นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รองประธานยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทย ด้านเศรษฐกิจ กล่าวว่า เป็นประจำทุกปีที่จะคาดการณ์เศรษฐกิจ โดยเศรษฐกิจไทยในปี 2565 เชื่อว่าจะหนักหนาสาหัสแบบสุดๆ ถึงขนาด “ฟื้นไม่มี หนีไม่พ้น” และคาดว่า “งบประมาณจะมีปัญหา รายได้ลด หนี้มีแต่จะเพิ่ม ว่างงานพุ่ง พลเอกประยุทธ์จะอยู่ยาก” ทั้งนี้ ที่บอกว่า “ฟื้นไม่มี” เพราะในปี 2565 เศรษฐกิจไทยโดยรวมจะยังติดลบและหยุดนิ่งเป็นปีที่สามติดต่อกัน จากปี 2563 ที่ติดลบ -6.1% ปี 2564 จะขยายได้น่าจะไม่ถึง 1% และ ปี 2565 นี้น่าจะขยายได้ประมาณ 3% เท่านั้น ซึ่งรวม 3 ปีแล้วก็ยังต่ำกว่าที่ตกลงมา ประเทศอื่นเขาเดินไปข้างหน้าไกลแล้ว แต่ 3 ปี ประเทศไทยยังถอยหลังติดลบอยู่ รายได้โดยรวมของคนไทยยังลดลง แล้วคนไทยจะมีความสุขได้อย่างไร อีกทั้งการปิดรับนักท่องเที่ยวในปัจจุบันยังไม่ทราบว่าจะเปิดรับนักท่องเที่ยวได้อีกเมื่อไหร่ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยอย่างต่อเนื่องในปีนี้
และที่จะ “หนีไม่พ้น” นี้คือ ปัญหาเศรษฐกิจที่ตกต่ำและติดลบนี้ จะทำให้หนี้พุ่งขึ้นไม่หยุด เพราะไม่มีรายได้เพียงพอที่จะใช้หนี้ได้ ไม่ว่าจะเป็นหนี้สาธารณะของรัฐบาล หนี้ครัวเรือนของประชาชน หนี้ธุรกิจที่เจ๊งกันมาตลอด หนี้เสียและหนี้เสี่ยงที่จะเสียในระบบธนาคาร และ หนี้นอกระบบ ซึ่งจะทำให้หนี้เหล่านี้ที่สูงอยู่แล้วต้องพุ่งสูงขึ้นอีก ซึ่งจะเป็นเหมือนระเบิดเวลารอจะประทุได้ตลอดเวลา แต่พลเอกประยุทธ์กลับทำเหมือนทองไม่รู้ร้อน ยังคงออกมาตรการแจกเงินสะเปะสะปะอย่างต่อเนื่อง ทั้งที่ทำมาหลายปีเศรษฐกิจไทยก็ไม่ได้ดีขึ้นเหมือนตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ คนจนจริงลำบากจริงกลับเข้าไม่ถึงและไม่ได้ประโยชน์
อีกทั้งหนี้สาธารณะพุ่งกระฉูดแต่โครงสร้างพื้นฐานของประเทศกลับเสื่อมลง รถไฟความเร็วสูงของไทยถูกประเทศลาวแซงไปแล้ว การศึกษาไทยอยู่อันดับท้ายๆในอาเซียน ไทยไม่สามารถมีบริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่ได้ ระบบบริหารจัดการน้ำยังเป็นปัญหา ปริมาณฝุ่น PM 2.5 ที่เพิ่มขึ้นทุกปี และโอกาสหารายได้ในอนาคตของประเทศและของประชาชนกลับลดลงเรื่อยๆ จนไม่เห็นอนาคต ตลอด 7 ปี ประเทศไทยย่ำแย่ลงเรื่อยๆ เหมือนฉายาที่สื่อตั้งว่า “ชำรุดยุทธ์โทรม” โดยยังไม่เห็นว่าจะฟื้นกลับมาได้อย่างไร ดังนั้น จึง “หนีไม่พ้น” ที่พลเอกประยุทธ์จะอยู่ในตำแหน่งต่อไปได้ยากในปีนี้ จากปัญหาเศรษฐกิจที่ทรุดหนักรุมเร้า ปัญหาความแตกแยกในพรรคพลังประชารัฐเอง ปัญหาข้อจำกัด 8 ปีในการอยู่ในตำแหน่งตามรัฐธรรมนูญ และปัญหาอื่นๆที่จะตามมาอีกมาก
ทั้งนี้ อยากชี้ปัญหาทางเศรษฐกิจที่พลเอกประยุทธ์จะต้องเผชิญ และเตรียมรับมือ 8 ปัญหาหลัก ดังนี้
- ปัญหาการระบาดของไวรัสโอมิครอน และ โอกาสที่จะเกิดซูนามิของไวรัสโควิดทั้งสายพันธุ์โอมิครอนและสายพันธุ์เดลต้าพร้อมกัน ตามคำเตือนขององค์กรอนามัยโลก (WHO) โดยหวังว่าจะไม่เกิดการกลายพันธุ์เพิ่มขึ้นอีก ซึ่งจะส่งผลต่อเศรษฐกิจไทยอย่างรุนแรงและต่อเนื่อง โดยหวังว่าวิกฤตไวรัสโควิดจะจบกลางปีนี้จริงตามการคาดหมาย มิเช่นนั้นเศรษฐกิจไทยอาจจะขยายตัวต่ำกว่าที่คาดการณ์มาก
- ปัญหาเงินเฟ้อของโลกซึ่งจะส่งผลกระทบมาถึงไทย โดยเฉพาะเงินเฟ้อในประเทศสหรัฐอเมริกา นอกจากจะเกิดจากเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวเร็วแล้ว ยังเกิดจากราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้น อีกทั้งปัญหาห่วงโซ่อุปทาน (Supply chain) ที่ทำให้สินค้าขาดแคลนและมีราคาสูง โดยเฉพาะชิป ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ อีกทั้งระบบการขนส่งขาดแคลน และ ค่าขนส่งที่เพิ่มขึ้นสูง จะส่งผลกระทบเพิ่มภาระต่อคนไทยที่ต้องมีค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้น ในขณะที่รายได้ไม่เพิ่ม
- ปัญหาอัตราดอกเบี้ยที่จะเพิ่มขึ้น จากภาวะเงินเฟ้อ โดยแนวโน้มสหรัฐอเมริกาจะขึ้นดอกเบี้ยในกลางปีนี้และอาจจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยมีแนวโน้มที่อัตราดอกเบี้ยจะเพิ่มขึ้นถึง 1.5% ภายในสิ้นปี 2566 ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยอย่างมาก เนื่องจากเศรษฐกิจไทยยังไม่ฟื้น แต่ไทยคงต้องขึ้นดอกเบี้ยตามสหรัฐ ซึ่งจะทำให้หนี้ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนเพิ่มสูงขึ้นมาก มีภาระต้นทุนทางการเงินมากขึ้น จะส่งผลให้เกิดหนี้เสียเพิ่มมากขึ้น
- ปัญหาการขาดดุลแฝด (Twin Deficits) คือการขาดดุลงบประมาณ และ การขาดดุลบัญชีเดินสะพัด ซึ่งเป็นปัญหาสืบเนื่องจากปีที่แล้ว ที่รัฐบาลต้องใช้เงินจำนวนมากทำให้ขาดดุลงบประมาณสูง อีกทั้งยังขาดดุลบัญชีเดินสะพัดที่แม้การส่งออกจะเพิ่มสูงแต่ก็ไม่ได้ช่วยมากนัก เพราะการนำเข้าก็สูงขึ้นด้วย โดยเฉพาะยอดเงินการนำเข้าน้ำมันที่มีราคาสูงขึ้นมาก โดยใน 11 เดือนไทยต้องจ่ายค่านำเข้าน้ำมันแพงมากขึ้นถึง 412,186 ล้านบาท หรือ เพิ่มขึ้น 54.9% จากปีที่แล้ว อีกทั้งรายได้จากการท่องเที่ยวขาดหายไปเกือบหมด ดังนั้น ไทยจึงมีรายจ่ายในเงินตราต่างประเทศมากกว่ารายรับทำให้ขาดดุลบัญชีเดินสะพัด ซึ่งหากต้องปิดรับนักท่องเที่ยวนานปัญหาการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดจะยังคงเป็นปัญหาหนัก
- ปัญหาการจัดทำงบประมาณ ทั้งนี้ประเทศไทยต้องจัดทำงบประมาณลดลงในปี 2565 เนื่องจากเก็บรายได้ได้น้อยลง ซึ่งถึอเป็นความเสื่อมถอยของประเทศที่ควรจะต้องจัดงบประมาณเพิ่มขึ้นทุกปี การจัดงบประมาณในปี 2566 ก็จะเป็นปัญหาอีก เพราะการจัดเก็บรายได้ในปี 2564 พลาดเป้าไปถึง 3.07 แสนล้านบาท ซึ่งจะเป็นการถดถอยของประเทศอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งรัฐบาลจะประสบปัญหาการกู้เงินนอกงบประมาณเพิ่มเพราะแม้จะเพิ่มเพดานเงินกู้จาก 60% เป็น 70% แต่ก็อาจจะยังไม่พอ ถ้ารัฐบาลยังหารายได้ไม่เป็น ใช้งบประมาณแล้วเพิ่มจีดีพีไม่ได้ คิดได้แค่การกู้เงินมาแจกเท่านั้น นอกจากนี้ในภาวะที่คนไทยลำบากกันอย่างมากทั้งประเทศ แต่พลเอกประยุทธ์ยังคิดจะซื้อเครื่องบินรบ F35 กันอีก เหมือนไม่สนใจความทุกข์ของประชาชนเลย
- ปัญหาหนี้ที่เพิ่มสูง ทั้งหนี้ภาครัฐ และ หนี้ภาคเอกชน เหมือนที่เตือนมาตลอดและบอกเสมอว่าไทยจะเจอกับ “ประเทศหนี้ล้น ประชาชนหนี้ท่วม” โดยล่าสุดหนี้สาธารณะของไทยพุ่งขึ้นถึง 9.62 ล้านล้านบาท โดยอีกไม่นานคงจะทะลุ 10 ล้านล้านบาท หนี้ครัวเรือนทะลุ 14.35 ล้านล้านบาท ซึ่งพลเอกประยุทธ์ไม่รู้จะแก้ไขอย่างไร เพราะขาดแนวคิด ไม่มีความรู้ความสามารถในเรื่องนี้ ขนาดในภาวะเศรษฐกิจโลกที่ดี อัตราดอกเบี้ยต่ำ ราคาน้ำมันถูก เงินเฟ้อต่ำ พลเอกประยุทธ์ยังไม่สามารถทำให้เศรษฐกิจไทยดีได้ แต่ต่อไปนี้จะเจอกับปัญหาทางเศรษฐกิจอีกมาก พลเอกประยุทธ์จะไม่มีทางแก้ไขได้เลย ยิ่งถ้าดอกเบี้ยจะขึ้นตามกระแสโลกปัญหาหนี้เสียจะยิ่งเพิ่มมากขึ้น และจะเป็นปัญหาหนักของไทยในอนาคต
- ปัญหาการไร้ทิศทางเศรษฐกิจของไทย โดยประเทศไทยภายใต้การบริหารของพลเอกประยุทธ์ยังหาตัวเองไม่พบว่าจะเป็นอย่างไร จะขยายตัวในอนาคตต่อในด้านไหน อะไรจะเป็นเครื่องจักรของการเจริญเติบโต (Growth Engines)ในอนาคต ซึ่งจะทำให้ประเทศไทยเสื่อมลงเรื่อยๆ ยิ่งนานไปไทยจะถูกประเทศอื่นแซงไปและแย่งธุรกิจไปเรื่อยๆ
- ปัญหาการว่างงานที่จะเพิ่มสูงขึ้นอีก โดยล่าสุดตัวเลขคนว่างงานมีถึง 8.7 แสนคน ซึ่งสูงที่สุดในรอบ 20 ปี ซึ่งความจริงอาจจะว่างงานสูงมากกว่านี้มาก โดยอาจถึงกว่าหลายล้านคน เป็นผลมาจากเศรษฐกิจไทยที่ขยายตัวตำ่มาตลอด การจ้างงานจึงมีน้อย พลเอกประยุทธ์สร้างงานน้อยมากในตลอด 7 ปี อีกทั้ง บริษัทห้างร้านขาดทุนหนักต้องปิดตัวกันมาก การแจกเงินไม่ได้ทำให้เกิดการจ้างงาน
ทั้ง 8 ปัญหานี้เป็นปัญหาที่ใหญ่มากและมีความเชื่อมโยงกัน และ ต้องเข้าใจและหาทางแก้ไขและรับมือไปพร้อมกัน ซึ่งเชื่อว่าพลเอกประยุทธ์ไม่น่าจะไม่รู้และไม่เข้าใจปัญหา ซึ่งหากไม่รู้ปัญหาแล้วจะแก้ปัญหาได้อย่างไร ขนาดในสภาวะเศรษฐกิจโดยรวมที่ดี พลเอกประยุทธ์ยังบริหารได้ล้มเหลว ดังนั้น จึงไม่อยากให้พลเอกประยุทธ์ต้องดันทุรังอีกต่อไป เพราะจะไม่มีทางแก้ปัญหาได้ แต่จะยิ่งเพิ่มปัญหาให้กับประเทศมากขึ้น ยิ่งอยู่นานประชาชนจะยิ่งลำบากมากขึ้น