“ยุทธพงศ์” เผย กมธ.วิสามัญฯ เตรียมเดินหน้าตรวจสอบการขยายสัญญาสัมปทาน BTS

0
1695

ยุทธพงศ์ จรัสเสถียร เผย คณะกรรมาธิการวิสามัญฯ เตรียมเดินหน้าตรวจสอบการขยายสัญญาสัมปทาน BTS โดยเฉพาะความเร่งรีบในการใช้ม.44 เปิดทางขยายสัญญา40ปี การไม่เข้าพ.ร.บ.ร่วมทุน และการบริการของเอกชน

นายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดมหาสารคามพรรคเพื่อไทย ในฐานะผู้เสนอญัตติด่วนขอให้ตั้งคณะกรรมาธิการ ศึกษาโครงการรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายสัญญาสัมปทาน ระบุว่า หลังตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญ จะประชุมอีกครั้ง ในวันที่ 23 และ 24 กรกฎาคม ที่อาคารรัฐสภาเกียกกาย ซึ่งจะพิจารณาเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรวมถึงปลัดกระทรวงมหาดไทย มาชี้แจง โดยเฉพาะประเด็นการใช้มาตรา44 ขยายสัญญาสัมปทาน

นายยุทธพงศ์ เล่าโดยตั้งข้อสังเกตว่า ครั้งแรกที่เปิดเดินรถ ตั้งแต่สถานีหมอชิตถึงสถานีอ่อนนุช บริษัทบีทีเอส ยังเหลืออายุสัมปทานอีก 10 ปี จากนั้นกรุงเทพมหานคร เดินหน้าส่วนต่อขยาย จากสถานีอ่อนนุชถึงแบริ่ง และจากสถานี สาทรถึงวงเวียนใหญ่ โดยกรุงเทพมหานคร มอบให้บริษัทกรุงเทพธนาคม จำกัด เป็นผู้รับสัญญาสัมปทานไปดำเนิน การ และบริษัทกรุงเทพธนาคมได้จ้างให้บริษัท BTS เป็นผู้เดินรถ จึงทำให้บริษัท BTS ได้เป็นผู้เดินรถในส่วนต่อขยายรอบ2 และยังเหลือเวลาอีกถึง 23 ปีจะครบอายุสัมปทาน

ซึ่งนายยุทธพงศ์เห็นว่า การต่อขยายสัญญาสัมปทานจึงไม่มีความจำเป็นเร่งด่วน แต่รัฐบาลกลับใช้มาตรา 44 ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาเจรจากับบริษัท BTS โดยมีปลัดกระทรวงมหาดไทยคนปัจจุบันเป็นประธานคณะกรรมการเจรจา

ซึ่งจะพูดคุยเรื่องการต่อสัญญาอายุสัมปทานไปอีก 40 ปี นอกจากนี้ยังเห็นว่าส่วนต่อขยาย มีเส้นทางเชื่อมไปถึงจังหวัดสมุทรปราการและจังหวัดปทุมธานี ซึ่งเส้นทางดังกล่าวมีระยะ ค่อนข้างยาว จึงตั้งข้อสังเกตว่าเหตุใด บริษัทรถไฟฟ้ามหานคร หรือรฟม.ไม่เปิดให้เอกชนรายอื่นมาแข่งขันเพื่อการเดินรถ

กรณีดังกล่าวอาจทำให้ประชาชนเสียประโยชน์ เพราะบริษัท BTS ไม่ได้อยู่ในพ.ร.บ.ร่วมทุน รายได้ต่างๆจึงไม่ต้องแบ่งให้รัฐ

และอาจทำให้เอกชนรายนี้ ไม่พัฒนาการเดินรถให้เกิดประสิทธิภาพ เช่น การเพิ่มโบกี้โดยสารเพื่อลดความแออัด หรือการลดค่าโดยสารที่ประชาชนต้องจ่ายในราคาสูง

นายยุทธพงศ์มองว่าความเร่งรีบที่เกิดขึ้น ส่อถึงความไม่โปร่งใส และเจ้าของสัมปทานเองก็ไม่ได้ถูกฟ้องร้อง แต่เหตุใดจึงรีบเร่งต่อสัญญาทั้งที่ สัญญารอบแรกและสัญญารอบ 2 ในส่วนต่อขยายยังเหลืออีกเวลาอีกถึง 10 ปีและ 23 ปี

ดังนั้นในการประชุม คณะวิสามัญฯ จะพิจารณาเรียกปลัดกระทรวงมหาดไทยกรุงเทพมหานคร และบริษัทเอกชนเข้ามาพูดคุยเพื่อชี้แจงข้อเท็จจริงและจะให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย โดยเฉพาะประเด็น ความเร่งรีบในการต่อสัญญาสัมปทานและการไม่เข้าร่วมพ.ร.บ.ร่วมทุน ให้ถูกต้องตามหลักเกณฑ์

พร้อมสอบถามถึงการบริการของบริษัทบีทีเอสว่าเหตุใดจึงไม่เพิ่มขบวนรถ และปรับลดราคาค่าโดยสารตามความเหมาะสม