นายภูมิธรรม เวชยชัย ที่ปรึกษาผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร ระบุว่า ความเชื่อมั่นต่อรัฐบาล หากมาจากรากฐานสำคัญของกระบวนการที่เป็นประชาธิปไตย ซึ่งอำนาจเป็นของประชาชน อาจมิต้องห่วงกังวลกับเสถียรภาพของรัฐบาล หรือ คำถามว่า รัฐบาลจะไปรอดไหม จะอยู่ได้นานแค่ใด เพราะรัฐบาลนั้นมาจากพลังเสียงอำนาจของประชาชนส่วนใหญ่อย่างแท้จริง ประชาชนย่อมเป็นฐานที่แข็งแกร่ง คอยโอบอุ้มรัฐบาล
แต่สำหรับรัฐบาลปัจจุบัน ที่ก้าวขึ้นมาจากการต่อท่ออำนาจ ของการรัฐประหาร และ ปฏิเสธมิได้ว่าเป็น กระบวนการที่เชื่อมต่อกันมาตั้งแต่ การปฏิวัติเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 เพื่อโค่นล้มรัฐบาลประชาธิปไตย ซึ่งมาจากการเลือกตั้ง
แม้รัฐบาลชุดนี้จะป่าวประกาศว่าเข้าสู่บรรยากาศประชาธิปไตยทั้งๆที่ตัวเองเป็นผู้กำหนดและออกแบบกติกา รัฐธรรมนูญ…ที่มีคนในรัฐบาลบอกว่า…”ออกแบบมาเพื่อพวกเรา” ทำให้สาธารณชนเกิดความคลางแคลงใจ ตั้งคำถามถึงการยอมรับและความไม่เชื่อมั่นต่อความชอบธรรม ที่รัฐบาลมีอยู่
ดังนั้น นับตั้งแต่เริ่มต้น ต้องถือว่ารัฐบาล. “สอบตกเรื่องความเชื่อมั่น” ..โดยมีผลโพลจากหลายสำนักเป็นประจักษ์พยาน
ความไม่เชื่อมั่นนี้มิได้ดำรงอยู่แค่ในประเทศ แต่ กระจายไปถึงนักลงทุนจากต่างประเทศ โดยเฉพาะเมื่อมีการบิดเบือนหลักกฎหมายเพื่อหาทางออกให้กับตนเองและพวกพ้อง การไม่ปฏิบัติตามกฎหมายรัฐธรรมนูญของผู้นำรัฐบาล จนนำมาสู่ “การอภิปราย ทั่วไป ตามมาตรา 152”
ล้วนเป็นภาพสะท้อน”รัฐบาลไม้หลัก ปักเลน” ที่มีการกระทำขัดต่อหลักนิติรัฐ นิติธรรม ตามแบบอย่างของประเทศประชาธิปไตยทั่วไป
อาจกล่าวได้ว่ารัฐบาลชุดนี้….ไม่เคยสร้างความเชื่อมั่น และ ไม่สามารถสร้างความเชื่อมั่นให้เกิดขึ้นได้ มิหนำซ้ำยังทำลายความเชื่อมั่นของตัวเอง ลงตลอดเวลา… จากรัฐมนตรีที่ถูกกล่าวหาว่าพัวพันคดียาเสพติด /จากการบริหารจัดการปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้งที่ไม่มีประสิทธิภาพของนายกรัฐมนตรี /จากความไม่สามารถจัดลำดับให้ความสำคัญของการบริหารราชการแผ่นดินว่าสิ่งใดควรทำก่อน สิ่งใดควรเร่งรีบในการจัดการปัญหาความทุกข์ยากเดือดร้อนที่คุกคามประชาชนอยู่ หรือกระทั่งคำถามถึงศักยภาพและความสามารถของ”ผู้นำ”ที่บริหารจัดการ พัฒนาประเทศที่ ก่อความล้มเหลวมาตลอด เวลากว่า 5 ปี ภายใต้อำนาจที่เบ็ดเสร็จ และเด็ดขาด
เหล่านี้ล้วนเป็นเครื่องสะท้อนและยืนยันผลงานความไร้ประสิทธิภาพและการไร้ความสามารถของรัฐบาลและผู้นำรัฐบาล ที่บั่นทอนความเชื่อมั่นของประชาชนที่มีต่อรัฐบาล
มาถึงวันนี้สังคมไทยน่าจะเห็นภาพที่ชัดเจนมากขึ้นแล้วว่ารัฐบาลที่มาจากการปฏิวัติรัฐประหารทั้ง 2 ครั้งที่ผ่านมา ไม่ใช่คำตอบที่ถูกต้องในการนำพาประเทศเดินไปข้างหน้า แต่ กลับเป็นอุปสรรคที่ขัดขวางการมีชีวิตที่ดีขึ้นของประชาชนมิให้สามารถดำเนินไปสู่ความสำเร็จ ตามจุดมุ่งหมายได้
รัฐบาลนี้ยึดติดในอำนาจและพวกพ้อง กระทำการทุกวิถีทางเพื่อรักษาอำนาจของตนโดยมิได้คำนึงถึงผลเสียที่จะเกิดขึ้นต่อสังคมไทยและยังได้สร้างวัฒนธรรมใหม่ที่ยึดถืออำนาจโดยมิได้หวั่นเกรงต่อกระบวนการตรวจสอบ ใดๆ
เมินเฉยต่อความคิดเห็นและความรู้สึกของประชาชนซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงกระบวนการได้มาซึ่งอำนาจ …การที่กลไกกติกาที่สร้างขึ้นมาเพื่อรักษาอำนาจนั้น มิได้ยึดโยงกับอำนาจของประชาชน ดังนั้น ความเชื่อมั่นต่อรัฐบาลจึงไม่เกิด และส่งผลต่อเนื่องถึงการแก้ปัญหาต่างๆ ของประเทศ
เราจึงได้เห็นภาพเปรียบเทียบ ถึงนายกฯในความทรงจำ ที่มาจากคะแนนเสียงของประชาชนซึ่งเข้าใจทุกข์สุขของพี่น้องประชาชนทำให้ประชาชนเชื่อมั่น และมีความหวัง กับ ภาพของนายกฯ ที่มาจากคะแนนเสียงทางลัด ที่ตนออกแบบขึ้นเพื่อการสืบต่ออำนาจในสภาฯ ซึ่งไม่มีวันที่จะเข้าใจทุกข์สุขของประชาชนอย่างถ่องแท้ เพราะถือตัวเป็น “นายของประชาชน” มากกว่า “ผู้รับใช้ประชาชน”
“เมื่อไม่มีความเชื่อมั่น ปัญหาเศรษฐกิจก็แก้ไม่ได้ เมื่อไม่มีความเชื่อมั่น ปัญหาความเดือดร้อนปากท้องของพี่น้องประชาชนก็แก้ไม่ได้ สรุปได้ว่ารัฐบาลชุดนี้ไม่เคยสร้างและไม่มีความสามารถรวมทั้งไม่มีศักยภาพเพียงพอ ที่จะสร้างความเชื่อมั่นให้เกิดขึ้นกับประเทศ ประเทศจึงต้องเผชิญกับภาวะวิกฤต ซ้ำซาก หาทางออกจากวิกฤติไม่ได้ ประชาชนขาดความหวัง ประเทศขาดอนาคต ถึงเวลาแลัว ที่นายกรัฐมนตรีต้องกล้าตัดสินใจแสดงความรับผิดชอบ ให้โอกาสกับประเทศ นายกรัฐมนตรีต้องลาออก” นายภูมิธรรมกล่าว