(29 ส.ค.62) นายธนาธร
จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ โพสต์เฟซบุ๊กระบุว่า [ นนทบุรี:ก้าวแรกของพรรคอนาคตใหม่เขย่าการเมืองท้องถิ่น ]
.
เราจะสร้างนนทบุรีที่น่าอยู่มากกว่านี้ได้อย่างไร? อนาคตนนทบุรีควรเป็นแบบไหน? นโยบายการพัฒนาจังหวัดนนทบุรีควรมีหน้าตาอย่างไร?
.
ผมได้มีโอกาสสนทนากับนักออกแบบเมืองรุ่นใหม่ที่กำลังศึกษาอยู่ที่ประเทศประเทศเนเธอร์แลนด์จำนวนหนึ่งเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาถึงแนวคิดการพัฒนานนทบุรี
พวกเขานำความรู้การพัฒนาเมืองสมัยใหม่มาประยุกต์ใช้กับนนทบุรี
ซึ่งน่าสนใจและสมควรได้รับการพัฒนาต่อ ผมจึงขอนำมาเล่าสู่กันฟังในที่นี้
เพื่อเตรียมทุกท่านเข้าสู่การแสดงวิสัยทัศน์นนทบุรี ของแคนดิเดตผู้สมัครนายก อบจ.
นนทบุรีทั้งสองคนของพรรคอนาคตใหม่
.
นนทบุรีเจริญเติบโตจากการรองรับการขยายตัวของกรุงเทพ
การเติบโตเกิดขึ้นผ่านการตัดถนนเส้นหลักๆ เช่น ถนนกาญจนาภิเษก(เปิดใช้ปี 2541), ถนนราชพฤกษ์(เปิดใช้ปี 2543),
ถนนนครอินทร์(เปิดใช้ปี 2545), และถนนชัยพฤกษ์
(เปิดใช้ปี 2549) หมู่บ้านจัดสรรใหม่ๆ เกิดขึ้นตามสองฝั่งถนน
รองรับการขยายตัวของเมืองไปทางทิศตะวันตกห่างออกจากแม่น้ำเจ้าพระยาขึ้นเรื่อยๆ
จากการพัฒนาที่ผ่านมา
เราอาจสามารถแบ่งนนทบุนีได้เป็นสามพื้นที่ ได้แก่
.
โซน 1 : พื้นที่เมืองดั้งเดิม ฝั่งตะวันออกแม่น้ำเจ้าพระยา, ปากเกร็ด
และอำเภอเมือง
.
โซน 2 : พื้นที่ส่วนขยายฝั่งตะวันตกแม่น้ำเจ้าพระยา, บางบัวทอง,
บางกรวย
.
โซน 3 : พื้นที่ที่ยังเป็นพื้นที่เกษตรกรรม, ไทรน้อย,
บางใหญ่ (ดูภาพ 1 ประกอบ)
.
การขยายของนนทบุรีกำลังขยายไปทางทิศตะวันตกเข้าสู่โซน
3 ซึ่งจากแผนที่น้ำท่วมในรูปภาพที่
2 ซึ่งเป็นแผนที่ความถี่ของน้ำท่วมจากสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ
: GISTDA จะเห็นได้ว่าโซน 3 เป็นพื้นที่ที่เกิดน้ำท่วมบ่อย
หากปล่อยการพัฒนาเมืองไปทางพื้นที่นี้
หมู่บ้านจัดสรรที่เกิดขึ้นใหม่จะตั้งอยู่บนพื้นที่ที่เกิดน้ำท่วม (ดูภาพที่ 3)
ซึ่งจะก่อให้เกิดภาระแก่ผู้อยู่อาศัยและภาครัฐในการแก้ปัญหาการเดินทางและน้ำท่วมในระยะยาว
.
วิธีที่ดีกว่าคือการพัฒนาศักยภาพของพื้นที่โซน 1 และโซน 2 ซึ่งมีโอกาสเกิดน้ำท่วมน้อยกว่าให้เต็มประสิทธิภาพด้วยการนำวิธีการคิดจัดการเมืองสมัยใหม่เข้ามาใช้
โดยคำนึงถึงลักษณะทางกายภาพของท้องถิ่น (เช่น การเป็นพื้นที่ลุ่มรับน้ำ), ความเสมอภาคเท่าเทียมของการเข้าถึงบริการภาครัฐ, การมีชุมชนที่น่าอยู่,
การคมนาคมสะดวก, รถไม่ติด, อากาศสะอาด มีพื้นที่สีเขียวอย่างพอเพียง
และเคารพและสะท้อนเอกลักษณ์ตัวตนของท้องถิ่น
.
การจัดการชุมชนเริ่มจากบริเวณเล็กๆ
ที่ประชาชนสามารถสัมผัสได้โดยตรง เราอาจมองชุมชนได้เป็นสี่เหลี่ยม ชุมชนขนาด 9 ตารางกิโลเมตร ที่มีความกว้าง 3 กิโลเมตร ยาว 3 กิโลเมตร (ดูภาพที่ 4 ประกอบ) ชุมชน 9 ตารางกิโลเมตรนี้สามารถแบ่งเป็นละแวกย่อยๆ
ได้อีก 9 ละแวก ละแวกละ 1 ตารางกิโลเมตร
.
จากนั้นเราสามารถคำนวนตั้งเกณฑ์มาตรฐานได้ว่าในชุมชนหนึ่งควรมีบริการสาธารณะอะไรและเท่าใดบ้าง
โดยคำนวนจากข้อมูลจริงของความหนาแน่นของประชากรและเด็ก เช่นจำนวนโรงเรียน, จำนวนโรงพยาบาล, จำนวนตลาดและพื้นที่พาณิชย์
หลังจากนั้น เราสามารถออกแบบการคมนาคมสาธารณะเพื่อเชื่อมโยงโรงเรียน, โรงพยาบาล, หน่วยงานรัฐ
และตลาดเข้าด้วยกันเป็นการคมนาคมสารธารณะระดับชุมชน
.
ถ้าเป็นตามนี้
หนึ่งชุมชมสามารถเข้าถึงสิ่งที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตครบครัน สถานที่ที่จำเป็นต่อการใช้ชีวิตอยู่ในระยะที่เดินถึง
คนไม่ต้องใช้รถ ไม่ต้องเดินทางไกล
.
วิธีคิดเช่นนี้สามารถนำมาประยุกต์ใช้กับนนทบุรีได้
(รูปภาพที่ 5) พื้นที่บริเวณ
1 ควรเป็นพื้นที่ฟื้นฟูกายภาพและสิ่งอำนวยความสะดวก
พื้นที่บริเวณ 2 ควรเป็นพื้นที่ที่เพิ่มประสิทธิภาพการใช้ประโยชน์ของที่ดิน
และพื้นที่บริเวณ 3 กำหนดเป็นพื้นที่ควบคุมการพัฒนาที่ดินสาธารณะ
.
หากเราลองพิจารณาพื้นที่ที่เล็กลง บริเวณท่าน้ำนนท์
ตลาดนนท์ ซึ่งอยู่ในพื้นที่บริเวณ 1 ซึ่งเป็นบริเวณฟื้นฟูกายภาพเมืองและสิ่งอำนวยความสะดวก (รูปภาพที่ 6
และ 7) พื้นที่นี้มีขนาด 7 ตารางกิโลเมตร มีประชากร 17,500 คน
และมีจำนวนครัวเรือนทั้งสิ้น 4,500 ครัวเรือน
จัดเป็นพื้นที่ความหนาแน่นของประชากรต่ำ
เราสามารถวิเคราะห์และจัดวางได้ว่าควรมีโรงเรียน, โรงพยาบาล, พื้นที่พาณิชย์
และพื้นที่สีเขียวไว้ตรงไหนอย่างไร เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงได้อย่างเสมอภาคในรัศมี 5
นาทีเดินหรือ 10 นาทีเดิน (รูปภาพที่ 8
และ 9) เช่น
เราสามารถวิเคราะห์ได้ว่าในบริเวณท่าน้ำนนท์
เรามีบ้านเรือนที่โรงเรียนอยู่ในรัศมีเดินถึง 10 นาที
ไม่มากเลย ดังนั้นเราควรเพิ่มโรงเรียนมากขึ้นในชุมชนนี้
.
เพื่อที่จะออกหรือเข้าชุมชน เราต้องมีระบบป้อนคนเข้า/ออกจากบ้านเรือนถึงระบบขนส่งมวลชนหลัก
(หรือระบบ feeder) ในกรณีของนนทบุรี
ระบบขนส่งสาธารณะที่เชื่อมนนทบุรีกับกรุงเทพได้ดีที่สุดคือรถไฟฟ้าสายสีม่วง
.
หน่วยงานราชการจังหวัดส่วนกลางออกระบบป้อนคนเป็นวงกลม
(รูปภาพ 10) ผ่านวงเวียนราชพฤกษ์,
เมเจอร์ปากเกร็ด, ท่าน้ำนนท์, สำนักงานขนส่งนนท์, กระทรวงสาธารณะสุข, จุดจอดรถไฟฟ้าสายสีม่วง, ถนนราชพฤกษ์, สถานีบางพลู และติวานนท์
.
ข้อเสนอที่เป็นระบบป้อนคนที่ถูกต้องจริงๆ
คือการป้อนคนจากบริเวณที่อยู่อาศัยเล็กๆ
เข้าสู่ระบบหลักอย่างรวดเร็ดและมีความถี่บ่อยตามข้อเสนอในภาพที่ 11 เราสามารถจัดให้มีเส้นรถเมล์หรือรถไฟรางเบา
วิ่งตะวันออก-ตะวันตก เชื่อมเทศบาลเมืองกับฝั่งตะวันตกของแม่น้ำตามแนวขวาง
และเพิ่มเส้นเหนือ-ใต้อีกสองเส้น เชื่อมเมืองแนวดิ่ง
และเชื่อมต่อกับเส้นตะวันออก-ตก และมีสายรถเมล์เล็กๆ
อีกจำนวนหนึ่งตามกรอบสี่เหลี่ยมสีแดงเพื่อให้ประชาชนที่อยู่ตามแนวรถไฟฟ้าสามารถเข้าถึงสถานีได้โดยสะดวก
.
นอกจากนี้ เราสามารถเพิ่มตัวตนของท้องถิ่นได้อีก
ไม่ไกลจากท่าน้ำนนท์ มีศาลากลางจังหวัดหลังเก่าที่ไม่ได้ใช้
แต่มีตัวอาคารที่มีสถาปัตยถกรรมเป็นเอกลักษณ์ เราสามารถฟื้นฟูอาคารหลังนี้ขึ้น แล้วสร้างเป็นพิพิธภัณฑ์ชุมชน
มีห้องสมุด มีห้องประชุม มีพื้นที่สาธารณะให้ประชาชน ให้ประชาชนเข้ามาใช้สอยได้
.
พรรคอนาคตใหม่ต้องการผลักดันการเมืองเรื่องนโยบาย
จากระดับชาติลงสู่ระดับจังหวัด ผ่านการเลือกตั้งท้องถิ่น
เพื่อแสดงให้ประชาชนเห็นว่า อำนาจของประชาชน-ประชาธิปไตย-การจัดสรรงบประมาณ-ชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี-การเติบโตทางเศรษฐกิจที่มีคุณภาพและเท่าเทียม
เป็นเรื่องเดียวกัน
.
วันอาทิตย์ 1
กันยายนนี้ เป็นปฐมบทการเมืองท้องถิ่นของพรรคอนาคตใหม่
เป็นย่อหน้าแรกของบทที่สองของการเดินทาง
.
เราขอเชิญสมาชิกพรรคอนาคตใหม่จังหวัดนนทบุรีและทุกคนที่สนใจ
เข้าร่วมรับฟังการประชันวิสัยทัศน์ระหว่างผู้สมัครลงนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดนนทบุรี
ในนามพรรคอนาคตใหม่ ในวันอาทิตย์ที่ 1 กันยายน 2562 เวลา 14.00 น.
เป็นต้นไป ที่หอประชุมชั้น 5 เทศบาลนครนนทบุรี
.
สมาชิกพรรคอนาคตใหม่ที่มีทะเบียนบ้านอยู่จังหวัดนนทบุรีสามารถเข้ามาร่วมลงคะแนนออนไลน์ผ่านทางเว็บไซต์พรรค
โดยเสียงของท่านจะเป็นส่วนหนึ่งในการคัดเลือกผู้สมัคร เพื่อให้ได้ผู้เข้าชิงนายก
อบจ. นนทบุรี ในนามพรรคอนาคตใหม่
.
แล้วเจอกันครับ