เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2564 พรรคก้าวไกล ร่วมกับคณะก้าวหน้า เปิดห้องสนทนาทางแอพพลิเคชั่น Clubhouse “ชีวิตต้องเจออะไร เมื่อ Big Brother is watching you!” ร่วมแลกเปลี่ยนพูดคุยในกรณีเอกสาร “ลับมาก” ของสำนักงานตำรวจตรวจคนเข้าเมือง ที่หลุดออกมาสู่สาธารณชน ซึ่งปรากฏว่าเป็นรายชื่อบุคคลกว่า 183 รายชื่อ และ 9 บัญชีโซเชียลมีเดีย ของทั้งนักการเมืองฝ่ายค้าน นักกิจกรรม นักเคลื่อนไหว นักสิทธิมนุษยชน ทนายความ และสื่อมวลชน ถูกจัดอยู่ในกลุ่มเฝ้าระวัง (watch list) จนเป็นที่กล่าวขานบนหน้าข่าวสารและสื่อสังคมออนไลน์อยู่ในขณะนี้
.
โดยผู้ร่วมวงสนทนาวันนี้ ประกอบด้วยนางสาวพรรณิการ์ วานิช กรรมการบริหารคณะก้าวหน้า, นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า, นายชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกล, นายรังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล, นางอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล, และนายณัชปกรณ์ นามเมือง กลุ่ม iLaw สนทนาร่วมกับอีกหลายบุคคล ที่อยู่ในรายชื่อเฝ้าระวัง
.
*** Watch list สะท้อนรัฐมองประชาชนเป็นศัตรู เอาความมั่นคงส่วนตัวปนความมั่นคงของชาติ ***
.
โดยวงสนทนาในวันนี้ เปิดด้วยการพูดคุยถึงบอกเล่าประสบการณ์ส่วนบุคคล ที่เผชิญหน้ากับการคุกคามโดยรัฐ ทั้งในรูปแบบการติดตามในทางลับ ส่งเจ้าหน้าที่ประกบอย่างเปิดเผย การข่มขู่ด้วยวาจา และปฏิบัติการข้อมูลข่าวสาร (IO) พร้อมกับการตั้งข้อสังเกตเชื่อมโยงกับการมีเอกสารบัญชีรายชื่อบุคคลเฝ้าระวังโดยรัฐ
.
นายชัยธวัช ตั้งคำถามว่ารายชื่อเหล่านี้คือบุคคลที่ถูกรัฐประทับตราว่าเป็นภัยต่อความมั่นคงใช่หรือไม่ เกิดขึ้นได้อย่างไร ใครเป็นคนรับผิดชอบ รวมทั้งใช้อำนาจอะไรในการออกรายชื่อนี้ออกมา ทั้งนี้ สิ่งที่ต้องติดตามต่อไป คือนี่เป็นการใช้อำนาจโดยมิชอบ ซึ่งผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 หรือไม่
.
นอกจากนี้ การที่มีบุคคลจำนวนมากถูกติดตามคุกคามโดยเจ้าหน้าที่รัฐอย่างหนักหน่วงขึ้นในระยะที่ผ่านมา สอดคล้องอย่างยิ่งกับการมีรายชื่อออกมาในลักษณะนี้
.
“รัฐกำลังมองประชาชนเป็นศัตรู กำลังมองนักการเมืองฝ่ายค้านจำนวนหนึ่งเป็นศัตรู กำลังมองเยาวชนจำนวนมากเป็นศัตรู เป็นภัยความมั่นคง มีแม้กระทั่งนักสิทธิมนุษยชน สื่อมวลชน และศิลปินด้วย ที่น่าตกใจคือมีเยาวชนอายุไม่ถึง 18 ปีถึงอย่างน้อย 3 คน เราต้องช่วยกันถามว่ามันเกิดอะไรขึ้น การใช้อำนาจแบบนี้เป็นการใช้อำนาจที่ถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่?” นายชัยธวัชกล่าว
.
ด้านนายณัชปกรณ์ ระบุว่าสำหรับตน ที่เป็นหนึ่งในรายชื่อบุคคลเฝ้าระวัง ไม่รู้สึกแปลกใจแต่อย่างใด แต่ก็มีข้อสังเกต ว่าเหตุการณ์ที่เริ่มมีเจ้าหน้าที่รัฐเข้ามาขอพูดคุยกับตน รวมทั้งปฏิบัติการ IO ก็เริ่มเกิดหนักขึ้นหลังจากที่ iLaw เริ่มทำโครงการ “112 the Series” ที่เล่าเรื่องราวชีวิตของบุคคลที่ถูกดำเนินคดีตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112
.
นอกจากนี้ ณัชปกรณ์ยังมองว่าการจัดทำรายชื่อออกมาในลักษณะดังกล่าว ทำให้เห็นชัดเจนว่ารัฐบาลกำลังรู้สึกว่าตนเองสั่นคลอน และใช้ความมั่นคงของรัฐมาเป็นข้ออ้างคุกคามประชาชน ทั้งที่สถานการณ์ทางการเมืองในขณะนี้ เป็นเรื่องของความมั่นคงของรัฐบาล ไม่ใช่ของชาติ
.
“มันก็คือการยืนยันว่ารัฐบาลในปัจจุบันกำลังเอาความมั่นคงของตัวเองมาแทนที่ความมั่นคงของรัฐ ซึ่งมันเป็นคนละเรื่องกัน การที่รัฐบาลไม่มั่นคงเพราะคนไม่นิยมชมชอบ วิพากษ์วิจารณ์ มันคนละเรื่องกับความมั่นคงของรัฐ คุณกำลังเอาเรื่องส่วนตัวมาเป็นเรื่องของสาธารณะ และก็กำลังใช้ทรัพยากรของสาธารณะเพื่อประโยชน์ส่วนตัว” นายณัชปกรณ์กล่าว
.
*** ถามหาสำนึกเจ้าหน้าที่รัฐ หยุดทำตัวเป็นเครื่องมือเผด็จการ ***
.
ด้านนายปิยบุตร ได้เล่าถึงประสบการณ์ส่วนตนที่ถูกเจ้าหน้าที่รัฐติดตามอย่างใกล้ชิด มาตั้งแต่สมัยเป็นนักวิชาการ จนมาเป็นนักการเมืองในพรรคอนาคตใหม่ จนมาเป็นคณะก้าวหน้าในปัจจุบัน ซึ่งนายปิยบุตรเล่าว่าตนเริ่มถูกตามอย่างหนักหน่วงขึ้นหลังจากมีการชุมนุมทางการเมืองในปีที่ผ่านมา
.
พร้อมกับตั้งข้อสังเกต ว่าเมื่อเราไล่เรียงรายชื่อบุคคลที่อยู่ในรายชื่อบุคคลเฝ้าระวังแล้ว ตนพบว่ามีจุดร่วมประการหนึ่ง ว่าบุคคลเหล่านี้ล้วนเป็นบุคคลที่มีบทบาทในการรณรงค์ หรือสนับสนุนการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์แทบทั้งสิ้น
.
นอกจากนี้ นายปิยบุตรยังชี้ว่าแม้ที่ผ่านมาบุคคลที่อยู่ในรายชื่อเฝ้าระวัง อาจจะมองว่าปรากฏการณ์ดังกล่าวเป็นเรื่องปกติเคยชินไปแล้ว แต่ในความเป็นจริงนี่คือเรื่องที่ไม่ปกติ และเราต้องร่วมกันชี้ให้เห็นว่าปฏิบัติการของรัฐ ที่มองเห็นประชาชนเป็นศัตรูเช่นนี้ดำรงอยู่จริงในสังคมไทย
.
พร้อมทั้งฝากถึงเจ้าหน้าที่รัฐ ให้ใช้สามัญสำนึกพิจารณา ว่าการมองประชาชนเป็นศัตรู รวมทั้งการใช้อำนาจข่มขู่คุกคามประชาชนในลักษณะนี้ เป็นเรื่องที่เป็นธรรมเหมาะสมหรือไม่
.
“บรรดาเจ้าหน้าที่ทั้งหลาย คนของรัฐบาลทั้งหลาย เวลาคุณทำอย่างนี้กับคนอื่นคุณต้องคิดในมุมกลับ ว่าถ้าตัวคุณเองโดนบ้าง ลูกหลานคุณ พ่อแม่พี่น้อง ญาติสนิทมิตรสหาย คนใกล้ชิดคุณโดนแบบนี้ทุกวัน มันยุติธรรมหรือไม่?” นายปิยบุตรกล่าว
.
ในส่วนของนายรังสิมันต์ ตั้งข้อสังเกตว่าในระยะที่ผ่านมา ระดับของการคุกคามประชาชนในช่วงหลังเริ่มหนักหน่วงขึ้น มีการติดตามบุคคลถี่ขึ้นอย่างเห็นได้ชัด และรูปแบบการคุกคามก็เริ่มรุนแรงมากขึ้นด้วย ซึ่งการมีบัญชีรายชื่อดังกล่าวหลุดออกมาสู่สาธารณชน ก็เป็นเครื่องพิสูจน์ชัดถึงกรณีดังกล่าว
.
ทั้งนี้ ตนมองว่าสิ่งนี้เป็นอันตรายอย่างยิ่ง เจ้าหน้าที่ควรมีหน้าที่ในการปกป้องสวัสดิภาพและความปลอดภัยของประชาชน แต่วันนี้กลับกลายมาเป็นเครื่องมือของรัฐในการคุกคามผู้เห็นต่างไปแล้ว
.
“เจ้าหน้าที่ตำรวจปกติแล้วมีหน้าที่ในการปกป้องประชาชน ทำให้ประชาชนสามารถใช้ชีวิตได้อย่างสงบสุข แต่สิ่งที่เราเห็นในวันนี้เจ้าหน้าที่ของรัฐกลับถูกใช้เป็นเครื่องมือเพื่อทำลายความสงบสุขของประชาชน” นายรังสิมันต์กล่าว
.
*** รัฐคุกคามนักเคลื่อนไหวไม่ควรเป็นเรื่องปกติที่ประชาชนต้องคุ้นชิน ***
.
ด้านนางสาวพรรณิการ์ ระบุว่าตนเองเคยถูกติดตามถึงขนาดมีการถูกติดอุปกรณ์ส่งสัญญาณระบุตำแหน่ง (GPS) ใต้ท้องรถ ซึ่งไม่ทราบว่าติดมานานเท่าไหร่แล้ว แต่เมื่อเดือนก่อนเพิ่งเอารถไปซ่อม ช่างจึงเจออุปกรณ์ชนิดนี้ ติดอย่างแน่นหนาที่ใต้ท้องรถ ตัวอุปกรณ์มีลักษณะทนทาน และผู้เชี่ยวชาญระบุว่าเป็นอุปกรณ์ระดับ “มืออาชีพ”
นางสาวพรรณิการ์ยังกล่าวด้วยว่าการคุกคามของรัฐในปัจจุบันนี้ ชัดเจนอย่างยิ่งว่าเป็นการกระทำนอกกฎหมาย และไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นแต่ในประเทศไทย แต่เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นทั่วไปในสังคมเผด็จการ ซึ่งรวมถึงการสังหารนอกกระบวนการยุติธรรม หรืออุ้มหาย (extrajudicial killing) ด้วย
.
ซึ่งการมีบัญชีรายชื่อบุคคลเฝ้าระวังเช่นนี้ แม้จะยังไม่เข้าข่ายสังหาร แต่ก็สามารถนำไปสู่กรณีที่รุนแรงอย่างการอุ้มฆ่าได้เช่นกัน หากเราปล่อยให้สิ่งที่เกิดขึ้นนี้เป็นเรื่องปกติต่อไปโดยไม่ออกมาเรียกร้องต่อต้านการกระทำของรัฐเช่นนี้
.
“นี่คือการติดตามนอกกระบวนการยุติธรรม ที่ทำโดยเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงของรัฐ โดยไม่มีกฎหมายระบุให้ทำได้ แน่นอนว่าไม่เลวร้ายเท่ากับการอุ้มฆ่า แต่เราก็ไม่อยากรอให้ถึงวันที่มันเปลี่ยนจากการติดตามกลายมาเป็นการสังหาร เพราะว่าเรารู้กันดีว่าในอดีตที่ผ่านมา คนที่ถูกเจ้าหน้าที่รัฐติดตามหลายคน สุดท้ายแล้วก็โดนอุ้มหายไป เรื่องนี้ก็ไม่ใช่เรื่องที่เราควรจะเห็นเป็นเรื่องปกติ” นางสาวพรรณิการ์กล่าว