นางสาวธิดารัตน์ ยิ่งเจริญ ผู้อำนวยการ ศูนย์นโยบาย พรรคไทยสร้างไทย กล่าวว่านโยบายลดภาระทางการศึกษาที่กระทรวงศึกษาธิการประกาศเมื่อวันที่ 16 ส.ค. 64 ยังแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาไม่ครอบคลุม เนื่องจากผู้ปกครองได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิดเป็นวงกว้างมากว่า 1 ปี แล้ว และการเรียนออนไลน์ทำให้เกิดความถดถอยทางการศึกษา 20-50% ยิ่งมีการเรียนออนไลน์ที่ไร้ประสิทธิภาพ ยิ่งทำให้คุณภาพการเรียนต่ำลงและเพิ่มความเสี่ยงให้มีเด็กหลุดออกจากการศึกษามากขึ้น
นโยบายข้อที่ 1 ด้านการเยียวยานักเรียนทุกคนทุกสังกัด 2,000 บาทต่อคน สามารถช่วยเหลือเด็กได้บางส่วนเท่านั้น บางครอบครัวที่ขาดรายได้ถึง 100% ควรมีมาตรการเฉพาะเพื่อชะลอการจ่ายค่าเล่าเรียน ไม่ใช่แค่ลด 10-50% และจากการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนผ่านทางโครงการ “ฟังเสียงสร้างไทย” นักเรียนในโรงเรียนเอกชนได้รับเงินอุดหนุนแค่ 5,000 บาทต่อคน โดยไม่มีการลดค่าเรียนให้ทั้งๆ ที่บางครอบครัวขาดรายได้จากธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากโควิดโดยตรง ทำให้อัตราการจ่ายค่าเทอมอยู่ที่ 30% รัฐบาลควรมีมาตรการช่วยเหลือที่เป็นธรรมกับทั้งผู้ปกครองและสถานศึกษา
นโยบายที่ 2 ด้านการให้อินเทอร์เน็ตฟรีสำหรับเรียนออนไลน์ โดยความร่วมมือของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมและสำนักงาน กสทช. โดยให้ใช้ฟรีตั้งแต่ 15 ส.ค. ถึง 15 ต.ค. 64 ซึ่งถือว่ามาช้ามากเพราะเด็กขาดเรียนไปเยอะแล้วและอาจทำให้สอบไม่ทัน รัฐบาลควรแสดงความรับผิดชอบต่อการออกมาตรการล่าช้า เข่น การให้ทำงานส่งแทนไปก่อน หรือการงดการสอบ
นอกจากนี้ จากการลงพื้นที่ทำโครงการ “สร้างโอกาสให้น้อง สร้างห้องเรียนออนไลน์” พบว่านักเรียนส่วนมากยังขาดอุปกรณ์การเรียนออนไลน์ เช่น โทรศัพท์สมาร์ตโฟน แท็ปเล็ต และคอมพิวเตอร์ ถึงแม้ว่าจะมีอินเตอร์เน็ตฟรี แต่ผู้ปกครองไม่มีเงินซื้อหรือผ่อน ควรเร่งจัดหาและสนับสนุนอุปกรณ์เหล่านี้อย่างเร่งด่วนโดยให้งบประมาณโรงเรียนจัดซื้อเพื่อให้นักเรียนยืมใช้และให้ผู้ปกครองผ่อนจ่ายแบบดอกเบี้ยต่ำหรือปลอดดอกเบี้ย
นโยบายที่ 3 ด้านการลดภาระของนักเรียน ครู และผู้ปกครอง โดยลดหรืองดการสอนบางวิชาที่ไม่จำเป็นในช่วงนี้และในอนาคตและการประเมินที่มากเกินไปซึ่งเป็นภาระแก่ครู จนทำให้การเรียนการสอนเป็นเพียงแค่สอนให้ได้หรือให้ได้เกรดดีๆ แต่ไม่ได้มีความลึกซึ้งจริงๆ แต่อย่างใด และอยากให้ใช้โอกาสนี้ประเมินระบบการศึกษาไทยว่ายังตอบโจทย์ยุค disruption และจากโควิดหรือไม่ ต้องหันมาเน้นการศึกษาที่สอนให้นักเรียนรู้จักตัวเอง รู้ที่จะมองและกำหนดทิศทางหรืออนาคตของตนเอง รู้ที่จะหาข้อมูลเชิงลึก เป็นวิทยาศาสตร์ พร้อมที่จะปรับตัวและองค์ความรู้ที่มีให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วมากในยุคใหม่ ทั้งต้องเน้นการ upskill และ reskill เพื่อให้สอดคล้องกับอนาคตของตลาดแรงงานที่ต้องการผู้ที่มีทักษะด้านออนไลน์ เทคโนโลยี สุขภาพ และความยืดหยุ่นในการทำงานมากขึ้น