื่อเป็นพื้นที่ของการปลดปล่อยศักยภาพของคนรุ่นใหม่ ที่ไม่ยอมจำนนต่อความมืดบอดในสังคม คนที่ถูกกดทับจากมายาคติ ถูกกีดกันจากพื้นที่ทางการเมือง เมื่อการเมืองถูกทำให้เป็นเรื่องน่าเบื่อ เป็นเรื่องสกปรกและสิ้นหวัง เราจะปลุกให้ให้ตื่นขึ้นมาจากความหลับไหลที่เขามอบให้เรา ด้วยฐานความคิดที่เชื่อว่าการเมืองเป็นเรื่องของทุกคน หากเราต้องการสังคมที่โอบรับความหลากหลาย สังคมที่เปิดพื้นที่ให้กับทุกความคิด สังคมที่คนเท่าเทียมกัน เราจะยืนหยัดและสู้เพื่ออนาคตของพวกเราทุกคน
นายไซราม ประกายกิจ ประธานค่าย กล่าวถึงที่มาของแนวคิดหลักในการจัดค่าย ว่าจัดขึ้นมาภายใต้แนวคิด Brain & boots ที่จำลองมาจากค่ายคนหัวก้าวหน้าในหลายๆประเทศ โดยมีรูปแบบ Experince learning การเรียนรู้ผ่านประสบการร์จากการที่ได้ลงมือทำจริง Game base learning การเรียนรู้ผ่านเกมส์ ผ่านกระบวนการที่สนุก ที่สามารถย่อยได้ง่าย Active learning กระบวนการที่ให้เด็กอยู่ในสถานการณ์จริงๆ ได้ขยับหรือหยิบจับ ใช้การเรียนรู้ทั้ง Head-Hard-Hand ใช้ Head คือใช้ความคิด ใช้ Hard แทนความรู้สึก ใช้ Hand หยิบจับขยับร่างกาย ใช้ทั้ง 3 ส่วนในการเรียนรู้ โดยจัดในพื้นที่ปลอดภัย
“เราบอกเด็กว่าที่นี่ไม่มีเรื่องที่ผิดหรือเรื่องที่ถูก อยากพูดอะไร อยากถามอะไร ถกเถียงกันคุยกัน เพราะในโลกนี้ไม่ได้มีแต่เรื่องถูกผิด มันยังมีมุมมองอีกหลายอย่างมากๆที่เราเองก็อาจจะม่รู้ คนที่เราคุยด้วยอาจจะไม่รู้ หรืออาจจะรู้แต่เข้าใจกันคนละอย่าง เราไม่สามารถบอกได้ว่าความจริงมีเพียงหนึ่งเดียว อย่างน้อยที่สุดรูปแบบกระบวนการทั้งหมด เราอยากให้น้องๆคุ้นชินกับแนวคิดแบบนี้ เค้าจะได้รู้วาโลกนี้ไม่ได้มีแค่ถูกกับผิด โลกนี้ไม่ได้มีแค่เรื่องที่เราได้ยินมาแล้วเราต้องปักใจเชื่อเลย กิจกรรม Critical Thinking จึงมีขึ้นมาเพื่อให้น้องๆสงสัย และตั้งคำถามขึ้นมาเมื่อได้ยินเรื่องต่างๆ”
นายไซราม บอกถึงจุดประสงค์ในการจัดค่ายครั้งนี้ว่า พวกเราเห็นว่าช่วง 8 ปีที่ผ่านมา เด็กไม่มีพื้นที่ที่จะได้พูดคุยแลกเปลี่ยน หรือพื้นที่ที่สามารถพูดคุยแลกเปลี่ยนกันแล้วรู้สึกสบายใจ เป้าหมายแรกคือสร้างพื้นที่ปลอดภัย ที่จะให้เด็กสามารถพูดคุยถกเถียง ในด้านความคิดได้อย่างเต็มที่ ความคิดที่ถูกกดให้หลับมา 8 ปีหรืออาจจะมากกว่านั้น เราอยากจะปลุกให้เยาวชนกลุ่มนี้ตื่นด้วยค่ายแห่งนี้ จึงเกิดเป็นชื่อค่ายว่า Awaken land สำหรับเป้าหมายประการที่สองนั้นสำคัญที่สุด คือการสร้างเครือข่ายเยาวชนที่เข้มแข็ง ซึ่งจะนำไปสู่การตื่นรู้ทางความคิด ในจำนวนเด็กทั้ง 49 คนที่มาออกค่ายในครั้งนี้นั้นไม่ได้มีความคิดไปในทิศทางเดียวกันหมด บางคนก็ไม่ได้เป็นแฟนคลับพรรคอนาคตใหม่ สิ่งที่ผมเห็นเมื่อเด็กได้พูดคุยแลกเปลี่ยน ได้มีการถกเถียงกันเกิดขึ้น ผมคิดว่านั่นเป็นบรรยากาศที่ดีมากๆ เด็กไม่ได้โมโหใส่กัน เด็กไม่ได้โกรธกันไม่ได้เกลียดกัน แต่เด็กฟังกัน ฟังว่าเพื่อนคิดกันอย่างไร เด็กบางคนก็มีแนวคิดเสรีนิยม ขณะเดียวกันเด็กบางคนก็มีแนวคิดอนุรักษ์นิยม แต่เมื่อเด็กมาอยู่ด้วยกันแล้วรับฟังกัน แค่นี้สำหรับผมถือว่าประสบความสำเร็จแล้ว
“ผมคิดว่าสิ่งที่สำคัญที่สุดในการทำให้ประเทศเดินปข้างหน้าได้ คือต้องคุยกันให้มากขึ้น พื้นที่แห่งนี้เลยถูกออกแบบมาให้เป็นพื้นที่ปลอดภัย อยากให้ทุกคนเข้ามาคุยกัน มาสงสัยมาตั้งคำถาม อะไรที่เป็นปัญหาอยู่ผมเชื่อว่ามันแก้ได้ด้วยกันพูดคุย รับฟัง และเคารพกัน สิ่งที่น่าจะทำได้จริงๆของค่ายนี้คือ อย่างน้อยน่าจะจุดประกายให้เด็กสักหนึ่งคน รู้สึกสงสัยและตั้งคำถามมากขึ้น สุดท้ายเด็กจะรู้ว่าปัญหามันเกิดขึ้นที่ตรงจุดไหน แล้วเด็กจะคิดต่อเองว่า จะสามารถแก้ปัญหาเหล่านั้นอย่างไรได้บ้าง คนที่กล้าสงสัย คนที่กล้าตั้งคำถาม คนกลุ่มนี้แหละครับที่จะลุกขึ้นไปสร้างความเปลี่ยนแปลงในอนาคต”
นายไซราม กล่าวว่า สำหรับกิจกรรมไฮไลท์ของการออกค่ายในครั้งนี้คงหนีไม่พ้น กิจกรรม Awaken talk กิจกรรมนี้จะถูกแบ่งออกเป็น 5 ฐานโดย 5 วิทยากร ซึ่งวิทยากรแต่ละท่านนั้นถือว่าหาจับตัวได้ยาก แต่ค่ายแห่งนี้สามารถเชิญมาพูดคุยแลกเปลี่ยนกันอย่างใกล้ชิด โดยฐานแรกเป็นของคุณสมบัติ บุณงามอนงค์ หรือที่เรารู้จักกันในชื่อ บก.ลายจุด ที่จะมาพูดคุยแลกเปลี่ยนทำลายมายาคติที่บอกว่า ‘การเมืองเป็นเรื่องสกปรก’ ทำไมคนถึงคิดว่าการเมืองเป็นเรื่องที่น่าเบื่อโดยเฉพาะเยาวชน ใครที่ทำให้เราเบื่อการเมือง หาคำตอบได้ในฐานนี้
ฐานที่สองเป็นเรื่องของ ‘ชาติ’ ชาติคืออะไร ชาติไทยของเรานั้นเกิดขึ้นจริงๆเมื่อไร ประเทศไทยเคยเสียดินแดนจริงๆหรือไม่ สามารถหาคำตอบ พูดคุยแลกเปลี่ยนในฐานนี้โดยอ.ไชยันต์ รัชกูล ส่วนฐานที่สามนั้นพูดคุยแลกเปลี่ยนในหัวข้อ ‘มายาคติของการใช้อำนาจ’ อำนาจในมุมมองมนุษยวิทยา ที่จะพูดถึงอำนาจสามชั้น อำนาจแบบที่เรายอมรับมันโดยดี อำนาจแบบที่เราจำใจยอมรับ และอำนาจแบบที่เราไม่ยอมรับหรือถูกบังคับให้ยอมรับ โดยมาอ.อนุสรณ์ อุณโณ อาจารย์จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มาร่วมแลกเปลี่ยน
ฐานที่สี่แลกเปลี่ยนกันในหัวข้อ ‘มายาคติกับการเมืองของตุลาการ’ ซึ่งปกติแล้วตุลาการหรือศาล เป็นองค์กรแบบ Passive ไม่ตอบโต้ แต่ศาลทุกวันนี้มีความ active มากขึ้นมีการโต้ตอบประชาชนหรือนักการเมืองมากขึ้น โดยได้อ.สมชาย ปรีชาศิลปกุล อาจารย์จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ร่วมแรกเปลี่ยนพูดคุย และฐานสุดท้ายฐานที่ห้า แลกเปลี่ยนในหัวข้อ ‘มายาคติกับการศึกษาของผู้ถูกกดขี่’ คนที่ถูกกดขี่ยังไงก็เสียเปรียบคนที่กดขี่เสมอ ในการทำงานที่มีลำดับแบบเจ้านายกับลูกน้อง หรือครูกับศิษย์ ยังไงครูก็มีอำนาจเหนือเด็ก ยังไงเจ้านายก็มีอำนาจเหนือลูกน้องสามารถกดขี่ได้ตลอด ทำอย่างไรคนที่เป็นลูกน้อง ถึงจะหลุดพ้นจากการกดขี่ แล้วจะไม่กลับไปกดขี่ผู้เป็นนายจ้างอีก หรือกลับไปกดขี่ผู้อื่นอีก ไม่เช่นนั้นวงจรการกดขี่ก็จะวนเวียนซ้ำรอยไปเรื่อยๆ ในฐานสุดท้ายนี้มีอ.ษัษฐรัมย์ ธรรมบุศดี อาจารย์จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นวิทยากรร่วมแลกเปลี่ยนพูดคุย
นอกจากนี้ยังมีกิจกรรม workshop อีกหลายกิจกรรมด้วยกัน และยังมีส.ส.พรรคอนาคตใหม่ อาทิ ส.ส.กุลธิดา รุ่งเรืองเกียรติ,ส.ส.เยาวลักษณ์ วงษ์ประภารัตน์,ส.ส.ธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์ ,ส.ส.มณฑล โพธิ์คาย ,ส.ส.เบญจา แสงจันทร์ ,ส.ส.สุทธวรรณ สุบรรณ ณ อยุทธยา ,ส.ส.กัญจน์พงศ์ จงสุทธนามณี และส.ส.วรรณวิภา ไม้สน ร่วมตั้งฐาน workshop บอกเล่าแชร์ประสบการณ์ กับการทำหน้าที่ของส.ส.หน้าใหม่ในรัฐสภา และร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยนถามตอบปัญหาต่างๆ กับน้องๆที่มาเข้าค่ายในครั้งนี้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในระหว่างการจัดค่ายนั้น มีเจ้าหน้าที่รัฐอย่างน้อย 2 คน ผู้หนึ่งอ้างว่าเป็นปลัดปกครอง แต่ไม่ยอมแสดงบัตรหรือเอกสารใดๆ ได้เข้ามาพยายามกดดันเจ้าของสถานที่ และขอรายชื่อเด็กที่มาเข้าค่ายจากทีมงาน ซึ่งทีมงานบอกว่าสิ่งที่คนที่อ้างว่าเป็นเจ้าหน้าที่รัฐกระทำนั้น เป็นการคุกคาม เนื่องจากการจัดกิจกรรมออกค่ายในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อให้มีพื้นที่ปลอดภัย สำหรับการแลกเปลี่ยนพูดคุยถึงปัญหาของสังคมต่างๆโดยเสรี แต่การที่เจ้าหน้าที่รัฐพยายามคุกคามนั้น เด็กและทีมงานรู้สึกหวาดระแวงและกังวลถึงความไม่ปลอดภัย และยังรู้สึกอีกว่า การที่ไม่มีเจ้าหน้าที่รัฐอยู่ภายในค่ายนั้นจะรู้สึกปลอดภัยกว่า