‘ณัฐชา’ เปิดแผน ‘กินเหนือเมฆ’ แฉขบวนการ ‘จุติ’ ตั้ง ‘บริษัทผีปอบ’ สูบกินขุมทรัพย์แสนล้านการเคหะ

0
606

ณัฐชา’ อภิปรายไม่ไว้วางใจ ‘จุติ ไกรฤกษ์’ แฉแผน ‘กินเหนือเมฆ’ ตั้งบริษัทลูก ‘บมจ.เคหะสุขประชา’ รวมทรัพย์สินการเคหะไว้ในมือ จับแต่งหน้าปั้นตัวเลขดันเข้าตลาดหลักทรัพย์ พร้อมแต่งตั้งคนของตัวเองแทรกซึมบอร์ดการเคหะ ทำตัวเป็นบริษัทนายหน้าเก็บหัวคิวโครงการเพื่อคนจน หวัง กินเร็ว กินรวบ กินยาว

ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลวันแรก ณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ ส.ส.เขตบางขุนเทียน กรุงเทพ พรรคก้าวไกล รับหน้าที่อภิปรายไม่ไว้วางใจจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ในฐานะผู้มีอำนาจกำกับดูแลการเคหะแห่งชาติ แต่กลับปล่อยปละละเลยและมีส่วนร่วมในมหกรรมสร้างเพื่อโกง มหากาพย์การผลาญภาษีพี่น้องประชาชน พังทลายชีวิต และความมั่นคงของผู้มีรายได้น้อยในประเทศไปจนถึงอนาคต

ณัฐชา กล่าวว่า มหากาพย์ชุดนี้เริ่มต้นจาก ‘โครงการเคหะสุขประชา’ ที่จุติ ต้องการผลักดันอย่างมาก โดยอาศัยจังหวะช่วงโควิด-19 ระบาดอ้างว่าเพื่อสร้างที่อยู่อาศัยราคาถูกให้ประชาชนได้เช่าแทนการขาย โดยจะสร้างให้ได้ปีละ 20,000 ยู่นิต เป็นเวลา 5 ปี รวมทั้งสิ้น 100,000 ยูนิตทั้งยังอ้างว่า โครงการนี้ทำเพื่อถวายเป็นพระราชกุศล จะเปิดโครงการ20,000 หลัง ทุก ๆ วันที่ 28 กรกฎาคม ซึ่งเป็นวันเฉลิมพระชนมพรรษาของในหลวง ร.10 เป็นเวลา 5 ปี จนสร้างเสร็จครบ 100,000 หลัง

“รัฐมนตรีคงกลัวโครงการจะไม่ผ่าน เลยบังอาจแอบอ้างสถาบันพระมหากษัตริย์ ถึงขนาดใช้ท่าไม่ตายแบบนี้ ถามคำเดียว ท่านได้แจ้งหรือทำคำขอไปถึง สำนักพระราชวังหรือยัง ประเด็นนี้ต้องตอบเพราะล่าสุด ในห้องการพิจารณางบประมาณ ปี 66 ตัวแทนจาก ส่วนราชการในพระองค์ได้ฝากถึงหน่วยงานต่างๆ ว่าให้เลิกตั้งชื่อ ‘เฉลิมพระเกียรติ’ ไว้ห้อยท้ายโครงการได้แล้ว ถ้าท่านประธาน หรือท่านรัฐมนตรีไม่เชื่อก็ลองสอบถามกรรมาธิการงบประมาณดส่วนพรรคประชาธิปัตย์ก็ได้ ว่าส่วนราชการในพระองค์ได้ชี้แจงแบบนี้จริงหรือไม่”

ณัฐชา ยังได้กล่าวถึงความไม่สมเหตุสมผลของโครงการนี้ว่า คนในการเคหะแห่งชาติเองก็ไม่เห็นด้วย เนื่องจากขณะนั้นยังมีบ้านการเคหะอีกนับหมื่นยูนิตที่นำมาให้เช่าได้ แถมยังอ้างว่าเป็นโครงการนำร่องจึงไม่

ต้องนำไปผ่าน ครม. และเมื่อผลการศึกษาความคุ้มทุนออกมาว่าโครงการนี้หากจะคืนทุนต้องใช้เวลาถึง 200 ปี ก็สั่งให้ปั้นตัวเลขใหม่จนเหลือ 25 ปี พร้อมใส่โครงการทำเกษตรทฤษฎีใหม่แบบผสมผสาน ขุดบ่อเลี้ยงปลา เลี้ยงไก่ เลี้ยงเป็ด ปลูกผัก ปลูกเมล่อน แล้วเอารายได้จากการขายผักขายไข่มาคำนวณเป็นรายได้เพื่อเพิ่มตัวเลข EIRR ของโครงการ

ณัฐชา กล่าวอีกว่า สิ่งที่เน่าเฟะกว่ากระบวนการผลักดันโครงการ ก็คือกระบวนการจัดทำโครงการ โดยมีการสั่งแยกโครงการถมดินกับโครงการก่อสร้างออกจากกัน ซึ่งการเคหะไม่เคยทำแบบนี้มาก่อน ผลที่ตามมาก็คือ โครงการนี้ที่มีแต่การถมดินทิ้งไว้โดยไม่มีการก่อสร้าง ปล่อยทิ้งไว้นานนับปีจนหญ้าวัชพืชขึ้นเต็มพื้นที่

“ก็เพราะถมดิน มันกินกันง่าย เวลาของท่านรัฐมนตรีก็เหลือน้อย ถ้าจะกินทั้งถมดินและก่อสร้างก็คงจะไม่ทันการ ก็ถมไปก่อนทุกโครงการเลยหยิบชิ้นปลามันไปกินก่อนแบบเร็ว ๆ ให้ทันสมัยนี้ จะได้ก่อสร้างหรือไม่ไว้ค่อยว่ากันอีกที”

ณัฐชา ยังกล่าวอีกว่า แผนกินเหนือเมฆของ จุติ และขบวนการไม่ได้มีเพียงการกินรายโครงการเท่านั้น แต่ยังไกลถึงการกินรวบและกินยาวผ่านการรวบรวมขุมทรัพย์ทั้งหมดของการเคหะมาไว้ที่บริษัทลูกเพียงแห่งเดียว เพื่อสามารถรับงานได้ทั้งหมด ตั้งแต่รับเหมาก่อสร้างไปจนถึงการดูแลผลประโยชน์เก็บค่าเช่าด่างๆ แล้วดันเข้าตลาดหุ้น เพื่อให้ตัวเองหรือเครือข่ายสามารถเข้าไปถือหุ้นและหาประโยชน์ได้แม้ว่าจะหมดวาระการเป็นรัฐมนตรีไปแล้ว เพราะโครงข่ายของตนเองยังคงอยู่หรือจะมีอิทธิพลต่อไปในบอร์ดการเคหะ

ณัฐชา อธิบายต่อไปว่า เดิมที่แผนนี้ จุดิ ต้องการทำผ่าน บริษัท จัดการทรัพย์สินและชุมชน จำกัด หรือ เซ็มโก้ (CEMCO) ซึ่งเป็นบริษัทลูกที่มีอยู่แล้ว เพื่อแต่งตัวนำเข้าตลาดหุ้น จึงได้ปั่นตัวเลขจากการนำไปรับเหมาถมดินในโครงการเคหะสุขประชา ทั้งที่ไม่สามารถทำได้ตามกฎหมาย ทำให้เฉพาะปี 63 ปีเดียว บริษัทนี้รับงานขุดดินทำรายได้ไป 821 ล้านบาท โดยไม่ต้องผ่าน e-bidding บิดอย่างเดียวคือบิดเบือนกฎหมายให้ตัวเองได้ประโยชน์

“การเคหะอ้างว่า ตัวเองถือหุ้นเซ็มโก้ มากกว่า 25% เลยเข้าข้อยกเว้นตาม พ.ร.บ. จัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ประกอบกฎกระทรวงปี 61 ให้สามารถจ้างบริษัทเซ็มโก้แบบเฉพาะเจาะจงได้ ซึ่งมีลักษณะตีความกฎหมายอย่างศรีธนญชัย เพราะการที่กฎหมายอนุญาตให้รัฐวิสาหกิจจ้าง บริษัทลูก ได้แบบเฉพาะเจาะจง ต้องเป็นการจ้างในกรณีที่บริษัทลูกมีวัตถุประสงค์ในการก่อตั้งตรงตามเนื้อหาของงานที่จะจ้าง พูดแบบชาวบ้านก็คือ จะจ้างบริษัทลูกแบบเฉพาะเจาะจงได้ ก็ต่อเมื่อเป็นงานที่บริษัทลูกทำเองอยู่แล้วจริง ๆ ไม่ใช่จ้างบริษัทลูกที่ต้องไปจ้างช่วงบริษัทอื่นกินหัวคิวต่อ”

ทั้งนี้ ณัฐชา กล่าวว่า เซ็มโก้ตั้งตามมติ ครม. เมื่อปี 2537 ไม่เคยรับงานก่อสร้างถมดินมาก่อน ไม่มีทั้งวิศวกร บุคลากร หรือเครื่องมือ เพราะวัตถุประสงค์ที่ตั้งบริษัทเพียงเพื่อดูแลนิติบุคคลหมู่บ้าน คอนโด คอยเป็นตัวแทนเก็บค่าเช่าค่าส่วนกลางให้กับการเคหะแห่งชาติเท่านั้น เรื่องนี้ทำให้ ผู้ว่าการเคหะคนใหม่ที่มาจากเครื่อข่ายของจุติไปสั่งแก้ระเบียบให้ไม่ต้องมีผลงานก่อสร้างมาก่อนก็รับได้ แถมยังให้เข็มโก้ จะรับงานการเคหะพร้อมกันกี่ร้อยสัญญาก็ได้ ไม่ถูกจำกัดไว้ที่ 3 สัญญา เหมือนผู้รับเหมารายอื่น นอกจากนี้ ยังให้เซ็มโก้เบิกเงินล่วงหน้าได้ 15% ก่อนส่งงวดงาน ถึงขนาดนี้แล้ว สุดท้าย เซ็มโก้ก็ต้องไปจ้างช่วง บริษัทรับเหมาเจ้าอื่นมาทำงานแทนให้อยู่ดี

“แบบนี้จะจ้าง เซ็มโก้ ไปห้กหัวคิวทำไม ทำไมไม่ไปจ้างบริษัท ที่เขาทำงานถมดินจริง ๆ ตั้งแต่แรก ก็จะประหยัดงบประมาณแผ่นดินไปได้ ไม่ต้องผลาญภาษีพี่น้องประชาชน ไปให้บริษัทจำกัด ความจริงแล้วเรื่องนี้ มันเป็นคอมมอนเซนส์ว่า จะให้บริษัทลูกอย่างเซ็มโก้ที่ไม่ได้มีความเกี่ยวข้อง ไม่ได้มีความชำนาญใด ๆ กับการก่อสร้างถมดิน มารับงานถมดินมูลค่าเกือบพันล้านจากการเคหะแห่งชาติโดยไม่ต้องประมูลแข่งกับเอกชนรายอื่น ได้อย่างไร ซึ่งขัดกับหลักการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ที่ต้องคุ้มค่า โปร่งใส มีประสิทธิภาพ และตรวจสอบได้ เรื่องนี้ คงปล่อยผ่านไม่ได้ หลังจบการอภิปราย คงต้องทำเรื่องยื่นต่อ ปปช. ตรวจสอบต่อไป”

อย่างไรก็ตาม ณัฐชา กล่าวว่า ด้วยกระบวนการปั้นตัวเลขแบบนี้ แม้เบื้องต้นแผนเอาเซ็มโก้เข้าตลาดเหมือนจะเดินไปได้ด้วยดี แต่สุดท้ายผู้ถือหุ้นของบริษัทเซ็มโก๋ไม่เอาด้วย จึงนำไปสู่มหากาพย์เรื่องต่อไป นั่นคือการดึงโครงการเคหะสุขประชา ออกจากเซ็มโก้มาอยู่ที่ ‘บมจ.เคหะสุขประชา’ บริษัทที่ตั้งขึ้นใหม่เพื่อมารับบทบาทแทนบริษัทเข็มโก้ โดยจดวัตถุประสงค์ให้รับงานก่อสร้างได้และสามารถรับจ้างแบบเฉพาะเจาะจงได้เลย

ณัฐชา ชี้ว่า หนึ่งในผู้มีบทบาทสำคัญในแผนกินเหนือเมฆครั้งนี้ คือ นาย จรร. คนสนิทของ จุติ ที่มีชื่อเสียงในวงการการเงิน ว่าเป็นมือปั่นหุ้นและเป็นคนนำบริษัทหลายๆบริษัทเข้าตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งบุคคลเดียวกันนี้ เคยมีประเด็นเป็นที่เพงเล็งของ กลต. ในสมัยที่ จุติ เคยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงไอซีที ปี 53 โดยดำรงตำแหน่งเป็นที่ปรึกษา คดีนั้น จุติ ถูกกล่าวหาว่ามีปัญหาพัวพันเรื่องการทุจริต ประมูล 3จี แต่รอดมาได้อย่างหวุดหวิดด้วยการโยนทุกอย่างให้บอร์ดรับไป ดังนั้น กระบวนการหาประโยชน์จากการเคหะฯ ครั้งนี้จะต้องไม่จบลงด้วยการอ้างว่าเป็นเรื่องของบอร์ดอีก เพราะ นาย จรร. และบุคคลจำนวนหนึ่งที่อยู่ในบอร์ดล้วนเป็นคนที่ จุติ ตั้งเข้ามาเพื่อขับเคลื่อนแผนกินยาวของตนเองทั้งสิ้น

ณัฐชา กล่าวว่า เพื่อดำเนินการตามแผนการในการจัดตั้งบริษัทใหม่ทันที จุดิ สั่งให้มีการแจกแจงสินทรัพย์ทั้งหมดของการเคหะแห่งชาติออกมา เพื่อเลือกหยิบเฉพาะชิ้นงามๆ เตรียมการยักย้ายถ่ายโอนไปบริษัทแห่งใหม่ ซึ่งแท้จริงแล้วคือการปั่นหุ้น สร้างสตอรี่วาดฝันสวยหรูแบบไม่เสียชื่อนักปั่นหุ้น “รายได้คาดการณ์ไว้ถึง 120,000 ล้าน ครึ่งนึงมาจากไปล็อกงานก่อสร้าง 100,000 ยูนิต มาจากการเคหะ อีก 1 ใน 4 มาจากรายได้พัฒนาเศรษฐกิจให้ชุมชน เลี้ยงไก่ เลี้ยงปลา ปลูกเมล่อน พับฤงกล้วยแขกขาย โนกันว่าจะทำเงินได้ปีละ 2,000 ล้าน 10 ปี 20,000กว่าล้าน มันจะเป็นไปได้ยังไง ที่มันบ้าไปกว่าการพับถุงกล้วยแขก 20,000 ล้าน คือความพยายามในการหากำไรจากคนจน โครงการที่อยู่อาศัยเพื่อผู้มีรายได้น้อย แต่ปั่นตัวเลขว่าจะทำกำไรสูงถึง 13% แบบนี้คือจะไปรีดเงินจากพี่น้องประชาชนคนจนในประเทศนี้ จิตใจท่านทำด้วยอะไร เป็นสิ่งที่ขัดแย้งกันเห็นๆ ที่ทำไปนี่มีเหตุผลเดียว คือ สร้างสตอรี่ไว้ ปั่นหุ้น คือ หนทางนำไปสู่การกินยาว ๆ แม้ รัฐมนตรีจุติ จะไม่ได้อยู่ในตำแหน่งรมต.อีกต่อไป”

ณัฐชา กล่าวต่อไปว่า ภาพสุดท้ายของสิ่งที่เกิดขึ้นสำหรับมหากาพย์ เรื่องนี้ คือภาพเดียวกับการที่เซ็มโก๋ได้รับประเคนงานถมดินบวกก่อสร้าง เพื่อกินหัวคิวล็อตใหญ่ ซึ่งในขณะนี้ ล่าสุด บมจ.เคหะสุขประชา กำลังเปิดลงทะเบียนผู้รับเหมา รับงานก่อสร้าง ที่จะเอาโครงการก่อสร้างมาจากการเคหะ พูดง่ายๆก็คือ รับงนมาจ้างช่วงให้บริษัท หรือ หจก. ที่ทำธุรกิจรับเหมาก่อสร้างตามจังหวัดต่าง ๆ เป็นคนก่อสร้างอีกต่อหนึ่ง แต่แทนที่จะะมารับงานกับการเคหะโดยตรง ก็ไปบิดงานกันที่ บมจ. การเคหะก็ต้องจ่ายเงินแพงขึ้น แต่กำไรลดลง เพื่อให้ บมจ. ใหม่ เป็นตัวกลางแห่งการกินหัวคิวอย่างเป็นขบวนการในทุกโครงการก่อสร้างของการเคหะฯ

ณัฐชา ยังได้กล่าวทิ้งท้ายว่า บมจ.เคหะสุขประชา ไม่เพียงดั้งขึ้นเพื่อหาประโยชน์จากหัวคิวแล้ว ยังทำตัวเป็นภาระให้ลูกหลานในอนาคตด้วย โดยมีการร่างข้อบังคับการคหะแห่งชาติ ว่าด้วยการ ให้ความช่วยเหลือทางการเงิน แก่บริษัทในเครือของการเคหะแห่งชาติ เพื่อเป็นการอนุญาตให้การเคหะแห่งชาติสามารถค้ำประกันเงินกู้ของ บมจ. เคหะสุขประชา ได้ ซึ่งเวลานี้เฉพาะหนี้สินของการเคหะปาเข้าไป 40,000 ล้านแล้ว และนี้ของรัฐวิสาหกิจจะถูกนับเป็นหนี้สาธารณะ ดังนั้น การเข้าไปค้ำเงินกู้ให้กับ บมจ.ใหม่นี้ จึงเท่ากับว่าจะเพิ่มหนี้รายหัวต่อประชากรที่จะส่งผ่านไปถึงลูกหลาน โดยบริษัทใหม่มีแผนธุรกิจจะสร้างหนี้อีก 60,000 ล้านบาท ซึ่งร่างข้อบังคับนี้ ครม. มีมติเห็นชอบไปเมื่อวันที่ 24พฤศจิกายน 2564 หรือไม่ถึง 1 เดือน หลังจากที่มีมติเห็นชอบ ให้ตั้งบมจ.เคหะสุขประชา

“คนที่บอกว่าไม่ควรผ่านร่างข้อบังคับนี้ ไม่ใช่แค่ผมคนเดียว ท่านรัฐมนตรีอาคม เติมพิทยาไพสิฐ ท่ารัฐมนตรีว่าการ กระทรวงการคลังได้ให้ความเห็น ร่างข้อบังคับการเคหะแห่งชาติฉบับนี้ไว้ว่า เห็นว่า กคช.ยังไม่มีความจำเป็นในการออกข้อบังคับดังกล่าว .เห็นควรให้ กคช.กำกับดูแลการดำเนินงานของบริษัทในเครือให้สามารถเลี้ยงตัวเองได้ และไม่เป้นภาระกับ กคช. ขนาดรัฐมนตรีร่วมรัฐบาลของท่านยังส่ายหัวไม่เอา แล้วรัฐมนตรีจุติจะเอาไงต่อไป ทั้งโครงการ ทั้ง บริษัท ยังจะดันต่อหรือไม่”

ณัฐชา กล่าวว่า โครงการเคหะสุขประชา คือ จุดเริ่มของการเขียน Storyเพื่อเป็นข้ออ้างในการก่อตั้ง บมจ. เคหะสุขประชา ไว้เป็นสถานที่ต่อรองผลประโยชน์ รับงานมาขายให้ผู้รับเหมารายอื่น หักหัวคิว กินกันในหมู่ผู้บริหารและผู้ถือหุ้น หรือต่อให้โครงการเคหะสุขประชาล้มเหลว ทำไม่ได้จริง มีแต่ถมดินดังที่ตนตั้งข้อสังเกตไว้ แต่ก็จะทำให้ บมจ.เคหะสุขประชา มีข้ออ้างในการได้ระดมทุน เพื่อเข้าตลาดหลักทรัพย์ รับเอาสินทรัพย์ของการเคหะมาบริหารมาปั้นตัวเลข ปั่นหุ้นขาย รวยเละ บนหนี้สาธารณะของพี่น้องประชาชนที่รออยู่