เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2564 คณะก้าวหน้า โดยนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า และ พ.ต.ต.ชวลิต เลาหอุดมพันธ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล ร่วมเปิดห้องสนทนาทางแอพพลิเคชั่น Clubhouse “ขอคำปรึกษา! ใครมีความรู้เรื่องเครื่องผลิต oxygen มาที่นี่” ระดมความคิดสำหรับโครงการของคณะก้าวหน้า ที่เตรียมจะผลิตเครื่องเพิ่มความเข้มข้นของออกซิเจนในอากาศออกมาแจกจ่ายให้แก่สาธารณชนที่มีความต้องการ เพื่อร่วมต่อสู้กับวิกฤตผู้ป่วยโควิดเกินศักยภาพของระบบสาธารณสุขในปัจจุบัน
.
นายธนาธร ระบุถึงที่มาที่ไปของโครงการดังกล่าว ว่าเกิดขึ้นจากการปรึกษาหารือร่วมกันระหว่างตนกับ พ.ต.ต.ชวลิต ซึ่งได้เห็นปัญหาจากเพื่อน ส.ส.พรรคก้าวไกล ที่ลงไปทำงานช่วยเหลือผู้ป่วยโควิดในพื้นที่ต่าง ๆ พบว่าผู้ป่วยสีเหลืองและผู้ป่วยสีแดงขาดเตียง เครื่องช่วยหายใจ และโรงพยาบาลรองรับ จน พ.ต.ต.ชวลิตได้ไปคุยกับทางสมาคมเมกเกอร์ไทย ซึ่งเป็นนวัตกรรุ่นใหม่ และที่ผ่านมาได้เริ่มการออกแบบเครื่องออกซิเจนมาช่วยผู้ป่วยโควิด ที่รอเตียงอยู่ จนได้ความคิดที่เป็นหลักการในทางเทคนิคออกมา
.
จากนั้น ตลอดสองสัปดาห์ที่ผ่านมา ตนและ พ.ต.ต.ชวลิตได้ร่วมกันปรึกษาหารือ และระดมความคิด ตลอดจนเทคนิคกระบวนการผลิตจากผู้เชี่ยวชาญในสาขาต่าง ๆ โดยอาศัยแบบแปลน open source ที่ทางสมาคมเมกเกอร์ไทยเปิดออกสู่สาธารณะเป็นตัวตั้งต้น จนกระทั่งได้เครื่องต้นแบบของเครื่องออกซิเจนออกมา และระหว่างนี้กำลังอยู่ในกระบวนการทดลองใช้งาน
.
นายธนาธรระบุต่อไป ว่าวัตถุประสงค์ของเครื่องดังกล่าว ก็คือการเพิ่มความเข้มข้นของออกซิเจนในอากาศให้ได้ค่าออกซิเจนมากกว่า 90% ที่อัตราการไหล (flow rate) มากกว่า 5-10 ลิตรต่อนาที โดยสารที่เป็นหัวใจสำคัญในการผลิตอุปกรณ์นี้ก็คือซีโอไลต์ ซึ่งเมื่อสามารถทำเครื่องนี้ได้สำเร็จ ก็สามารถนำไปแจกจ่ายหมุนเวียน ให้กับผู้ป่วยสีเหลือง-สีแดง ที่ต้องการเครื่องช่วยหายใจและเข้าไม่ถึงบริการสาธารณสุข ไม่มีโรงพยาบาลรองรับ แต่ขณะนี้ เครื่องออกซิเจนดังกล่าวยังอยู่ระหว่างการทดลองและยังประสบปัญหาสำคัญคือไม่สามารถหาซีโอไลต์13-X ที่เป็นลิเธียม-เบส ที่มีประสิทธิภาพเพียงพอที่จะผลิตอากาศที่มีออกซิเจนระดับความเข้มข้นถึง 90% ได้ จึงเป็นที่มาของการเปิดห้อง Clubhouse ระดมสมองให้ผู้เชี่ยวชาญช่วยกันหาทางแก้ไขปัญหา เพื่อเร่งผลิตเครื่องออกซิเจนออกมาช่วยผู้ป่วยโดยเร็วที่สุด
.
*** “ธนาธร” ขอบคุณทุกความคิด-ความช่วยเหลือ พร้อมเดินหน้าโครงการเต็มที่ ไม่หวั่นอุปสรรคทุกประการ ***
.
หลังจากที่นายธนาธรกล่าวถึงที่ไปที่มาของโครงการดังกล่าวจบแล้ว ได้มีผู้ยกมือขึ้นมาร่วมแลกเปลี่ยน ให้ข้อมูล และเสนอความคิดเป็นจำนวนมาก ทั้งวิศวกร นักวิชาการด้านเคมี ผู้ประกอบการอุตสาหกรรม ผู้ประกอบการส่งออกและนำเข้าเครื่องจักรอุตสาหกรรม นิสิตคณะวิทยาศาสตร์ แพทย์ อาสาสมัคร ฯลฯ ร่วมกันระดมความคิด ให้ข้อมูลและช่องทางการประสานความช่วยเหลือ ทั้งด้านการสรรรหาวัตถุดิบ กระบวนการผลิต ข้อมูลด้านเทคนิคทั้งทางวิศวกรรม ทางเคมี และการแพทย์ อย่างไม่ขาดสาย ตลอดเวลาการสนทนาเกือบ 2 ชั่วโมงเต็ม
.
ทั้งนี้ ในช่วงหนึ่งของการสนทนา มีผู้ร่วมแสดงความเห็นส่วนหนึ่ง แสดงข้อกังวลออกมาว่าการผลิตเครื่องมือดังกล่าว หากจะต้องผ่านกระบวนการขออนุญาตทางราชการเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ อาจจะต้องอาศัยเวลานานกว่าหลายเดือนหรือกระทั่งเป็นปี ซึ่งอาจจะไม่ทันการณ์กับความต้องการของประชาชนในขณะนี้
.
ซึ่งนายธนาธร ได้ระบุว่าสำหรับตนแล้ว การทำเครื่องผลิตออกซิเจนเข้มข้นนี้ออกมาเป็นความจำเป็นเร่งด่วนของสังคมไทย ที่ผู้ป่วยโควิดที่เข้าไม่ถึงการรักษา จำเป็นต้องได้รับอย่างเร่งด่วนที่สุด เพราะนั่นหมายถึงชีวิตของคน ๆ หนึ่ง ซึ่งในส่วนนี้ ตนขอรับความช่วยเหลือทุกอย่างเพื่อที่จะสามารถผลิตเครื่องนี้ให้ออกมาใช้งานได้ ส่วนปัญหาความรับผิดชอบทางกฎหมาย จะขอรับผิดชอบเอง เพราะหากต้องรอขอใบอนุญาต ก็ไม่มีทางนำมาใช้ได้ทันความต้องการ จะทำให้ประชาชนชาวไทยต้องล้มตายอีกมาก
.
“เรื่องความเสี่ยงที่จะตามมาในอนาคตผมรับไว้เอง ถ้าให้รอราชการอนุญาตอีก 1 ปีก็ไม่ต้องทำกันพอดี ถ้าทำแล้วเครื่องมันใช้ได้สำเร็จเมื่อไหร่ผมจะเอามาใช้เลย ส่วนความเสี่ยงในเรื่องการถูกหน่วยงานรัฐราชการเล่นงาน ผมรับเอาไว้ทั้งหมดเอง” นายธนาธรกล่าว
.
หลังการสนทนาแลกเปลี่ยนในห้อง Clubhouse เกือบ 2 ชั่วโมงวันนี้ นายธนาธรระบุว่าตนขอขอบคุณทุกคนที่มาร่วมแรงร่วมใจกันระดมความคิด และอาสาช่วยเหลือในกระบวนการต่าง ๆ อย่างล้นหลาม ซึ่งเป็นประโยชน์สำหรับการผลักดันเครื่องผลิตออกซิเจนนี้ให้สำเร็จ ซึ่งหลังจากนี้จะรีบติดต่อหาวัตถุดิบและขอคำแนะนำจากแต่ละท่านที่ได้ให้ข้อมูลไว้เพิ่มเติมต่อไป และจะได้นำผลการดำเนินโครงการมารายงานให้พี่น้องประชาชนทราบโดยเร็ว
.
ทั้งนี้ ในช่วงท้ายการสนทนาแลกเปลี่ยน ได้มีผู้สอบถามเรื่องการที่นายธนาธรจะเดินทางไปแข่งวิ่งที่ต่างประเทศ ซึ่งนายธนาธรตอบว่า เป็นรายการที่ลงสมัครแข่งไว้ตั้งแต่ช่วงต้นปีในลักษณะของทีม ที่ไม่สามารถยกเลิกได้
.
ซึ่งตนเองก็มีความเป็นห่วงสถานการณ์ในประเทศไทย ทั้งภารกิจในการผลิตเครื่องผลิตออกซิเจนนี้ และโครงการอื่น ๆ ของคณะก้าวหน้า อย่างไรก็ตาม ตนจะเดินทางไปเพื่อแข่งขันให้เสร็จสิ้นโดยเร็วที่่สุด รีบไปรีบกลับ และคาดว่าเมื่อเดินทางกลับมา โครงการผลิตเครื่องออกซิเจนนี้จะสำเร็จพอดี ทันนำไปใช้ช่วยเหลือพี่น้องประชาชนในสถานการณ์โควิดขณะนี้