พรรคไทยสร้างไทย นำโดยคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานพรรคไทยสร้างไทย ดร.โภคิน พลกุล ประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนประเทศ พรรคไทยสร้างไทย ร่วมงานเสวนาผ่าน Zoom Meeting ในหัวข้อ “เลิกระบอบประยุทธ์ ทำรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน” ซึ่งจัดโดยคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย(ครป.)
คุณหญิงสุดารัตน์ กล่าวว่าจากการเรียกร้องของพลังภาคประชาชนที่ร่วมกันผลักดันรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน แม้ว่าสุดท้ายจะกลายเป็นละครปาหี่ หลังจากที่คุณไพบูลย์ นิติตะวัน ได้ยื่นวินิจฉัยต่อศาลรัฐธรรมนูญให้ตีความการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งในขณะนั้นพรรคไทยสร้างไทยได้เรียกร้องสมาชิกในสภา ให้ยุติการลงวาระที่ 3 ไว้ เพื่อรอคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญก่อน แต่สภากลับมีการลงมติในวาระที่ 3 จึงทำให้รัฐธรรมนูญฉบับประชาชนถูกตีตกทุกฉบับ
ดังนั้นจึงทำให้เห็นแล้วว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญในสภา เป็นการแก้ไขเพื่อพรรคการเมือง แต่ไม่ได้เป็นแก้ไขปัญหาเพื่อพี่น้องประชาชน ซึ่งสิทธิพลเมืองทางการเมืองการปกครอง ทั้ง ส.ว.250 และแผนยุทธศาสตร์ชาติก็ยังคงอยู่
ทั้งนี้คุณหญิงสุดารัตน์กล่าวว่าตนยึดมั่นคำสัญญาที่เคยให้กับพี่น้องประชาชนตอนที่หาเสียงปี 2562 ว่าจะสนับสนุนให้ทำรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนซึ่งในขณะนั้นทุกพรรคต่างก็สัญญากับประชาชนเช่นกัน จึงขอทวงสัญญาจากทุกพรรคการเมืองที่เคยให้คำสัญญากับประชาชนโปรดอย่ากลัวที่จะฟังเสียงประชาชนผ่านการทำประชามติว่าประชาชนต้องการรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนหรือไม่
“วันนี้ปัญหาบ้านเมืองที่เกิดวิกฤติขนาดนี้ เกิดจากระบอบประยุทธ์ ที่ยังคงสามารถสืบทอดอำนาจ เพราะกลไกกติกา เครือข่ายอำนาจยังอยู่ครบ สิทธิพลเมืองถูกด้อยค่า รัฐราชการใหญ่ขึ้น ทำให้ประชาชนสูญเสียโอกาสไปมากมาย ดังนั้นจึงควรแก้ที่รากเหง้าของปัญหา ซึ่งการไล่พลเอกประยุทธ์ออกไปเพียงอย่างเดียว ไม่สามารถแก้ไขปัญหาของประชาชนและประเทศชาติได้ เพราะระบอบประยุทธ์ยังคงดำรงอยู่ ดังนั้นการแก้รากเหง้าของปัญหา จำเป็นต้องสร้างรัฐธรรมนูญที่เป็นของประชาชน โดยประชาชน และเพื่อประชาชน ไม่เช่นนั้นไม่มีทางที่ประชาชนจะหลุดออกจากกับดักระบอบประยุทธ์ไปได้ คุณหญิงสุดารัตน์กล่าวทิ้งท้าย”
ด้าน ดร.โภคิน กล่าวว่าวิวัฒนาการของการนิรโทษกรรมในบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ นับตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงการปกครองปี 2475 ที่คณะราษฎรได้ยึดอำนาจ ก็ได้มีการขอขมากับพระมหากษัตริย์ ซึ่งก็ได้มีการให้อภัยโดยลงพระปรมาภิไธย แต่หลังจากนั้นจะเป็นเรื่องผู้กระทำนิรโทษกรรมตังเอง โดยออกเป็นพ.ร.บ. หรือ พ.ร.ก. ซึ่งหากอยู่ในช่วงประชาธิปไตย จะผ่านรัฐสภา ที่มีผู้แทนมาจากการเลือกตั้ง
โดยรัฐธรรมนูญปี 2515 ได้บัญญัติให้บรรดาประกาศ คำสั่ง หัวหน้าปฏิวัติ ชอบด้วยกฎหมาย จากนั้นรัฐธรรมนูญปี 2534 ได้เขียนบัญญัติเหมือนปี 2515 แต่เพิ่มเติม คือห้ามฟ้องร้อง ส่วนรัฐธรรมนูญปี 2549 ได้บัญญัติเพิ่มเติมว่าให้พ้นความผิด และความรับผิดชอบโดยสิ้นเชิง ก่อนจะมาบัญญัติในรัฐธรรมนูญปี 2550 มาตรา 309 ไม่ว่าก่อนหรือหลังประกาศใช้รัฐธรรมนูญ ให้ถือว่าชอบด้วยกฎหมาย ขณะที่การยึดอำนาจล่าสุดปี 2557 ได้บัญญัติเหมือนกับรัฐธรรมนูญปี 2549 ก่อนที่รัฐธรรมนูญปี 2560 มาตรา 279 จะมีการเพิ่มเติมว่าไม่ว่าทางนิติบัญญัติ บริหาร ตุลาการ ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ
ดร.โภคิน กล่าวทิ้งท้ายว่าการยึดอำนาจ และการกระทำต่อเนื่องที่บัญญัติว่าชอบด้วยกฎหมาย และรัฐธรรมนูญ ขัดต่อหลักนิติธรรม ซึ่งวงจรอุบาทว์นี้เกิดจากการที่ศาลรับรองการยึดอำนาจ และการนิรโทษกรรม ดังนั้นจึงเห็นว่าต้องห้ามบัญญัติให้มีการนิโทษกรรมจากการยึดอำนาจ เพื่อให้เป็นประเพณีการปกครองที่ดำรงอยู่สืบไป และให้ศาลยึดประเพณี และหลักนิติธรรม ในการวินิจฉัยล้มล้างการปกครอง