“ชวลิต” ชี้เปรี้ยง! เกษตรเคมีแปลงใหญ่ ล้วนจ้างคนจนพ่นยาฆ่าหญ้า ตายผ่อนส่งแทน กลุ่มทุนควรไถ่บาป

0
1224

นายชวลิต วิชยสุทธิ์ ส.ส. นครพนม ประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางควบคุมการใช้สารเคมีในภาคเกษตรกรรม สภาผู้แทนราษฎร ให้ความเห็นประเด็นการแบน 3 สารเคมีร้ายแรงการเกษตร ที่ยังเป็นประเด็นร้อนแรงที่ประชาชนติดตามจนถึงปัจจุบัน โดยขอให้ความเห็นใน 4 ประเด็น ดังนี้

1. สภาผู้แทนราษฎรชุดปัจจุบัน มีมติเป็นเอกฉันท์ถึง 2 ครั้ง

ครั้งแรก เมื่อวันที่ 13 กันยายน 2562 มีมติตั้ง กมธ. วิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางควบคุมการใช้สารเคมีในภาคเกษตรกรรม

ครั้งที่สอง วันที่ 21 พ.ย.62 เห็นชอบกับรายงานผลการศึกษา พร้อมข้อสังเกตและข้อเสนอแนะของ กมธ.ให้รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับไปพิจารณาดำเนินการ ซึ่ง 1 ในข้อสังเกตสำคัญของ กมธ.คือ การแบน 3 สารเคมีร้ายแรงทางด้านการเกษตรดังกล่าว การไม่ใช้สารเคมีชนิดใดมาทดแทน การดูแล เยียวยาเกษตรกรในระยะเปลี่ยนผ่าน เพื่อเปลี่ยนผ่านจากเกษตรเคมี สู่เกษตรปลอดภัย และเป็นเกษตรอินทรีย์อย่างยั่งยืนในที่สุด

จะเห็นได้ว่า มติเอกฉันท์ของสภาผู้แทนราษฎรทั้งสองครั้งดังกล่าว ล้วนแสดงเจตนารมณ์ว่า สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรให้ความสำคัญกับสุขภาพอนามัยของประชาชนและสิ่งแวดล้อมเป็นอย่างยิ่ง นี่คือ เสียงสะท้อนจากตัวแทนประชาชนทั่วประเทศ ที่รัฐบาล คณะกรรมการวัตถุอันตราย กระทรวง ทบวง กรมที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนภาคเอกชน ควรรับฟังเสียงดังกล่าว แล้วนำไปปฏิบัติ แม้ในระยะเปลี่ยนผ่านจะมีปัญหา อุปสรรค ซึ่งก็เหมือนกับการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในทุกประเทศ แต่หากคำนึงถึงเป้าหมายเพื่อสุขภาพอนามัยของประชาชนโดยภาพรวม ก็ต้องร่วมใจกันฟันฝ่าไปสู่เป้าหมายนั้น

2. ในข้อเท็จจริง เกษตรเคมีแปลงใหญ่ เกือบร้อยละร้อย เจ้าของที่ดินแปลงใหญ่มิได้พ่นยาฆ่าหญ้าด้วยตนเอง ล้วนจ้างคนจนไปตายผ่อนส่งแทนเกือบทั้งสิ้น

หากกลุ่มทุนดังกล่าว เปลี่ยนวิธีคิด จากจ้างคนจนพ่นยาฆ่าหญ้า หันมาส่งเสริม  SME ผลิตเครื่องจักรกลการเกษตรในการกำจัดวัชพืช ซึ่งมีนวัตกรรมใหม่ที่คนไทยผลิตได้ ก็จะเกิดการจ้างงานอีกหลายกลุ่ม ทั้งเกษตรกรและผู้บริโภค

ก็จะปลอดภัยจากสารพิษร้ายแรง ไม่นับกับการใช้สารชีวภัณฑ์ ฯลฯ และทางเลือกอื่น ๆ ทดแทนการใช้สารเคมี

3. สำหรับเกษตรกรรายย่อยและผู้รับจ้างพ่นยาฆ่าหญ้า ผมเคยถามว่า รู้ไหมว่าอันตราย เขาตอบว่ารู้แต่ด้วยความจนจำเป็นต้องทำ เพื่อเลี้ยงลูก เมีย ครอบครัว เขาไม่กลัวตาย ขอให้มีกินก่อน

แต่พอบอกว่า สารพิษดังกล่าว จะไปสู่ลูก หลาน โดยเฉพาะเด็กเกิดใหม่มีสถิติการเป็นออทิสติก

สติปัญญาต่ำมากขึ้น ๆ อย่างมีนัยสำคัญ เขาหยุดฟัง และพร้อมจะเลิกสรุปในประเด็นนี้ คือ คนจนไม่กลัวตาย ขอให้มีกิน แต่ถ้ารู้ว่า ผลกระทบถึงลูก หลาน หยุดได้ รักลูก หลานมากกว่าตนเอง

ในประเด็นนี้ ผมขอฝากข้อคิดมายังเกษตรกรรายย่อยว่าควรเปลี่ยนวิธีคิดในการทำการเกษตร ห้นมาให้ความสำคัญกับสุขภาพอนามัยของตนเอง ครอบครัวประชาชนผู้บริโภค โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คือ สิ่งแวดล้อมที่ไม่อาจตีค่าเป็นตัวเงินได้ 

ถ้า “ในน้ำบ่มีปลา ในนามีแต่พาราควอต” เราจะหากุ้ง หอย ปู ปลา มาเป็นอาหารในคร้วเรือนทุกวัน ๆ เหมือนในอดีตได้อย่างไร

4. สำหรับกลุ่มทุน จะโดยตั้งใจ หรือไม่ตั้งใจก็ตาม ผลิตภัณฑ์ของท่านทำให้คนไทยตายผ่อนส่งมาช้านานแล้ว ท่านควรไถ่บาป อย่างน้อยหยุดม็อบ หยุดก่อความวุ่นวายท่านควรให้ความร่วมมือกับทางราชการ แล้วนำความร่ำรวยที่ได้ไปกลับมาฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม ในลักษณะกองทุนดูแลสิ่งแวดล้อม และกองทุนเยียวยาเกษตรกรที่เจ็บป่วยจากการใช้สารเคมี

ขอเรียนในท้ายที่สุดว่า การทำงานของผม และของ กมธ.ไม่มีประโยชน์อื่นใดแอบแฝง ไม่ใช่แบนสารตัวนี้ แล้วเปิดช่องให้ใช้สารตัวอื่นทดแทน แต่เป้าหมายของผมและ กมธ. คือ การพัฒาการเกษตรของไทยไปสู่เกษตรอินทรีย์อย่างยั่งยืนเพื่อให้ประเทศไทยเป็นครัวของโลกอย่างสมภาคภูมิ

ผมมั่นใจว่า หมดรุ่นผม ก็จะมีคนรุ่นต่อ ๆ มา มารับช่วงต่ออย่างไม่ขาดสาย เพราะใคร ๆ ก็รักตนเองรักครอบครัว และรักประชาชน เพราะเราเป็นผู้แทนประชาชน