เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2564 ที่อาคารรัฐสภา นพ.วาโย อัศวรุ่งเรือง และนายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล ร่วมการอภิปรายไม่ไว้วางใจ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ที่บริหารจัดการวัคซีนและสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ผิดพลาด จนนำความเสียหายมาสู่ประเทศชาติและประชาชน
.
*** “วาโย” เปิดงานวิจัยระดับโลกอัดรัฐ รู้ดีว่าซิโนแวครับมือเดลต้าไม่ได้ แต่ยังดึงดันสั่ง ไม่ฟังคำเตือนแม้จากคนใกล้ตัว***
.
นพ.วาโย ได้อภิปรายถึงกรณีการจัดซื้อวัคซีนซิโนแวคของรัฐบาลว่าเป็นการจงใจจัดซื้อ ทั้งที่รู้อยู่แล้วว่าไม่มีประสิทธิภาพในการป้องกันเชื้อโควิดสายพันธุ์เดลต้า ที่กำลังเป็นสายพันธุ์หลักที่ระบาดอยู่ในประเทศไทยขณะนี้
.
นพ.วาโย ได้ยกเอาผลการวิจัยโดยวารสารทางวิชาการที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล งานวิจัยในประเทศไทยที่ได้ตีพิมพ์ในวารสารวิชาการระดับสากล และความเห็นของผู้เชี่ยวชาญมาชี้ให้เห็นว่า วัคซีนซิโนแวคนั้นมีประสิทธิภาพที่ต่ำกว่าวัคซีนแอสตร้าเซเนก้า ที่มีประสิทธิภาพต่อสายพันธุ์เดลต้า 67 เปอร์เซ็นต์ และไฟเซอร์ที่มีประสิทธิภาพต่อสายพันธุ์เดลต้าอยู่ที่80 เปอร์เซ็นต์ โดยวัคซีนซิโนแวคมีใช้ได้ผลกับสายพันธุ์เดลต้าเพียงแค่ 48 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น
.
นพ.วาโย ยังระบุอีกว่า ผู้เชี่ยวชาญอย่าง ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์วัฒนาภา ก็ยังเคยระบุไว้ในการสนทนาบน Clubhouse วันที่ 16 กรกฎาคม 2564 เอง ว่าการระบาดในประเทศไทยวันนั้นเป็นสายพันธุ์เดลต้าอยู่ถึง 50 เปอร์เซ็นต์แล้ว คนที่ได้วัคซีนแบบเชื้อตายสองเข็ม น่าจะจำเป็นต้องได้รับวัคซีนบูสเตอร์ และจะต้องได้รับเพียงสองชนิดเท่านั้น คือ mRNA หรือ Viral Vector และไม่ควรสั่งซื้อซิโนแวคเข้ามาเพิ่มแล้ว
.
อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2564 รัฐบาลก็ยังสั่งซื้อซิโนแวคเพิ่มอีก 12 ล้านโดส โดยให้เหตุผลว่า ความต้องการวัคซีนในประเทศไทย ต้องได้เดือนหนึ่งประมาณ 15 ล้านโดส แต่แอสตร้าเซเนก้าจะส่งมอบให้ได้เพียง 5-6 ล้านโดส จึงต้องสั่งเอาไว้เสริมเพื่อให้ครบเดือนละประมาณ 10 ล้านโดส
.
ส่วนเหตุผลที่สอง คือการอ้างอิงถึงงานวิจัยการฉีดวัคซีนสูตรซิโนแวคตามด้วยแอสตร้าเซเนก้าโดยศูนย์วิจัยคลินิก คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล ที่ปรากฏออกมา 4 สไลด์ ซึ่งนพ.วาโย ตั้งข้อสังเกต ว่า งานวิจัยโดยศิริราชมีกลุ่มตัวอย่างร่วมวิจัยเพียงหลักสิบเท่านั้น เมื่อเทียบกับงานวิจัยในระดับสากลที่ใช้กลุ่มตัวอย่างถึงหลักหมื่น
.
ปัญหาก็คือกลุ่มตัวอย่างยิ่งน้อย ความแปรปรวนก็ยิ่งสูง อีกทั้งเป็นงานวิจัยที่ยังไม่ผ่านการตรวจทานอย่างเข้มข้น (peer review) โดยคณะแพทย์และคณะนักวิจัยเชี่ยวชาญ ยังไม่ได้รับการตีพิมพ์หรือเผยแพร่ตามหลักวิชาการสากล และวิธีการทำงานวิจัย (methodology) ก็ยังไม่ได้ถูกเผยแพร่ด้วย
.
“แต่รัฐกำลังจะตีขลุม เอางานแบบนี้ไปใช้ออกนโยบาย ใช้ข้อมูลจาก 4 สไลด์ไปออกนโยบายระดับชาติ ซึ่งส่งผลกระทบกับชีวิตของประชาชนเกือบ 70 ล้านคน แล้วโยนความผิดบาปให้กับทางศิริราช สิ่งนี้ผมไม่เห็นด้วย” นพ.วาโยกล่าว
.
นพ.วาโย อภิปรายต่อว่า การแพร่ระบาดของสายพันธุ์เดลต้าที่เริ่มต้นขึ้นเมื่อเดือนเมษายน เคยมีทั้งผู้เชี่ยวชาญที่เป็นกลางและจากฝั่งรัฐบาล ทั้งนพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา และนพ.ปิยะสกลสกลสัตยาธร ออกมาเตือนตั้งแต่ช่วงปลายเดือนมิถุนายนแล้วว่าเดลต้าจะกลายมาเป็นสายพันธุ์หลักที่ระบาดในประเทศไทยแต่รัฐบาลกลับยังคงสั่งซื้อซิโนแวคเพิ่ม ในวันที่ 6 กรกฎาคม10.9 ล้านโดส และวันที่ 16 สิงหาคม 12 ล้านโดส ทั้งที่ได้รับการยืนยันจากงานวิชาการระดับสากลแล้ว ว่ามีประสิทธิภาพไม่มากพอที่จะรับมือกับสายพันธุ์เดลต้าได้
.
นพ.วาโยกล่าวว่า การอ้างว่ารัฐบาลไม่ทราบนั้นไม่น่าเชื่อถือเพราะผู้ที่ออกมาเตือนล้วนเป็นบุคคลที่รายล้อมทั้งพล.อ.ประยุทธ์ และนายอนุทินทั้งสิ้น การสั่งซื้อในเดือนกรกฎาคม อาจจะบอกได้บอกว่าเพราะข้อมูลยังไม่พอยืนยันว่าซิโนแวคไม่มีประสิทธิภาพต่อเชื้อเดลต้า เป็นเรื่องที่ยังพอรับฟังได้ เพราะวารสารวิชาการที่ออกมายืนยันเรื่องนี้ ออกมาเมื่อวันที่ 9 สิงหาคม
.
“แต่การที่วันที่ 16 สิงหาคม รัฐบาลยังคงดื้อดึงสั่งซื้อซิโนแวคเพิ่มอีก 12 ล้านโดส ในวันที่ 90 กว่าเปอร์เซ็นต์ของการระบาดในประเทศไทยเป็นสายพันธุ์เดลต้าไปแล้ว แปลว่าท่านได้ซื้อวัคซีนที่ไม่มีประสิทธิภาพกับสายพันธุ์ของเชื้อโรคที่ระบาดอยู่ในประเทศไทย โดยที่ท่านรู้หรือควรจะต้องรู้อยู่แล้วว่ามันไม่ได้ผล และไม่มีพยานหลักฐานอะไรใด ๆ เลยที่จะมาสนับสนุน ว่าท่านจะสามารถใช้ซิโนแวคแบบใดให้มีประสิทธิภาพ” นพ.วาโยกล่าว
.
*** เปิดข้อกฎหมาย ชี้ “อนุทิน” ต้องร่วมรับผิด–อ้างไร้อำนาจไม่ได้ เหตุ “ประยุทธ์” ทอนอำนาจคืนแล้ว ***
.
นพ.วาโยยังอภิปราย ชี้ให้เห็ว่า นายอนุทินจะต้องร่วมรับผิดชอบกับกรณีความผิดพลาดนี้ด้วย แม้นายอนุทินจะเคยบอกว่าตนไม่เคยเข้าไปเกี่ยวข้องกับเรื่องการจัดซื้อวัคซีน เพียงแค่ให้กำลังใจ ส่วนการลงนามทุกขั้นตอนเป็นการทำงานฝ่ายแพทย์แต่ในความเป็นจริง เมื่อวันที่ 27 เมษายน 2564 นายกรัฐมนตรีที่ได้ประกาศถ่ายโอนอำนาจทางกฎหมายมาไว้ที่ตัวเองรวม 31 ฉบับ โดยมี 13 ฉบับที่เกี่ยวข้องกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขนั้น แต่วันที่ 29 เมษายน 2564 นายกรัฐมนตรีได้ออกประกาศอีกฉบับคืนอำนาจบางส่วน โดยมีใจความว่า
.
1) การถ่ายโอนอำนาจ มิได้หมายถึงอำนาจทั้งหมด แต่ให้อำนาจหน้าที่อื่น ๆ โดยเฉพาะของคณะกรรมการตามกฎหมายให้ดำเนินการต่อไปตามปกติ 2) รัฐมนตรี ในฐานะที่เป็นผู้บัญชาการหรือเป็นประธานคณะกรรมการตามกฎหมาย ให้ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปตามปกติ เว้นแต่กรณีที่นายกรัฐมนตรีจะเข้าไปดำเนินการเอง และ 3) ให้หน่วยงานต้องรายงานปัญหาอุปสรรค วิธีการแก้ไขปัญหาให้ทราบทุกครั้ง ต้องติดตามตรวจสอบรายงานให้ทราบ
.
นพ.วาโย ระบุว่าเรื่องนี้มีความสำคัญมาก เพราะในการยื่นเรื่องขออนุญาต การขอขึ้นทะเบียน การนำเข้า การจัดหา การประสาน หรือติดต่อกับต่างประเทศ และการจัดสรรวัคซีนที่เกี่ยวกับโรคโควิด-19 ทั้งหมดนี้ัยังคงเป็นอำนาจหน้าที่ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขทั้งสิ้น
.
นอกจากนี้ ตาม พ.ร.บ.องค์การเภสัชกรรม มาตรา 5 ระบุว่ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเป็นผู้รักษาการ, ตามมาตรา 18 วรรค 2 คณะรัฐมนตรีทั้งคณะ ก็คือรวมถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และรัฐมนตรีกระทรวงอื่น ๆ คือผู้ที่แต่งตั้งกรรมการองค์การเภสัชกรรมเอง และในส่วนของคณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขก็เป็นผู้ดูแลรับผิดชอบในฐานะรองประธานด้วย
.
“นายอนุทิน จึงไม่ได้ถูกรวบอำนาจในส่วนนี้ เพราะประกาศของนายกรัฐมนตรี ตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินเมื่อวันที่ 9 เมษายน ได้คืนอำนาจให้รัฐมนตรีและคณะกรรมการแต่ละกฎหมายไปแล้วเพราะฉะนั้น การที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ปฏิเสธความรับผิด โดยอ้างว่าตัวเองไม่มีหน้าที่และอำนาจ เพราะถูกนายกรัฐมนตรียึดอำนาจไปหมดแล้ว เป็นเรื่องที่รับฟังไม่ได้เลย” นพ.วาโยกล่าว
.
*** โชว์กราฟเทียบ “นิวนอร์มอล” ที่แท้จริง ชี้ไทยพังพินาศทุกด้าน สาธารณสุข–เศรษฐกิจ–สังคม ห่างชั้นกระทั่งเพื่อนบ้านอาเซียน ***
.
นพ.วาโยยังได้อภิปรายต่อไป ถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการบริหารผิดพลาดของรัฐบาล เช่น อัตราการฉีดวัคซีนที่น้อยกว่าแม้กระทั่งประเทศเพื่อนบ้านอาเซียน การที่ประชากรได้รับวัคซีนสองเข็มเพียง 9.4 เปอร์เซ็นต์ และเป็นวัคซีนซิโนแวคที่ไม่สามารถป้องกันสายพันธุ์เดลต้าได้เป็นจำนวนมาก รวมถึงอัตราการติดเชื้อใหม่ ที่ประเทศไทยขึ้นไปอยู่จุดเดียวกับสหรัฐฯ และผ่านจุดที่มากกว่าสหรัฐฯ มาแล้ว รวมทั้งอัตราการเสียชีวิตที่เพิ่มขึ้น ในขณะที่ประเทศอื่นค่อย ๆ ลดลงด้วย แม้จะมีมาตรการล็อกดาวน์ที่ออกมาตั้งแต่เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม แต่ผู้ป่วยใหม่รายวันก็ยังคงพุ่งสูงขึ้น ผู้เสียชีวิตรายวันก็เพิ่มขึ้น
.
“นี่เป็นเรื่องที่น่ากลัวมาก แม้หลังการล็อกดาวน์ดูเหมือนผู้ติดเชื้อจะลดลง แต่คำถามคือนี่เป็นการลดลงที่แท้จริงหรือไม่? หรือเป็นการลดลงเพียงเพราะเราตรวจน้อยลง ได้มีการนำเอา ATK เข้ามาร่วมด้วยหรือไม่? อัตราการตายที่สูงขึ้นสวนทางกับอัตราการติดเชื้อ คือกราฟที่เรียกว่าเป็น convergence เป็นสัญญาณอันตราย และเป็นสัญญาณที่แสดงถึงความล้มเหลวของการบริหารนโยบายสาธารณสุข” นพ.วาโยกล่าว
.
นพ.วาโยยังระบุด้วย ว่าเมื่อเทียบกับประเทศอังกฤษ กราฟมีการหักออกเป็น divergence จะเห็นได้ว่าแม้จำนวนผู้ติดเชื้อรายวันยังคงเยอะอยู่ แต่ว่าอัตราการเสียชีวิตกลับน้อยลง จนเป็นเส้นที่เริ่มตีห่างออกมาจากจำนวนผู้ติดเชื้อเรื่อย ๆ
.
“นี่คือกราฟที่เป็นวิถีชีวิตแบบ “นิวนอร์มอล” อย่างแท้จริง คือทำให้ประชาชนมีภูมิคุ้มกัน ถึงแม้จะติดโควิดก็ติดไป กลายเป็นเหมือนไข้หวัดธรรมดา ก็คือติดแต่ไม่ตาย นักวิชาการหลายท่านเคยพูดมาตั้งแต่แรกแล้ว ว่ามันกลายเป็นเหมือนกับโรคไข้หวัดใหญ่ คืออาจจะมีการติดกันบ้างประปราย ในแต่ละช่วงแต่ละฤดูกาล แต่ว่าอัตราการตายจะไม่เป็นแบบที่ประเทศไทยเป็นอยู่ตอนนี้ ซึ่งเป็นผลมาจากการฉีดวัคซีนไม่มีคุณภาพและช้าเกินไปแบบที่เราทำอยู่ในปัจจุบัน” นพ.วาโยกล่าว
.
นพ.วาโยอภิปรายต่อไป ว่าข้อมูลจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ แสดงให้เห็นถึงจำนวนการตรวจหาเชื้อต่อวันและเปอร์เซ็นต์ของการตรวจพบเชื้อ ซึ่งในช่วง 2-3 สัปดาห์ที่ผ่านมา จะเห็นว่าตัวเลขการตรวจพบเชื้อพุ่งขึ้นสูงสุดอยู่ที่ประมาณ 20 เปอร์เซ็นต์
.
แม้รัฐบาลระบุว่าผู้ติดเชื้อเริ่มลดลงแล้ว แต่หากเรามาดูเส้นแนวโน้ม (trend) จะพบว่าการที่มีผู้ติดเชื้อน้อยลง เป็นผลมาจากการตรวจที่น้อยลง แม้แต่ข้อมูลของกรมควบคุมโรค ยังระบุเส้นแนวโน้มการตรวจรายวันว่าน้อยลงจริง
.
“ดังนั้น การบอกว่าแนวโน้มผู้ติดเชื้อลดลงนั้นไม่จริง เพราะถ้าแนวโน้มจะลดลงจริงกราฟจะต้องโค้งลง แต่ความชันของกราฟนี้จะเห็นได้ว่าคงที่อยู่ที่ 45 องศา และที่สำคัญเปอร์เซ็นต์การติดเชื้อยังเป็นกราฟขาขึ้นอยู่ หรืออาจจะตีความว่าคงที่ก็ได้ แต่ก็เป็นการคงที่ที่ 20 กว่าเปอร์เซ็นต์ โดยสรุป ก็คือวันนี้เรามีแนวโน้มการตรวจหาเชื้อที่ลดลง แต่อัตราการตรวจพบเชื้อยังคงมีแนวโน้มที่เพิ่มขึ้น หรือคงที่อยู่ที่ 20 เปอร์เซนต์ นี่จึงไม่ใช่แนวโน้มการติดเชื้อที่ลดลงอย่างที่รัฐบาลกล่าวอ้างเลย” นพ.วาโยกล่าว
.
*** “ประยุทธ์–อนุทิน” ต้องร่วมรับผิด คนหนึ่งไร้อำนาจแต่รวบทำเองจนผิดพลาด ส่วนอีกคนมีอำนาจแต่ไม่ทำให้ถูก ***
.
นพ.วาโย อภิปรายเป็นประเด็นสุดท้าย ถึงกรณีการรับผิดของทั้งพล.อ.ประยุทธ์ และนายอนุทิน โดยระบุว่าแม้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขปฏิเสธความรับผิดชอบ แต่หลักฐานเชิงประจักษ์ตามกฎหมายที่ตนไล่เรียงมาระบุชัดเจนว่านายอนุทินมีหน้าที่ต้องทำอยู่ นั่นแปลว่ามีหน้าที่แต่ไม่ได้ทำ ก็เท่ากับละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เข้าความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157
.
ส่วนนายกรัฐมนตรี มีความผิดสลับกัน คือเดิมทีไม่ได้มีหน้าที่แต่รวบอำนาจดึงหน้าที่มา แล้วไปสั่งวัคซีนที่ไม่มีประสิทธิภาพต่อเชื้อที่กำลังระบาดอยู่ในประเทศไทย
.
ความผิดประการแรก คือความผิดตาม พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ มาตรา 8 ที่ระบุหลักการว่าต้องคุ้มค่า โปร่งใส มีประสิทธิภาพ และตรวจสอบได้ การซื้อของที่ไม่มีประสิทธิภาพและยังไม่คุ้มค่าด้วย ถึงแม้จะโปร่งใสตรวจสอบได้ ก็มีความผิดตามมาตรา 8 และมีโทษตามมาตรา 120 พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ เพราะเป็นการจงใจซื้อวัคซีนที่รู้แล้วว่าใช้ไม่ได้นายกรัฐมนตรีจึงปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151
.
“การที่ท่านสั่งวัคซีนที่มันไม่มีประสิทธิภาพกับสายพันธุ์เดลต้าที่ระบาดอยู่ในประเทศไทย เอามาฉีดกับคนเป็นสิบ ๆ ล้านคนแล้วทำให้คนต้องตาย จากที่จริง ๆ แล้วเขาอาจจะยังไม่สมควรตาย นี่คือความผิดที่วันหนึ่ง จะต้องมีคนพาท่านไปขึ้นศาลอย่างแน่นอน ผมเชื่อว่าอย่างไรเสีย นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข จะได้รับเสียงโหวตไว้วางใจในวันนี้แต่ผู้ที่จะตัดสินเรื่องนี้จริง ๆ ไม่ใช่เพื่อนสมาชิก แต่คือประชาชนทั้งประเทศ ที่จะเป็นคนตัดสินความผิดของท่านต่อไป และปลายทางของท่านเมื่อลงจากอำนาจ ก็คงไม่ได้ไปไหนนอกจากคุกเท่านั้น” นพ.วาโยกล่าวทิ้งท้าย
.
*** “วิโรจน์” ชี้รัฐโกหกประชาชนทั้งที่รู้ – กางสัญญา AZ พบไร้กำหนดส่ง–ยอดต่อเดือน ไม่จำกัดการส่งออก ***
.
ด้านนายวิโรจน์ ได้ขึ้นอภิปรายกรณีสัญญาจัดซื้อวัคซีนแอสตร้าเซเนก้า ซึ่งไม่ใช่ความล้มเหลวที่เกิดจากความไม่รู้หรือประมาทเลินเล่อ แต่เป็นความจงใจที่ พล.อ.ประยุทธ์และนายอนุทิน ซึ่งเล็งเห็นถึงความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นกับประชาชนทั้ง 67 ล้านคนได้ล่วงหน้า แต่ก็ยังดึงดันที่จะพาประชาชนทั้งประเทศไปเสี่ยงกับความตาย
.
นายวิโรจน์ ระบุว่าเมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจที่ผ่านมา ตนได้เตือนทั้ง พล.อ.ประยุทธ์และนายอนุทิน ถึงการกระจายความเสี่ยงในการจัดหาวัคซีน ในวันนั้นนายอนุทินได้ตอบชี้แจง ว่าผู้ผลิตวัคซีนยี่ห้ออื่น ๆ ได้มาติดต่อกับรัฐบาลแล้ว และบอกว่าจะจัดส่งได้เร็วที่สุดในไตรมาส 3 ของปี 2564
.
นายอนุทิน ระบุว่าในเวลานั้นประเทศไทยจะมีวัคซีนแอสตร้าเซเนก้าที่ผลิตในประเทศไทยเต็มโรงพยาบาล เต็มแขนคนไทย จนไม่มีที่พอเก็บ แต่วันนี้ เรากลับมีแต่วัคซีนที่ไม่มีประสิทธิผลเพียงพอที่จะป้องกันเชื้อสายพันธุ์เดลต้าอย่างซิโนแวค
.
นายวิโรจน์ ระบุว่าเรื่องนี้เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นจากสัญญาที่รัฐบาลไทยทำกับบริษัทแอสตร้าเซเนก้า ซึ่งแบ่งเป็นสัญญาจัดซื้อ 26 ล้านโดส และสัญญาจัดซื้อ 35 ล้านโดส ที่ออกมาเป็นมติ ครม. ในวันที่ 5 มกราคม 2564 ซึ่งควรต้องทำสัญญาจองซื้อเรียบร้อยแล้ว หรืออย่างน้อยก็ควรต้องมีการลงนามหนังสือใดๆ แต่ครม.กลับเพิ่งให้จองซื้อวัคซีนแอสตร้าเซเนก้าเพิ่มจากล็อตแรก 26 ล้านโดส เป็น 61 ล้านโดส เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ หลังจากที่มีการอภิปรายไม่ไว้วางใจ
ต่อมา สถาบันวัคซีนแห่งชาติส่งสัญญาจัดซื้อวัคซีนแอสตร้าเซเนก้า 26 ล้านโดส ที่ลงนามเมื่อวันที่ 12 มกราคม 2564 มาให้ตนเท่านั้น แต่ไม่ได้เปิดเผยสัญญาจัดซื้ออีก 35 ล้านโดส ซึ่งเอกสารดังกล่าวล้วนเต็มไปด้วยการถมดำข้อความเอาไว้ จนในที่สุดเมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2564 หลังจากเริ่มต้นฉีดวัคซีนไปได้แค่ 6 วัน อธิบดีกรมควบคุมโรคได้ให้สัมภาษณ์ว่าตัวเลข 61 ล้านโดสเป็นเพียงศักยภาพในการฉีด ไม่ใช่จำนวนที่แอสตร้าเซเนก้าต้องส่งมอบ
.
จนเดือนมิถุนายน รัฐบาลได้รับการส่งมอบวัคซีนแอสตร้าเซเนก้าเพียง 5.1 ล้านโดส ไม่ตรงตามแผนการส่งมอบเดือนแรก6.3 ล้านโดส ทำให้มีประชาชนถูกเลื่อนการฉีดวัคซีนจนติดโควิด-19 จนเสียชีวิต และต่อมามีการเปิดเผยโดยผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ ว่าแอสตร้าเซเนก้าน่าจะส่งมอบวัคซีนให้รัฐบาลไทยได้เพียง 5-6 ล้านโดสเท่านั้น ไม่เป็นไปตามแผนการจัดหาวัคซีนที่ต้องได้รับเดือนละ 10 ล้านโดส และยังชี้แจงต่ออีกว่าในสัญญากับแอสตร้าเซเนก้า ไม่ได้ระบุไว้ว่าต้องส่งมอบเดือนละเท่าไหร่
.
“เมื่อนำไปเทียบกับสัญญาวัคซีนแอสตร้าเซเนก้าของสหภาพยุโรป เขาจะมีตารางที่ระบุประมาณการในการส่งมอบวัคซีนแต่ละเดือน ว่าจะมีการส่งมอบเท่าไรบ้าง ผมก็คาดหวังว่าสัญญาถมดำที่รัฐบาลไทยทำกับแอสตร้าเซเนก้า จะต้องมีตารางในลักษณะคล้าย ๆ กันอยู่ในนั้นแน่ ๆ แต่สุดท้ายเอกสารที่ผมได้รับมาอีกชุดหนึ่ง เมื่อเปิดออกมา กลับไม่พบตารางอะไรเลย ไม่เห็นยอดประมาณการในการส่งมอบอะไรเลย มาถึงจุดนี้ผมคิดว่าเราต้องยอมรับโดยดุษฎี ว่าสัญญาที่ พล.อ.ประยุทธ์ไปทำเอาไว้ไม่ได้มีการระบุยอดประมาณการส่งมอบวัคซีนอะไรเอาไว้เลยจริงๆ จนต้องตั้งคำถามกับ พล.อ.ประยุทธ์ ว่าไปทำสัญญาหละหลวมนี้ไว้ได้อย่างไร?” นายวิโรจน์กล่าว
.
นายวิโรจน์อภิปรายต่อไป ว่า ต่อมารัฐบาลจำใจต้องยอมรับกับประชาชนว่าการส่งมอบวัคซีนแอสตร้าเซเนก้า 61 ล้านโดส ได้ขยายกรอบเวลาในการส่งมอบไปที่ 1 พฤษภาคม 2565 โดยในสัญญาไม่ได้มีการระบุว่าต้องส่งมอบทั้ง 61 ล้านโดสภายในปี2564 และไม่มั่นใจว่าจะสามารถบังคับใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคงด้านวัคซีน ในการจำกัดการส่งออกได้หรือไม่
.
ด้านอธิบดีกรมควบคุมโรคให้สัมภาษณ์ว่าในสัญญาการส่งมอบวัคซีนแอสตร้าเซเนก้า ไม่ได้กำหนดว่าต้องส่งมอบเดือนละเท่าไหร่ แผนการจัดหาวัคซีน 61 ล้านโดสเป็นแผนที่รัฐบาลแจ้งแอสตร้าเซเนก้าไป แต่แอสตร้าเซเนก้าไม่ได้ตอบรับและไม่ได้ตอบปฏิเสธ
.
จนเอกสารหลุดออกมาปรากฏเป็นข่าวเมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม2564 ซึ่งเป็นหนังสือที่แอสตร้าเซเนก้าทำถึงนายอนุทิน ลงวันที่25 มิถุนายน 2564 เพื่อแจ้งให้ทราบว่าแอสตร้าเซเนก้าจะจัดสรรกำลังการผลิตหนึ่งในสามเพื่อส่งมอบวัคซีนให้กับรัฐบาลไทยซึ่งก็คือประมาณเดือนละ 5-6 ล้านโดส และยอดวัคซีนที่แอสตร้าเซเนก้าจะส่งมอบในตอนนี้ เป็นยอดเกือบสองเท่าจากที่รัฐบาลไทยเคยประเมินความต้องการให้กับแอสตร้าเซเนก้า ที่ประเมินว่าไทยต้องการวัคซีนเดือนละ 3 ล้านโดสเท่านั้น
.
ส่วนเอกสารยังระบุว่าสัญญาที่สั่งซื้อเพิ่มอีก 35 ล้านโดส เพิ่งลงนามเมื่อวันที่ 4 พฤษภาคมที่ผ่านมานี่เอง แล้วที่ผ่านมา รัฐบาลกล้าประชาสัมพันธ์ให้กับประชาชนทราบถึงแผนการจัดหาวัคซีนแอสตร้าเซเนก้า 61 ล้านโดสได้อย่างไร ทั้งที่ยังไม่ได้มีการลงนามจากคู่สัญญาเลย
.
*** ชี้ รัฐบาลเองเป็นคนกำหนดในสัญญา AZ ไร้เงื่อนไขจำกัดการส่งออก – เปิดฟรีสไตล์ส่งได้ถึงปีหน้า ***
.
นายวิโรจน์ยังอภิปรายต่อไป ว่าหากลองพิจารณาจากหนังสือการประชุม ศบค.วันที่ 24 สิงหาคม 2563 เพื่อใช้ประกอบการพิจารณาอุดหนุนเงินเพื่อเพิ่มศักยภาพให้กับอุตสาหกรรมการผลิตวัคซีนชนิดไวรัลเวกเตอร์ มีเงื่อนไขในการอุดหนุนว่า “เพื่อให้ประเทศไทยได้รับสิทธิในการซื้อวัคซีนที่ผลิตโดยผู้ผลิตในไทยเป็นอันดับแรกตามจำนวนที่ต้องการ”
.
อย่างไรก็ตาม มติ ครม.ในการประชุมเมื่อวันที่ 25 สิงหาคม2563 พล.อ.ประยุทธ์กลับไม่ได้ใช้เงินกู้ แต่ใช้อำนาจของตัวเองไปอนุมัติงบกลางในวงเงิน 600 ล้านบาท อุดหนุนให้กับบริษัทสยามไบโอไซเอนซ์แทน ก็เพราะใช้เงินกู้ก็ต้องยอมรับเงื่อนไขการจำกัดการส่งออกวัคซีน
.
จากนั้น ยังส่งไม้ต่อให้นายอนุทิน ไปลงนามในหนังสือแสดงเจตจำนงในการทำสัญญา (letter of intent) เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม2563 ยอมรับข้อตกลงการส่งออกโดยปราศจากข้อจำกัดกับบริษัทแอสตร้าเซเนก้าประเทศไทย
.
นี่คือเหตุผล ที่ พล.อ.ประยุทธ์และนายอนุทินมีความอ้ำอึ้ง ไม่กล้าบังคับใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคงด้านวัคซีน ในการจำกัดการส่งออกวัคซีนแอสตร้าเซเนก้าที่ผลิตในประเทศไทย เพราะตัวเองไปตกลงกับเงื่อนไขที่ยอมให้แอสตร้าเซเนก้าส่งออกวัคซีนที่ผลิตในประเทศไทยได้ โดยปราศจากข้อจำกัดไว้ตั้งแต่แรก
.
“วันนั้นนายอนุทินบอกว่า วัคซีนแอสตร้าเซเนก้าจะไม่มีทางถูกตัดคิว ไม่มีทางที่จะมีใครมาแย่ง ไม่มีวันที่จะไม่มาถึงมือของคนไทย เพราะผลิตอยู่ในประเทศไทย จึงเป็นการจงใจหลอกลวงประชาชนอย่างชัดเจน เพราะนายอนุทินรู้อยู่แก่ใจว่า รัฐบาลไม่สามารถจำกัดการส่งออกวัคซีนได้เลย” นายวิโรจน์กล่าว
.
นายวิโรจน์ยังกล่าวต่อไป ว่าเมื่อพิจารณาในสัญญาจองซื้อวัคซีน ที่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ได้ลงนามไว้กับแอสตร้าเซเนก้าประเทศไทย ในส่วนของข้อเสนอโครงการที่อยู่ในภาคผนวกโดยในหัวข้อวัตถุประสงค์เฉพาะ (specific objectives) ได้ปรากฏชื่อของบริษัทสยามไบโอไซเอนซ์ผูกพันเอาไว้ในสัญญาด้วย ซึ่งเกี่ยวข้องกับการเตรียมศักยภาพในการผลิตวัคซีนให้กับบริษัทสยามไบโอไซเอนซ์
.
หากรัฐบาลจะเติมเงื่อนไขจำกัดการส่งออกวัคซีนที่ส่งออกโดยบริษัทสยามไบโอไซเอนซ์ในสัญญาก็ย่อมทำได้ แต่รัฐบาลของพล.อ.ประยุทธ์ กลับตัดสินใจและจงใจที่จะไม่ใส่เงื่อนไขนี้ลงไปในสัญญาเอง และเท่ากับว่ารัฐบาลเอาเงินภาษีของประชาชน600 ล้านบาทไปอุดหนุนบริษัทเอกชน เพื่อให้บริษัทสยามไบโอไซเอนซ์มีศักยภาพในการผลิตวัคซีนส่งให้กับแอสตร้าเซเนก้าเท่านั้น
.
“นี่คือข้อยืนยัน ว่าสิ่งที่ พล.อ.ประยุทธ์ทำ คือการนำสถาบันพระมหากษัตริย์มาสร้างความนิยมทางการเมือง โดยไม่คำนึงถึงชีวิตของพี่น้องประชาชนคนไทยเลย โชคดีที่คุณธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ได้เตือนสติของ พล.อ.ประยุทธ์เอาไว้ ไม่เช่นนั้นแล้วถ้าปล่อยให้ พล.อ.ประยุทธ์พูดคำที่ไม่สมควรพูดซ้ำไปซ้ำมาแทนที่พล.อ.ประยุทธ์จะขอบคุณคุณธนาธร กลับนำมาตรา 112มาใช้” นายวิโรจน์กล่าว
.
*** จงใจตัดขากีดกันไฟเซอร์ ชี้ไทม์ไลน์ติดต่อมานานแล้วแต่ไม่สั่ง ต้องรอคนตายขึ้น 3 พันถึงกลับไปง้อ ***
.
นายวิโรจน์อภิปรายต่อไป ว่าในกรณีของวัคซีนไฟเซอร์ ที่มีมติครม.ให้จัดซื้อเมื่อวันที่ 20 เมษายน 2564 มีการเซ็นสัญญาเมื่อวันที่ 20 กรกฏาคม 2564 หรืออีกสามเดือนต่อมา โดยระบุว่าจะเริ่มมีการส่งมอบในปลายเดือนกันยายนนั้น
.
หากย้อนกลับไปในวันที่ 17 กุมภาพันธ์ ที่นายอนุทินกล่าวเองว่าในสัปดาห์ก่อนหน้านี้ ซึ่งน่าจะเป็นช่วงวันที่ 8-12 กุมภาพันธ์ มีผู้แทนจำหน่ายวัคซีน ซึ่งมีความเป็นไปได้ว่าจะมีผู้แทนจากไฟเซอร์ด้วย เดินทางมาพบกับนายอนุทิน
.
ถ้าในวันนั้นหรือเดือนนั้น มีมติ ครม.จัดซื้อวัคซีนจากผู้แทนจำหน่ายที่มาพบกับนายอนุทิน ภายในเวลา 5 เดือน ซึ่งก็ตรงกับที่นายอนุทินระบุว่าผู้แทนจำหน่ายเหล่านั้นจะทำการส่งมอบวัคซีนให้ประเทศไทยได้ภายในไตรมาสสาม ณ เวลานี้เราก็จะได้ไฟเซอร์เข้ามาประเทศไทยตั้งแต่เดือนกรกฎาคมแล้ว
.
“และถ้ารัฐบาลไทย โดยสถาบันวัคซีนแห่งชาติที่ติดต่อกับไฟเซอร์มาตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2563 ตัดสินใจสั่งซื้อไฟเซอร์ตั้งแต่เดือนมกราคม ในช่วงเวลาเดียวกันกับที่มีการตัดสินใจซื้อวัคซีนซิโนแวค 2 ล้านโดส ป่านนี้ในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาเราอาจจะมีวัคซีนไฟเซอร์มาถึงมือแล้วก็ได้” นายวิโรจน์กล่าว
.
*** ชี้ มุ่งกีดกันวัคซีนทุกยี่ห้อ เพราะไม่ต้องการให้ใครมาก่อนAZ-SBS – เอาชีวิตประชาชนเดิมพันหาซีนให้ใคร? ***
.
นายวิโรจน์ยังอภิปรายต่อไป ว่าบางคนอาจจะคิดว่าพล.อ.ประยุทธ์และนายอนุทินอาจจะขาดสติปัญญา หรือเรียกสั้นๆ ว่า “โง่” หรือไม่ก็บริหารวัคซีนด้วยความประมาท รู้เท่าไม่ถึงการณ์ แต่สำหรับตนแล้ว พล.อ.ประยุทธ์และนายอนุทินไม่ได้โง่แต่มีเจตนาที่จะเอาชีวิตของประชาชนทั้งประเทศไปเสี่ยงเดิมพันกับวัคซีนแอสตร้าเซเนก้าที่ผลิตโดยบริษัทสยามไบโอไซเอนซ์
.
เป็นที่ชัดเจน ว่า พล.อ.ประยุทธ์และนายอนุทิน ไม่ยอมซื้อวัคซีนไฟเซอร์มาสำรองเอาไว้ตั้งแต่เนิ่น ๆ ไม่ยอมให้วัคซีนยี่ห้อไหนมาก่อนวัคซีนแอสตร้าเซเนก้าที่ผลิตโดยบริษัทสยามไบโอไซเอนซ์ กลัวแย่งซีนวัคซีนที่ตัวเองเลือก จนการระบาดเกิดขึ้นรุนแรง ประชาชนล้มตายเป็นผักปลา ถึงยอมที่จะซื้อวัคซีนไฟเซอร์
.
แม้แต่โครงการโคแวกซ์ที่มีประเทศมากกว่า 180 ประเทศเข้าร่วม ประเทศไทยก็ไม่คิดจะเข้าร่วม อ้างเหตุผลว่าถ้าเข้าร่วมโคแวกซ์แล้ว ต้องซื้อวัคซีนในราคาที่แพง และอ้างว่าวัคซีนที่จะส่งมอบในโครงการโคแวกซ์ เป็นวัคซีนแอสตร้าเซเนก้าส่วนใหญ่การเข้าร่วมจะทำให้เราได้วัคซีนแอสต้าเซเนก้า ซึ่งซ้ำกับวัคซีนที่เราผลิตเองได้
.
ทั้ง ๆ ที่รู้ว่าแผนการจัดหาวัคซีนแอสตร้าเซเนก้า 61 ล้านโดสวันนั้นยังไม่มีการทำสัญญา ไม่มีการลงนามเลย สุดท้ายเมื่อส่งมอบไม่ได้ตามเป้า รัฐบาลต้องไปรับบริจาคแอสตร้าเซเนก้าจากญี่ปุ่น 1 ล้านโดส รับบริจาคจากอังกฤษอีก 4.15 แสนโดส และยืมจากประเทศภูฏานมาอีก 1.5 แสนโดส ล่าสุดกำลังจะติดต่อประเทศในแถบยุโรปเพื่อขอซื้อต่อวัคซีนแอสตร้าเซเนก้าและไฟเซอร์ให้ได้เดือนละ 2-3 ล้านโดส
.
นายวิโรจน์อภิปรายว่าทั้งหมดนี้ เกิดขึ้นเพียงเพราะพล.อ.ประยุทธ์และนายอนุทิน ไม่ต้องการให้มีวัคซีนยี่ห้อไหนหรือโครงการอะไรมาตัดหน้าการเข้ามาของแอสตร้าเซเนก้าที่ผลิตโดยบริษัทสยามไบโอไซเอนซ์โดยเด็ดขาด เพราะทั้งคู่หมายที่จะใช้วัคซีนที่ผลิตในประเทศ มาสร้างความนิยมทางการเมือง โดยมีฤกษ์งามยามดีฉีดให้ประชาชนในวันที่ 7 มิถุนายน2564
.
“พล.อ.ประยุทธ์และนายอนุทินไม่ได้คำนึงถึงชีวิตของประชาชนเป็นที่ตั้ง ในใจคิดแต่จะเอาวัคซีนมาสร้างความนิยมทางการเมืองลูกเดียว เอาเงินภาษี 600 ล้านบาทไปอุดหนุนบริษัทเอกชนก็เพียงเพื่อให้บริษัทเอกชนรายนั้นมีศักยภาพที่จะผลิตวัคซีนส่งให้กับแอสตร้าเซเนก้าประเทศไทยได้เท่านั้น ประชาชนที่ล้มตายเป็นจำนวนมาก หลายรายไม่จำเป็นต้องตาย หลายรายไม่ได้ตายเพราะความรุนแรงของโรค แต่ตายเพราะการบริหารจัดการที่ล้มเหลวของ พล.อ.ประยุทธ์และนายอนุทิน ที่จงใจพาชีวิตของประชาชนไปเสี่ยง” นายวิโรจน์กล่าว
.
*** หวัง “ประยุทธ์–อนุทิน” จบที่นรก แต่ก่อนหน้านั้นคือคุกตาราง ***
.
นายวิโรจน์อภิปรายทิ้งท้าย ว่า ท่ามกลางการบริหารสถานการณ์โควิด-19 ที่ล้มเหลว จนมีผู้เสียชีวิตได้จำนวนมากรัฐบาลของพล.อ.ประยุทธ์ยังพยายามออก พ.ร.ก. จำกัดความรับผิดสำหรับบุคลากรสาธารณสุขฯ โดยอ้างว่าทำไปเพื่อปกป้องบุคคลากรทางการแพทย์ที่เกี่ยวข้อง แต่ไส้ในกลับสอดแทรกการนิรโทษกรรมตัวเองและพวกที่อยู่ในฝ่ายนโยบายไปด้วย ซึ่งจะทำให้ครอบครัวของผู้ที่เสียชีวิตไปจากการบริหารสถานการณ์ที่ผิดพลาด ไม่สามารถฟ้องร้องเอาผิดฝ่ายนโยบายไม่ได้
.
การดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์ และรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขของนายอนุทิน ทุก ๆ ชั่วโมงจะมีคนตาย 10 ศพ หรือวันละ 200 กว่าศพ
.
การแทงม้าตัวเดียว ไม่กระจายความเสี่ยงในการจัดหาวัคซีนนำเอาเงินแผ่นดิน 600 ล้านบาทไปอุดหนุนบริษัทสยามไบโอไซเอนซ์ คิดแต่จะเอาวัคซีนยี่ห้อเดียวมาใช้สร้างความนิยมทางการเมือง กีดกันวัคซีนยี่ห้ออื่นมาโดยตลอด ที่ตัดสินใจซื้อภายหลังก็เพราะจวนตัวจนยื้อไม่ไหว ซ้ำร้ายยังบริหารระบบสาธารณสุขล้มเหลว ดำเนินการฉีดวัคซีนล่าช้า ปล่อยให้ประชาชนมีชีวิตอย่างหวาดหวั่น
.
“หัวเด็ดตีนขาดทั้งสองคนก็คงจะเลือกทิ้งความเป็นคน ไม่เลือกที่จะทิ้งตำแหน่งแน่ ๆ ให้เขาลาออกจากความเป็นคนยังจะง่ายกว่า นี่จึงเป็นหน้าที่ของผู้แทนราษฎรทุกคน ที่จะต้องช่วยกันกอบกู้ความหวังของประชาชนให้คืนกลับมา โดยการดึงเอาคนทั้งสองนี้คนจากตำแหน่ง ไม่ให้ก่อกรรมทำเข็ญกับประชาชนได้อีกต่อไป ปลายทางของคนทั้งสอง คงไม่พ้นนรกโลกันตร์ แต่ก่อนหน้านั้นคือคุกตาราง” นายวิโรจน์กล่าวทิ้งท้าย