“ผู้กองมาร์ค” แนะ “นายกประยุทธ์” เน้นส่งเสริมระบบ Organic Zoning เพื่อขจัดปัญหาล้ง ผิดกฎหมาย

0
1385

ร.ต.อ.วัฒนรักษ์ อำนรรฆสรเดช เลขานุการกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการควบคุมการใช้สารเคมีในภาคอุตสาหกรรม สภาผู้แทนราษฎร ในฐานะอดีตผู้สมัคร ส.ส.กทม. พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า เหลือเวลาอีกเพียง 2 วัน ที่กมธ.สารเคมีฯ จะหมดหน้าที่การศึกษาการใช้สารเคมีฯ และอีกเพียง 15 วันเท่านั้น ที่เกษตรไทยจะต้องหยุดใช้สารเคมีพิษทั้ง 3 ชนิดคือ พาราควอต คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเซล แต่เราก็ยังหมดห่วงไม่ได้ เพราะปัจจุบันสารเคมีกำจัดศัตรูพืชในทางการเกษตร มีกว่า 1,000 ชนิด ที่มีการจำหน่ายทางการค้า แต่สารชีวภัณฑ์มีเพียงแค่ 73 ชนิดเท่านั้น ซึ่งหากเกษตรกรเลือกใช้สารชีวภัณฑ์ก็จะทำให้มีต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นกว่าเดิมเกือบ 3 เท่า และในส่วนของอุตสาหกรรมเครื่องจักรกลทางการเกษตรก็มีราคาที่สูงมากเกินกว่าเกษตรกรไทยจะหาซื้อมาใช้ได้ ซึ่งหากภาครัฐยังไม่มีทางออกที่ชัดเจน จะถือได้ว่าเป็นการเพิ่มและผลักภาระค่าใช้จ่ายให้กับเกษตรกรไทยหรือไม่ เพราะอาจจะนำมาซึ่งการลักลอบนำเข้า และแอบจำหน่ายสารเคมีพิษดังกล่าว ซึ่งต้องมีการโก่งราคาให้สูงกว่าเดิมแน่นอน พร้อมทั้งขณะนี้ยังมีข่าวเพิ่มเติมอีกว่า ล้งของ คนจีน ที่มาตั้งอยู่ในประเทศไทยหลายแห่ง ได้นำเข้าพืช ผัก และผลไม้ เข้ามาขายในไทยซึ่งมีราคาที่ถูกกว่าสินค้าของเกษตรไทยเรา ซึ่งส่งผลให้ไทยขายพืชผลทางการเกษตรได้ยาก ดังนั้นจึงวอนขอให้ นายกประยุทธ์ จันทร์โอชา สั่งการกรมพัฒนาธุรกิจการค้า อย่างเร่งด่วนเพื่อตรวจสอบ ว่ามีการกระทำดังกล่าวจริงหรือไม่ เพราะถ้าเกิดขึ้นจริงก็จะผิด พ.ร.บ.การประกอบธุกิจของคนต่างด้าวปี 2542 ตามบัญชีแนบท้ายที่ 3 ที่ห้ามคนต่างด้าวมาทำธุรกิจ ซึ่งหากมีการซื้อขายในประเทศ จะผิดกฎหมายต่างด้าว และเข้าข่ายเป็นธุรกิจค้าปลีกค้าส่ง

ร.ต.อ.วัฒนรักษ์ กล่าวต่ออีกว่า รัฐควรเร่งส่งเสริมเกษตรอินทรีย์ เพราะจะเป็นการเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรไทยอย่างยั่งยืน และยังช่วย ลดปัญหาค่ารักษาพยาบาลของคนไทยทั้งประเทศ โดยรัฐควรเปิดใช้ Organic Zoning อย่างเป็นระบบ พร้อมทั้งนำเทคโนโลยีในส่วนของ แอปพลิเคชั่นและการพัฒนาระบบฐานข้อมูลสินค้าเกษตรและระบบจับคู่ซื้อขายสินค้าเกษตรบนแพลตฟอร์ม E-Matching Market (EMM) มาใช้โดยแอปพลิเคชั่นในส่วนของตลาดเกษตรอินทรีออนไลน์ ควรมีทั้งภาษาไทย ภาษาอังกฤษ และภาษาต่างชาติอื่น ๆ เพื่อส่งเสริมตลาดพืช ผัก และผลไม้ไทยไปสู่ทั่วโลก เพิ่มช่องทางการค้า แก้ไขปัญหาสินค้าล้นตลาด ไม่ให้โดนกดราคา แนะนำให้ความรู้เกษตรกร แนะนำพื้นที่การทำเกษตรอินทรีย์ รวมไปถึงข้อมูลผู้ประกอบการ ผู้ผลิต ผู้ค้า ผู้บริโภค เพราะจะทำให้ผู้ผลิตรู้ว่าต้องผลิตสินค้าจำนวนเท่าไร สินค้าต้องพร้อมส่งวันไหน ขายใคร และได้ราคาเท่าไร ผู้ค้าจะได้วางแผนการตลาดที่แม่นยำ ว่าจะมีปริมาณผลผลิตเท่าไร ต้นทุนเป็นอย่างไร เพื่อนำข้อมูลต่างๆ มาวิเคราะห์สถิติ (Big Data) ว่าจะขายในประเทศจำนวนเท่าไร ส่งออกจำนวนเท่าไร แต่เป็นเรื่องที่น่าเสียใจอย่างมาก เพราะมีหน่วยงานภาครัฐบางหน่วยพยายามพัฒนาแอปพลิเคชันเหล่านี้ขึ้นมา แต่ขาดการเชื่อมโยงระหว่างภาครัฐด้วยกันเอง และภาคเอกชนที่เป็นผู้ซื้อก็ยิ่งเข้าไม่ถึง จนทำให้แอปพลิเคชันเหล่านี้แทบจะไม่มีคนใช้งาน ดังนั้นรัฐควรเร่งพัฒนาระบบและประสานงานกับภาคเอกชนอย่างจริงจัง เพื่อให้แอปพลิเคชันสามารถใช้งานได้จริง และเข้าถึงประชาชนให้มากขึ้น เพื่อเพิ่มศักยภาพให้กับเกษตรกรไทยอย่างมั่นคงและยั่งยืน