9 ส.ค. วันชนเผ่าพื้นเมืองไทย ‘มานพ’ ส.ส.ชาติพันธุ์ ‘ก้าวไกล’ ชวนสังคมไทยร่วมกันทลายมายาคติ เร่งผลักดันกฎหมายคุ้มครองปกป้องและรับรองความหลากหลายทางวัฒนธรรม

0
898

วันที่ 9 ส.ค. เนื่องในวันชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย มานพ คีรีภูวดล ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล สัดส่วนชาติพันธุ์ กล่าวว่า จนถึงในขณะนี้สถานการณ์ด้านสิทธิของชนเผ่าพื้นเมืองทั่วโลกและประเทศไทย ยังอยู่บนเส้นทางการต่อสู้ที่ท้าทายไม่ต่างกัน ยังคงมีมายาคติแห่งความไม่เข้าใจและอคติต่อชาติพันธุ์อย่างฝังรากลึกที่ต้องทลาย และจำเป็นต้องมีกฎหมายเพื่อปกป้องคุ้มครอง ดังเช่นยังปรากฏทัศนะคติอันชวนหดหู่ของรัฐมนตรีบางคนเมื่อไม่นานนี้ที่มั่นใจถึงขนาดกล่าวว่า “ประเทศไทยเราไม่มี ชนเผ่าพื้นเมือง เรามีแต่คนที่อาศัยอยู่บนแผ่นดินไทยเท่านั้น” ทั้งที่ในข้อเท็จจริงประเทศไทยมีคนชนเผ่าพื้นเมือง 60 กลุ่มเป็นอย่างน้อย คิดเป็นประชากรประมาณ 600,000 – 1,200,000 คน หรือราว 1 – 2 % ของประชากรทั้งประเทศ
.
ขณะเดียวกันต่อนานาชาติ รัฐบาลไทยกลับมีท่าทีที่แตกต่างเสมือนเข้าใจถึงปัญหา โดยได้ร่วมลงนามในปฏิญญาหรือข้อตกลงต่างในระดับนานาชาติ ไม่ว่าจะเป็น ปฏิญญาสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิชนเผ่าพื้นเมือง (United Nations Declaration on the Rights of Indigenous Peoples – UNDRIP) ซึ่งเป็นกรอบสากลในการกำหนดมาตรฐานการคุ้มครองชนเผ่าพื้นเมือง ให้สามารถใช้ชีวิตอย่างมีศักดิ์ศรีและมีสุขภาวะที่ดี ,การรับรองกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจสังคมและวัฒนธรรม ,ปฏิญญาออกซากา 1993 ของยูเนสโก หรือกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights – ICCPR) เป็นต้น
.
“ในขณะที่มีการร่วมลงนามข้อตกลงกับนานาชาติเต็มไปหมด แต่ในประเทศเรากลับยังเห็นการปฏิเสธและยอมรับการมีตัวตนของชนเผ่าพื้นเมืองโดยผู้มีอำนาจรัฐ ท่าทีเหล่านี้มีความสำคัญอย่างยิ่งเพราะจะนำไปสู่การสร้างความไม่เข้าใจในสังคม ก่อเกิดเป็นอคติต่อชาติพันธุ์และการดำเนินการทางนโยบายที่ผิดพลาด ผลิตซ้ำและถ่ายทอดความไม่เข้าใจครั้งแล้วครั้งเล่า จนกลายเป็นการละเมิดสิทธิและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ รวมถึงการไม่เคารพสิทธิในวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีอย่างหลากหลายที่มีในประเทศไทย ทั้งที่พวกเขาก็คือคนพื้นถิ่นโดยหลายกลุ่มก็คือผู้ที่อยู่มาก่อนประเทศไทยจะก่อตัวเป็นรัฐชาติเสียด้วยซ้ำ วิถีของชาติพันธุ์แต่ละกลุ่มอาจมีความเชื่อ มีรูปแบบการดำรงชีวิต หรือมีนิยามเศรษฐกิจที่แตกต่างออกไป ขณะเดียวกันวิถีชีวิตเหล่านี้เองกลับเป็นพลังในการสร้างความความสมดุลและยั่งยืนของทรัพยากรธรรมชาติ สร้างความมั่นคงทางอาหาร หรือกระทั่งเป็นผู้พิทักษ์ป่า ดังจะเห็นได้ว่าหลายพื้นที่ที่มีกลุ่มชาติพันธุ์ตั้งถิ่นฐานอยู่กลับปรากฎเป็นป่าอันอุดมสมบูรณ์ ไม่ใช่ป่าที่ถูกทำลายหรือเป็นไร่เลื่อนลอยดังที่มีความพยายามกล่าวหาหลายต่อหลายครั้ง ไม่เว้นกระทั่งการสร้างให้เป็นผู้ร้ายในหลักสูตรการศึกษาของภาครัฐ”
.
มานพ กล่าวต่อว่า ด้วยเหตุผลดังกล่าวจึงย่อมเป็นสิทธิอันชอบธรรมที่ชาติพันธุ์สมควรได้รับการปกป้องคุ้มครองในฐานะพลเมืองตามหลักสิทธิมนุษยชนภายใต้รัฐธรรมนูญเดียวกัน และเป็นที่มาของการที่หลายภาคส่วนพยายามผลักดันให้มีกฎหมายเพื่อรองรับสิทธิเหล่านี้ ไม่ว่าร่างกฎหมายของภาคประชาชนที่มีการลงชื่อเสนอเข้ามาสู่สภากว่า 1 หมื่นชื่อ ร่างของคณะกรรมาธิการกิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ ผู้พิการ กลุ่มชาติพันธุ์ และผู้มีความหลากหลายทางเพศ สภาผู้แทนฯ และรวมถึงร่างของพรรคก้าวไกล ก็เป็นอีกฉบับที่ยื่นต่อประธานรัฐสภาไปแล้วและกำลังรอการบรรจุเข้าสู่วาระพิจารณา

“ต้นเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ที่ประชุมพรรคก้าวไกลมีมติเอกฉันท์ ให้เสนอร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมและคุ้มครองกลุ่มชาติพันธุ์ เข้าสู่สภาด้วยเหตุว่า สถานการณ์ปัจจุบันที่ยังไม่มีกฎหมายส่งเสริมและคุ้มครองกลุ่มชาติพันธุ์โดยตรง ส่งผลให้กลุ่มชาติพันธุ์ต้องเผชิญปัญหาด้านต่างๆ โดยเฉพาะปัญหาการขาดสิทธิทางวัฒนธรรม ขาดสิทธิทางทรัพยากร และปัญหาอคติทางสังคมต่อกลุ่มชาติพันธุ์ สาระสำคัญของร่างนี้ จึงมุ่งเน้นการยึดหลักการรับรองสิทธิความหลากหลายในรัฐธรรมนูญ การเสนอให้มีคณะกรรมการที่มีองค์ประกอบจากกลุ่มชาติพันธ์ุเเละหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อจัดทำยุทธศาสตร์เพื่อกำหนดนโยบายที่เหมาะสมหรือกำหนดเป็นเขตวัฒนธรรมพิเศษขึ้น เพราะหากรัฐมีเขตเศรษฐกิจพิเศษได้ ทำไมเขตวัฒนธรรมพิเศษจึงจะมีบ้างไม่ได้ นอกจากนี้ยังเสนอให้มี ‘สภาชาติพันธุ์’ เพื่อเป็นกลไกในการประสานงานกับหน่วยราชการหรือเอกชนที่เกี่ยวข้อง และมีหน้าที่กำหนดทิศทางเเละอัตลักษณ์ตัวตน หรือวิถีชีวิตที่สอดคล้องตามพื้นที่ตามความเชื่อ ร่างกฎหมายฉบับนี้จะไม่มีบทลงโทษทางอาญา เนื่องจากต้องการมุ่งเน้นที่การส่งเสริมเเละสร้างความเข้าใจในสังคม
.
“การสร้างความเข้าใจต่อการยอมรับตัวตนของกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมืองเป็นเรื่องยากและเดินทางมาอย่างยาวนานมาก ไม่ว่าจะเป็นในระดับสากลหรือในประเทศไทย ดังเช่นว่า กว่าจะมี ‘วันสากลของชนเผ่าพื้นเมือง’ ต้องย้อนไปถึงประวัติศาสตร์การต่อสู้ของชนเผ่าพื้นเมืองอินเดียนแดงในสหรัฐอเมริกา แคนาดา ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ ที่ได้เรียกร้องต่อสู้สิทธิในผืนดินดั้งเดิมของพวกเขาที่ถูกรุกราน จนได้มีการนำประเด็นความขัดแย้งดังกล่าว เข้าไปสู่เวทีการพูดคุยของสันนิบาตแห่งชาติ ในปี 1920 ซึ่งทำให้โลกเรียนรู้และสนใจประเด็นชนเผ่าพื้นเมืองมากขึ้น ปี 1970 สหประชาชาติมีการศึกษาข้อมูล เกี่ยวกับสถานการณ์ชนเผ่าพื้นเมืองมากขึ้น จนทำให้นำไปสู่การจัดตั้งคณะทำงานว่าด้วยประชากรชนพื้นเมือง และไปจนถึงปี 1972 จึงจะได้ประกาศทศวรรษสากลของชนเผ่าพื้นเมืองในปี 1995-2004
.
“ต่อมา ปี 2000 สภาเศรษฐกิจและสังคม (ECOSOC) ได้มีการจัดประชุมเพื่อจัดตั้งเวทีถาวรชนเผ่าพื้นเมือง ทำให้มีพื้นที่ของตัวแทนเข้าร่วมรณรงค์ผลักดันประเด็นปัญหาของชนเผ่าพื้นเมืองต่อเวทีสหประชาชาติ จนเกิดการร่างอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิของชนเผ่าพื้นเมือง ระหว่างปี 2006-2014 องค์การสหประชาชาติ ได้ประกาศให้เป็นปีทศวรรษสากลชนเผ่าพื้นเมือง ระยะที่ 2 และกำหนดให้วันที่ 9 สิงหาคมของทุกปี เป็น ‘วันชนเผ่าพื้นเมืองสากลโลก’ โดยเสนอให้รัฐบาลประเทศต่าง ๆ สนับสนุนส่งเสริมกิจกรรมที่ชนเผ่าพื้นเมืองจัดขึ้น ในเวลาต่อมา ประเทศไทยร่วมกับอีก 143 ประเทศ จึงได้ลงนามปฏิญญาสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิชนเผ่าพื้นเมือง ในปี 2550 และได้มีการรวมตัวกันของชนเผ่าพื้นเมืองจากทั่วประเทศ จัดตั้งเครือข่ายชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย (คชท.) ขึ้น พร้อมกับประกาศให้วันที่ 9 สิงหาคมของทุกปีเป็น ‘วันชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย’ อย่างเป็นทางการ ในปี พ.ศ.2557 มีการจัดตั้งสภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย (สชพ.) ซึ่งภาคีองค์กรและเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง ได้ร่วมจัดกิจกรรมรณรงค์และเฉลิมฉลองเนื่องในวันชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง และในปีนี้ถูกจัดขึ้นภายใต้หัวข้อ ‘สัญญาประชาคมใหม่: คุ้มครองวิถีชีวิต สิทธิชนเผ่าพื้นเมือง’ (A New Social Contract : Protecting Indigenous Peoples’ Life and Rights) วันนี้สถานการณ์ด้านสิทธิของชนเผ่าพื้นเมืองทั่วโลกและประเทศไทย ยังอยู่บนเส้นทางการต่อสู้ที่ท้าทายไม่ต่างกัน และยิ่งจำเป็น ที่จะต้องร่วมกันประกาศตัวตนอย่างเปี่ยมศักดิ์ศรี เพื่อเป็นหนึ่งในพลังสร้างสรรค์สังคม ไปในทิศทางที่ทุกคนปรารถนา สู่สังคมที่ดีกว่าสำหรับทุกกลุ่มชนอย่างเสมอหน้าและเท่าเทียมกัน” มานพ ส.ส.ชาติพันธุ์ พรรคก้าวไกล ระบุ