นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่ ในฐานะกรรมาธิการพิจารณางบประมาณรายจ่าย ปี 2563 ซักถามตัวแทนกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร หรือกอ.รมน. โดยตั้งข้อสังเกตถึงงบ 609 ล้านบาทของกอ.รมน. ในโครงการ “เพิ่มประสิทธิภาพงานข่าวกรองและบูรณาการฐานข้อมูลความมั่นคงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้” เจ้าหน้าที่กอ.รมน.เคยชี้แจงว่าโครงการดังกล่าวเป็นการติดตั้งวงจรปิด และเชื่อมฐานข้อมูลต่าง ๆ ที่มีหลายฐานเข้าด้วยกัน แต่พอไปดูจริง ๆ งบส่วนติดตั้งกล้องวงจรปิด มีจำนวนแค่ 57 ล้านบาท และงบเชื่อมฐานข้อมูลสารสนเทศ ใช้เงินแค่ 22 ล้านบาท อีก 397 ล้านบาทเป็นงบ “ข่าวกรองเชิงรุก” นายวิโรจน์จึงขอให้กอ.รมน. ชี้แจงว่างบ 397 ล้านบาท เป็นงานสร้างสายข่าวใช่หรือไม่ อยากทราบว่ามีจำนวนข่าวที่ส่งขึ้นมากี่ข่าว กรองแล้วพบว่าเป็นข้อเท็จจริง เป็นสัดส่วนเท่าใดกับข่าวที่ไม่ใช่ข้อเท็จจริง เนื่องจากการสร้างสายข่าวในพื้นที่ นอกจากจะสร้างความหวาดระแวงกันเองในหมู่ประชาชน ยังเสี่ยงต่อการได้ข่าวเท็จและการใส่ร้ายป้ายสีส่วนบุคคล
นอกจากนี้ นายวิโรจน์ยังชี้อีกด้วยว่าในความเป็นจริง โครงการเพิ่มประสิทธิภาพงานข่าวกรองฯ ไม่ได้ใช้งบแค่ 609 ล้านบาท ซึ่งอยู่ที่กอ.รมน. แต่เป็น 932 ล้านบาท กระจายไปตามเหล่าทัพต่าง ๆ อยากทราบว่างานส่วนนี้ซ้ำซ้อนกันหรือไม่ สามารถรวมมาอยู่ที่กอ.รมน.ได้หรือไม่ เพื่อให้ใช้งบอย่างมีประสิทธิภาพ
นายวิโรจน์ยังแสดงความกังวลถึงโครงการ “ส่งเสริมและเผยแพร่ความจริงที่ถูกต้องเพื่อสนับสนุนการแก้ไขปัญหา” ซึ่งใช้งบประมาณทั้งสิ้น 151 ล้านบาท นายวิโรจน์ถามว่าความจริงที่ถูกต้องคืออะไร ใครกำหนด เพราะถ้าจะเป็นความจริงที่ได้รับการยอมรับ ต้องเปิดกว้างต่อการสนทนาถกเถียงในสาธารณะ ไม่ใช่กำหนดโดยบุคคลใดบุคคลหนึ่ง โดยเฉพาะงบประมาณ 11 ล้านบาท ในการ “ผลิตชุดข้อมูลเพื่อสลายแนวคิดหัวรุนแรง” มีกระบวนการจัดทำอย่างไร และใครเป็นผู้มีส่วนจัดทำ
นายวิโรจน์ยังแสดงความเป็นห่วงด้วยว่า กลุ่มเป้าหมายหนึ่งของโครงการส่งเสริมและเผยแพร่ความจริงที่ถูกต้องเพื่อสนับสนุนการแก้ไขปัญหาของกอ.รมน. คือเด็ก 1-5 ปี และยังมีโครงการป้องกันแนวคิดความรุนแรงในเยาวชนและสตรี ซึ่งตามหลักสากล การดำเนินการใด ๆ ต่อเด็ก เป็นเรื่องละเอียดอ่อนอย่างสูง การที่กลุ่มเป้าหมายของโครงการนี้ เป็นเด็กเล็ก และเยาวชน จึงน่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง ว่าจะนำความคิดใดไปปลูกฝังให้เด็กซึ่งเปรียบเสมือนผ้าขาว ขอให้กอ.รมน. ชี้แจงรายละเอียดในเรื่องนี้ด้วย เพื่อลดความกังวลของสังคม
ด้านตัวแทนกอ.รมน. ตอบว่าในการแก้ไขปัญหาชายแดนภาคใต้ ได้แบ่งเป็น 3 ขั้น คือขั้นควบคุมสถานการณ์ ตั้งแต่ 2547-2553 ซึ่งเน้นการใช้กำลังทหารเพื่อลดการก่อเหตุ ส่วนปัจจุบัน อยู่ในขั้นตอนที่ 2 คือปฏิบัติการเชิงรุก ควบคู่กับการพัฒนา เน้นการใช้กำลังประจำถิ่น หรือทหารพรานในพื้นที่ ขณะที่ทหารปกติลดจาก 20 เหลือ 4 กองพัน และมีการลดกำลังลงโดยลำดับ แต่ยังไม่สามารถเข้าสู่ขั้นตอนสุดท้ายได้ คือขั้นตอนการสร้างสันติสุขและการพัฒนาอย่างยั่งยืน ในการดำเนินการขั้น 2 ยังต้องมี single management หรือการบังคับบัญชาจากหน่วยเดียว เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ดูแลทั้งความมั่นคงและการพัฒนา
กรณีการมีโครงการเผยแพร่ความจริงที่ถูกต้องฯ ที่มุ่งเน้นเด็กเล็กและเยาวชน ตั้งอยู่บนแนวคิดที่ว่าเด็กที่เกิดในปี 2560 จะเป็นวัยรุ่นอายุ 20 ปีในปี 2580 จำเป็นต้องป้องกันไม่ให้พวกเขาเติบโตขึ้นมาโดยถูกชี้นำไปในทางที่ผิด ทหารจึงเข้าไปดูแลการเรียนการสอน เพื่อส่งเสริมให้เด็กได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง ทำให้เด็กเติบโตมาโดยไม่เข้าไปสนับสนุนขบวนการผิดๆ