ชงตัดงบ ‘ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม’ ทั้งหมด ‘ก้าวไกล’ หยัน แค่ ‘ของปลอม’ ปล่อยผ่านข่าวที่รัฐอยากปั่น สมควรยุบทิ้งและไม่ควรได้เงินจากภาษีประชาชนแม้แต่สตางค์เดียว

0
676

ปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายเสนอตัดงบประมาณของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ในส่วนของศูนย์ประสานงานและแก้ไขปัญหาข่าวปลอม ทั้งโครงการมูลค่า 79,997,000 บาท โดยให้เหตุผลว่า ในโลกยุคโซเชียลปัจจุบัน ปรากฏการณ์ข่าวปลอมเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นทั่วโลก และมีความพยายามในการต่อต้านข่าวปลอมเกิดขึ้นจากความร่วมมือในระดับสากลมาโดยตลอด จนเกิดขึ้นมาเป็นหลักการขององค์กร IFCN (The International Fact-Checking Network) ที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล เป็นมาตรฐานที่หน่วยงานต่อต้านข่าวปลอมทั่วโลกที่เป็นประชาธิปไตยล้วนยึดถือเป็นเกณฑ์ในการพิจารณา
.
ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมฯ ของ ดีอีเอส ก็อ้างว่าตนเองอยู่ภายใต้มาตรฐานดังกล่าวนี้ และยังเคยคุยโวโอ้อวด ว่าจะตรวจสอบข่าวต่าง ๆ โดยไม่เอนเอียงทางการเมือง บอกว่าตัวเองมีหน้าที่เพียงการตรวจสอบข้อเท็จจริง จะไม่ทำหน้าที่เกี่ยวกับการดำเนินคดีข่าวปลอม 
.
“แต่ข้อเท็จจริงที่ปรากฏคือ ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมฯ ได้ทำทุกอย่างที่เคยบอกไว้ว่าตัวเองจะไม่ทำ เบื้องต้นที่สุด แค่เกณฑ์ในการจัดประเภทข่าวปลอม ก็ทำให้เห็นความไม่เป็นมาตรฐานสากลแล้ว ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมฯมีเกณฑ์ในการแบ่งข่าวออกเป็น 3 ประเภท คือข่าวจริง ข่าวปลอม และข่าวบิดเบือน แต่ในความเป็นจริงตามมาตรฐานสากลชี้ว่า การแบ่งประเภทแบบนี้มีปัญหา เพราะเป็นเกณฑ์ที่คลุมเครือ ไม่ครอบคลุมประเภทของข่าวปลอมที่เกิดขึ้นจริง และที่สำคัญ มันเปิดช่องให้การตีความว่าข้อมูลไหนที่เป็นข่าว “ปลอม” หรือ “จริง” ทำได้ครอบจักรวาล” โดยเฉพาะเมื่ออำนาจในการชี้นิ้ว อยู่ในมือของรัฐและหน่วยงานรัฐ 
.
“การเอาอำนาจในการชี้ขาดว่าสิ่งใดคือความจริง สิ่งใดเท็จ ไปอยู่ในหน่วยงานที่ขึ้นตรงกับฝ่ายการเมือง และเป็นหน่วยงานเดียวกันที่ถืออำนาจทางกฎหมายในการดำเนินคดีกับประชาชน ไม่มีทางสร้างความเชื่อมั่นกับประชาชนได้ ถามง่าย ๆ ว่าถ้าศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมเป็นผู้เผยแพร่ข่าวปลอมเสียเอง ใครจะเป็นคนดำเนินคดี เราควรจะส่งเสริมองค์กรในลักษณะนี้ให้เกิดจากความร่วมมือในภาคประชาสังคมและสื่อมวลชน ที่แน่นอนว่าจะเป็นอิสระและมีความเป็นกลางมากกว่า”
.
ปกรณ์วุฒิ ยังชี้ให้เห็นว่า ตามหลักสากล IFCN แบ่งประเภทของข่าวปลอมออกเป็น 3 ประเภท คือ 1) disinformation คือข้อมูลเท็จที่ถูกสร้างขึ้นมาด้วยเจตนาให้ผู้อ่านเข้าใจผิด 2) misinformation การให้ข้อมูลคลาดเคลื่อนหรือไม่ชัดเจน และ 3) malinformation ข้อมูลที่มีพื้นฐานจากเรื่องจริงและเท็จปนกัน หวังผลโจมตีผู้อื่นหรือสร้างความเกลียดชัง
.
“สิ่งเหล่านี้ไม่เคยถูกกล่าวถึงในเกณฑ์การวัดของศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ที่ปล่อยให้เรื่องของ “ข่าวปลอม” เป็นความคลุมเครือจาง ๆ เปิดให้ตีความได้ครอบจักรวาลเสมอ นั่นก็เพราะโดยแท้จริงแล้ว ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมฯ ไม่เคยมีเจตนาอย่างแท้จริงที่จะดำเนินการกับข่าวปลอมจริงๆ แต่ตั้งขึ้นมาเพื่อเป็นแขนขาให้รัฐบาล ในการผูกขาด “ความจริง” ให้เป็นไปตามที่รัฐชี้นิ้วอยากให้เป็นเท่านั้น”
.
ปกรณ์วุฒิ กล่าวต่อไปว่า ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมฯ จึงไม่ได้มีความเป็นกลาง ไม่ลำเอียง อย่างที่ได้โอ้อวดเอาไว้ เพราะข้อเท็จจริงปรากฏว่าศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมฯ เลือกตรวจสอบเฉพาะข่าวปลอมที่เป็นผลลบต่อนโยบายรัฐบาลเท่านั้น และพร้อมที่จะปล่อยผ่านข่าวปลอมที่เป็นผลบวกกับรัฐบาลเสมอ 
.
“หลายกรณี ข่าวปลอมเหล่านั้น ได้รับการยืนยันจากองค์กรนานาชาติแล้วว่าเป็นข่าวปลอม แต่แน่นอน เมื่อมันเป็นบวกกับนโยบายของรัฐบาล ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมฯ ก็เลือกที่จะนิ่งเฉย เช่น ข่าวที่อ้างอิงจากเว็บไซต์สำนักข่าว Channel News Asia ของสิงคโปร์ ที่เนื้อความจริง ๆ รายงานถึงมาตรการของรัฐบาลสิงคโปร์ ที่ให้ทางเลือกกับชาวสิงคโปร์ที่แพ้วัคซีนชนิด mRNA สามารถเลือกฉีดวัคซีนซิโนแวคได้ และจะได้รับการชดเชยจากรัฐบาลสิงคโปร์ 
.
“ข่าวนี้หลายคนน่าจะจำกันได้ ว่าถูกนำไปบิดเบือน กลายเป็นรายงานข่าวว่าคนสิงคโปร์อยากฉีดซิโนแวคมากกว่าวัคซีน mRNA จนกองเชียร์ซิโนแวคที่ไม่ได้มีความรู้เท่าทันต่อข่าวสาร หรือไม่รู้ภาษาพอที่จะเข้าใจข้อเท็จจริงได้ เอาไปตีปี๊ปกันยกใหญ่อยู่ระยะหนึ่ง”
.
ปกรณ์วุฒิ ย้ำว่า กรณีนี้ตนเคยจี้ไปกับตัวแทนศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมฯ ที่มาชี้แจงในห้องกรรมาธิการครั้งหนึ่งแล้ว แต่คำตอบที่ได้รับ คือ “การดำเนินงานของศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมฯ เป็นการตรวจสอบข้อเท็จจริงจากหน่วยงานรัฐเท่านั้น ไม่สามารถตรวจสอบข้อเท็จจริงจากต่างประเทศได้” แต่เพียงแค่สองวันให้หลัง ทางศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมฯ ก็ตรวจสอบข่าวนี้แล้วระบุว่าเป็นข่าวบิดเบือน 
.
ในอีกนัยหนึ่ง จึงแปลว่าศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมฯ ทำงานได้ช้ากว่าชาวบ้านที่เขาจับโป๊ะแตกได้ก่อนหน้านี้หลายวัน จนกองเชียร์ซิโนแวคเงิบหน้าชากันไปจนหายชาไปแล้ว ดีอีเอสถึงมาบอกว่านี่เป็นข่าวปลอม แปลว่านอกจากทำงานไม่เข้าเป้า ไม่เป็นกลางแล้ว ยังทำงานได้ไม่มีประสิทธิภาพอีกต่างหาก สมควรหรือที่หน่วยงานแบบนี้ได้รับงบจากภาษีประชาชนไปถึง 79.9 ล้านบาท
.
“นี่คือสิ่งที่พิสูจน์ว่าถ้าจะทำจริงๆ ก็ทำได้ แต่ที่ผ่านมาแค่ไม่ยอมทำเท่านั้นเอง ตอกย้ำว่าศูนย์นี้ตั้งขึ้นมาเพื่อปกป้องรัฐบาล หรือฟากฝั่งทางการเมืองข้างใดข้างหนึ่งเท่านั้น ตราบใดที่หน่วยงาน fact-checking เป็นหน่วยงานใต้รัฐโดยตรง เป็นไปไม่ได้เลยที่จะไม่ถูกข้อครหาด้านความเป็นกลาง”
.
ปกรณ์วุฒิ ยังชี้ให้เห็นอีกว่า ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมฯ ยังทำเรื่องที่เคยบอกว่าตัวเองจะไม่ทำอีกประการหนึ่ง ก็คือภารกิจด้านการปราบปราม “ข่าวปลอม” โดยรับงบจากสำนักงานปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ที่มีตัวชี้วัดหนึ่งคือความสำเร็จของการจับกุมและปราบปราม วัดผลสัมฤทธิ์คือความเชื่อมั่นของประชาชนต่อ “ข้อเท็จจริง”
.
นอกจากนี้ ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมฯ ยังเคยขอให้มีการปิดกั้นการเข้าถึงของผู้ใช้โซเชียลมีเดียจำนวนมาก และยังให้การสนับสนุนแก่ บก.ปอท. ที่ออกมาขู่ประชาชนฮึ่ม ๆ ตลอดเวลา ว่าจะดำเนินคดีผู้เผยแพร่ “ข่าวเท็จ” และทางกระทรวงดีอีเอสเองก็เคยมีการยื่นฟ้องประชาชนมาแล้วหลายคดี โดยเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมฯ ยังได้ตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นมา 3 ชุด ที่มีภารกิจเกี่ยวกับการปราบปรามดำเนินคดีโดยเฉพาะ
.
ปกรณ์วุฒิ ยังย้ำว่า IFCN เคยมีข้อสังเกตออกมา ว่าหน่วยงานที่ต่อต้านข่าวปลอม ไม่ควรเป็นองค์กรภายใต้กำกับของรัฐ เพราะหากการตรวจสอบข่าวปลอมอยู่ภายใต้รัฐ ที่เป็นองค์กรทางการเมือง อาจจะนำไปสู่ปัญหาของการ “ผูกขาดความจริง” ได้ และข้อสังเกตนี้ ได้รับการพิสูจน์แล้วว่าเป็นจริงโดยไม่ต้องมองที่ไหนไกล ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมฯ ของกระทรวงดีอีเอส ได้ทำให้เห็นแล้ว ว่าการมีหน่วยงานต่อต้านข่าวปลอม อยู่ภายใต้การกำกับของรัฐ สร้างปัญหาให้แก่ประชาชนและสังคมมากขนาดไหน
.
“ช่วยรัฐผูกขาดความจริง ชี้นิ้วข่าวปลอมที่รัฐไม่ชอบ ปล่อยผ่านข่าวปลอมที่รัฐอยากให้ปั่น ปราบปรามประชาชนบนโลกโซเชียล ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมฯ ที่เป็นได้แค่ “ของปลอม” แบบนี้ ยุบทิ้งเสียเลยอาจจะดีกว่า และไม่ควรที่จะได้เงินงบประมาณจากภาษีประชาชนไปเลยแม้แต่สตางค์เดียว” ปกรณ์วุฒิ ยืนยัน