วันที่ 18 ส.ค.64 รัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร วาระพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 65 วาระที่ 2 ในมาตรา 8 งบประมาณกระทรวงกลาโหม
.
ศิริกัญญา ตันสกุล กล่าวว่า พรรคก้าวไกลได้สงวนคำแปรญัตติเพื่อขอตัดลดงบประมาณกระทรวงกลาโหมลงอีก 30,000 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม ด้วยมีรายละเอียดมากจึงจำเป็นต้องแบ่งกันอภิปราย โดยตนจะรับหน้าที่ในส่วนงบประมาณเกี่ยวกับอาวุธยุทโธปกรณ์กองทัพบก ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับประสิทธิภาพการใช้งบประมาณ ซึ่งเป็นหนึ่งในเรื่องที่นายกรัฐตรีได้แถลงนโยบายการจัดสรรงบประมาณต่อสภาด้วย ซึ่งจนถึงตอนนี้ สภายังคงไม่รู้ว่ากองทัพบกตัดงบในเรื่องใดไปบ้าง ที่แสดงมา เช่น โครงการจัดหาอาวุธยุทโธปกรณ์มีแค่สองบรรทัด ระบุ งบประมาณ 3,147 ล้าน ตัดไป 355 ล้าน บาท โดย กมธ.ไม่รู้เลยว่าตัดโครงการอะไร อีกโครงการคือ โครงการที่ผูกพันตามสัญญาและมาตรา 41 จำนวน 21 โครงการ งบประมาณ 9,459 ล้านบาท ตัดไป 687ล้านบาท ก็ไม่รู้ตัดอะไรไปบ้างเช่นกัน ไม่มีรายละเอียด ขอข้อมูลไปก็ไม่ให้
.
“สาเหตุที่ต้องถามคือมีโครงการที่ชอบขอเงินไปแล้วได้ใช้ไม่ทัน อยากทราบว่าโครงการเหล่านี้ถูกตัดงบประมาณไปบ้างหรือไม่ บางโครงการของบตั้งแต่ปี 63 จำนวน 468 ล้านบาท ถึงตอนนี้เบิกจ่ายได้แค่ร้อยละ 5 ปีนี้ก็ขอมาอีก โครงการแบบนี้มีอย่างน้อย 4 โครงการ มีงบประมาณสะสมไม่ใช่น้อยรวมกัน 974 ล้านบาท ปีนี้ก็มีหน้าตั้งงบขอเพิ่มมาอีก 1,088 ล้านบาท ซึ่งงบแบบนี้เคยมีประวัติในการขอเปลี่ยนแปลงไปเป็นงบซื้ออาวุธอื่นๆจึงไม่อยากให้เกิดประวัติศาสตร์ซ้ำรอย”
.
นอกจากนี้ ศิริกัญญา กล่าวว่า ยังมีโครงการประเภทยังไม่ได้ดำเนินการ เช่น โครงการจัดหาเฮลิคอปเตอร์ใช้งานทั่วไป ปี 64 ขอระยะแรกไป 845 ล้านบาท ตอนนี้ยังไม่ได้จัดซื้อและลงนาม แต่ปี 65 ก็มาขออีก 1,690 ล้านบาท แล้วก็มาขอสำหรับโครงการที่ 2 อีก 700 ล้านบาท ซึ่งก็น่าจะเบิกจ่ายไม่ทันอยู่ดีในส่วนนี้โครงการแบบนี้ก็จะขอตัดทั้งโครงการ
.
“ต้องยืนยันว่านายกฯเคยมาแถลงในสภาแห่งนี้ในวาระที่หนึ่ง หวังว่าจะไม่ใช่แค่ลมปากว่าจะนำผลของการจัดสรรงบประมาณปี 63 และ 64 มาประกอบการพิจารณาให้สอดคล้องกับศักยภาพการใช้งบประมาณของหน่วยรับงบประมาณเพื่อให้เกิดความคุ้มค่าและมีประสิทธิภาพในการใช้งบประมาณ จึงขอให้ทุกหน่วยงานน้อมนำคำแถลงของนายกรัฐมนตรีไปปฏิบัติตามด้วย” ศิริกัญญา ระบุ
.
ด้าน วรรณวรี ตะล่อมสิน ส.ส.กรุงเทพ พรรคก้าวไกล อภิปรายว่า จะสังเกตได้ว่าหน่วยงานต่างๆในสังกัดกลาโหมจะมีรูปแบบการของบประมาณที่คล้ายกัน บางอย่างเห็นเพื่อนมีก็อยากมีบ้าง เช่น งบยาเสพติด ชายแดนใต้ การข่าว งบบรรเทาสาธารณภัย ฯลฯ ซึ่งบางกลุ่มควรปรับลดลงเพื่อให้เหมาะสมกับสถานการณ์โควิด หนึ่ง งบกลุ่มบรรเทาสาธารณภัย ขอมาทุกกอง กองละนิดละหน่อยแต่รวมกลับมากถึง 36 ล้าน คำถามคือเป็นหน้าที่พันธกิจหรือไม่ และการที่ขอแบบกระจัดกระจายไปแต่ละหน่วยก็คงไม่สามาถทำอะไรได้ ที่สำคัญก็คืองบก้อนนี้ควรให้กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยซึ่งเป็นหน่วยงานตรงจะเหมาะกว่า สองงบกลุ่มปรองดองสมานฉันท์ ลักษณะคือการจัดกิจกรรมเพื่อเอาคนมารวมกันมากๆเพื่อทำกิจกรรมบางอย่าง แต่ในสถานการณ์เช่นนี้คงไม่สามารถทำได้ควรตัดออกไป สามงบกลุ่มจัดงานเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งขอมาทุกหน่วยรวมกันแล้วเกือบ 200 ล้านบาท โดยกองทัพบกขอมามากสุด 90 ล้านบาท น้อยสุดคือกองทัพอากาศ 3 ล้าน ตัวชี้วัดคือจำนวนครั้งการจัดกิจกรรม เช่น สำนักปลัดปลัดกลาโหมตั้งเป้าจัดกิจกรรม 65 ครั้ง กองทัพบกตั้งเป้า 182 ครั้งต่อปี หากพิจารณาแล้วก็คือจัดทุก 2 วัน ซึ่งเป็นไปได้ยากและการนำคนมารวมจำนวนมากก็ไม่เหมาะเช่นกัน จึงจะขอปรับลดลง 188 ล้านบาทในส่วนนี้
ปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ อภิปรายว่า เท่าที่สังเกต โครงการเกี่ยวกับการวิจัยของกองทัพ ซึ่งมีสถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศเป็นหน่วยหลักได้รับงบลดลงทุกปี โดยปีนี้เหลือแค่ 150 ล้านบาทเท่านั้น จึงเหมือนกับว่ารัฐบาลนี้ไม่สนใจการพัฒนาองค์ความรู้เพื่อป้องกันประเทศเลย เน้นเป็นสายเปย์ ดีแต่ซื้อ นอกจากนี้ยังตั้งงบซ้ำซ้อน เช่น สำนักปลัดกลาโหมก็ยังได้งบวิจัย ซึ่งโดยหน่วยงานก็ไม่น่ามีหน้าที่เกี่ยวกับการวิจัยและไม่น่าจะมีบุคลากรเฉพาะในหน้าที่นี้ ที่สำคัญคือเมื่อมีสถาบันเทคโนโลยีฯที่ทำหน้าที่เฉพาะอยู่แล้ว เหตุใดจึงต้องไปตั้งงบที่หน่วยอื่นอีก
.
นอกจาก ปกรณ์วุฒิ ยังมีข้อสังเกตเกี่ยวกับการตั้งงบประมาณการเช่ารถประจำตำแหน่งของกองทัพบก 319 คัน 99 ล้านบาท ความแปลกคือต่อมาเป็นกองทัพเองที่ขอปรับลดเหลือ 76 ล้านบาท ซึ่งเมื่อพิจารณาย้อนกลับไปพบว่าอาจมีการทำสัญญาเป็นงบผูกพันมาตั้งแต่ปี 64 ไปแล้ว และคาดว่าจะเป็นการทำสัญญาเช่ารถที่เกินราคากลางไปถึงร้อยละ 30 หรือไม่จึงทำให้ต้องมาขอปรับลดทีหลังเช่นนี้