“ปิยบุตร” ยันปมถวายสัตย์ไม่ครบยังต้องวินิจฉัยต่อ-สภาจ่อรอเปิดอภิปราย ชี้ประเด็น ครม.ออก พ.ร.ก.ไม่ชอบ-ขัดเหตุผลสำคัญ 4 ข้อ รธน. หวั่นยุบ “ประชาชนปฏิรูป” ทำระบบวุ่นวาย- โต้กระแสยุบ “อนาคตใหม่” ชี้มีความพยายามปั่นกระแส

0
1513

เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2562 ที่สำนักงานพรรคอนาคตใหม่ นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ แถลงข่าวความเห็นต่อกรณีที่เกี่ยวข้องกับข้อกฎหมายหลายกรณีในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน โดยได้แสดงความเห็นใน 4 ประเด็น ประกอบไปด้วย 1. กรณีการถวายสัตย์ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี 2. การออก พ.ร.ก.แก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติส่งเสริมการพัฒนาและคุ้มครองสภาบันครอบครัว พ.ศ.2562 พ.ศ.2562 3.กรณีการยื่นยุบพรรคประชาชนปฏิรูปของนายไพบูลย์ นิติตะวัน ต่อ กกต. และ 4.คดีความต่างๆ ของพรรคอนาคตใหม่

นายปิยบุตร กล่าวว่า ประเด็นที่ 1. กรณีการถวายสัตย์ของ พล.อ.ประยุทธ์ และคณะรัฐมนตรี ตามที่เมื่อเช้านายกฯ ได้นำคณะเข้ารับพระราชดำรัสพร้อมลายพระราชหัตถเลขาต่อหน้าพระบรมฉายาลักษณ์นั้น ขอยืนยันตามความเห็นของนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีว่าไม่ใช่การถวายสัตย์ครั้งใหม่ โดยนายวิษณุบันได้ทึกเอาไว้ในหนังสือ “หลังม่านการเมือง” ว่า เมื่อนายกรัฐมนตรีนำคณะรัฐมนตรีเข้าเฝ้าถวายสัตย์จบแล้ว พระมหากษัตริย์จะทรงมีพระราชดำรัสให้กำลังใจอำนวยพรให้กับคณะรัฐมนตรี หลายครั้ง พระราชดำรัสได้กลายเป็นแนวทางที่ใช้ในการบริหารประเทศ ในสมัยหนึ่งอดีตนายกรัฐมนตรี คือ นายบรรหาร ศิลปอาชา หลังเข้าเฝ้าถวายสัตย์ เห็นความสำคัญของพระราชดำรัสแล้ว จึงขอพระบรมราชานุญาตตีพิมพ์เอาไปแจกรัฐมนตรีทุกคน กรณีเมื่อเช้านี้ เป็นครั้งแรกที่มีการจัดพิธีรับพระราชดำรัสต่อหน้าพระบรมฉายาลักษณ์ แต่ไม่ใช่การถวายสัตย์ปฏิญาณใหม่ ดังนั้น จึงต้องพิจารณาต่อว่าการถวายสัตย์เมื่อวันที่ 16 ก.ค.ที่ผ่านมาครบถ้วนสมบูรณ์หรือไม่ และจะส่งผลทางกฎหมายอย่างไร พล.อ.ประยุทธ์เองก็ไม่เคยชี้แจงอย่างชัดเจน จึงเป็นปัญหาต่อเนื่องมาในวันนี้ ซึ่งล่าสุดผู้ตรวจการแผ่นดินได้มีมติส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญ แต่ยังไม่ได้อธิบายชัดแจ้งว่าการถวายสัตย์ครบถ้วนหรือชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่ นอกจากนี้ยังมีอีกหลายคำร้องในหลายองค์กรเช่น ป.ป.ช. และยังมีญัตติอภิปรายในสภาผู้แทนราษฎรตามมาตรา 152 แต่ทั้งหมดนี้ยังไม่มีองค์กรไหนวินิจฉัยยืนยันชัดเจนถึงผลทางกฎหมายของการถวายสัตย์ไม่ครบถ้วนตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 161 เพราะฉะนั้น ทุกเรื่องยังคงเป็นเรื่องที่ต้องรอการวินิจฉัยต่อไป

“เรื่องนี้กินเวลามาแล้วเป็นเดือน หลายคนบอกว่าทำไมจึงไม่สนใจปัญหาเรื่องปากท้อง กรณีนี้ผมเองต้องเรียนว่าต้องการจบเรื่องนี้ใจจะขาด แต่ผมเองไม่มีอำนาจที่จะไปแก้ไขเปลี่ยนแปลงให้การถวายสัตย์ที่ไม่สมบูรณ์ให้สมบูรณ์ได้ คนที่จะทำให้จบเรื่องได้คือ พล.อ.ประยุทธ์ ซึ่งผมเองก็ได้เสนอแนะวิธีการไปแล้วเพื่อให้ทุกอย่างจบครบถ้วน ได้ทักท้วงไปแล้วตั้งแต่ในการอภิปรายการแถลงนโยบายในรัฐสภา เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม แต่ไม่มีการตอบ ไม่มีการอธิบาย ไม่ตอบแม้กระทั่งว่าทำไมถึงไม่อ่านตามถ้อยคำตามที่มาตรา 161 กำหนด เรื่องนี้ยืนยันว่า ที่ทักท้วงไปไม่เกี่ยวกับการล้มรัฐบาล เรื่องแค่นี้ล้มรัฐบาลไม่ได้ เราเพียงต้องการความแน่นอนชัดเจนเพื่อให้คณะรัฐมนตรีรับหน้าที่โดยสมบูรณ์แบบตามรัฐธรรมนูญ จะได้ชัดเจนว่ามาตรการหรือมติต่างๆ ที่ออกมาเพื่อแก้ไขปัญหาต่างๆ จะมีความชัดเจนสมบูรณ์ ไม่เสี่ยงที่จะโมฆะ ถ้าแก้ปัญหาตั้งแต่วันที่ผมได้อภิปรายไปในสภา เรื่องก็จะไม่บานปลายมาจนถึงจุดนี้” นายปิยบุตร กล่าว

นายปิยบุตร กล่าวว่า ประเด็นที่ 2 เรื่องการออกพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ขึ้นมาหนึ่งฉบับเมื่อวันที่ 23 สิงหาคม คือ พ.ร.ก.แก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติส่งเสริมการพัฒนาและคุ้มครองสภาบันครอบครัว พ.ศ.2562 พ.ศ.2562 ประกาศลงราชกิจจานุเบกษาเมื่อวานนี้ ซึ่งปกติแล้ว พ.ร.ก.คือกฎหมายที่รัฐธรรมนูญให้อำนาจคณะรัฐมนตรีในการออกใช้ไปพลางก่อน ออกแล้วมีผลใช้ทันที แล้วจึงนำมาให้สภาเห็นชอบ คือออกไปก่อนรับรองทีหลัง เป็นการออกกฎหมายโดยฝ่ายบริหาร ใช้ในกรณีมีเหตุเฉพาะเจาะจงอย่างยิ่ง ตามที่รัฐธรรมนูญเขียนไว้ในมาตรา 172 วรรคแรก ว่าต้องเป็นเหตุที่เกี่ยวกับ 1.เพื่อประโยชน์ในการรักษาความปลอดภัยของประเทศ 2.เพื่อประโยชน์ในการรักษาความปลอดภัยสาธารณะ 3.เพื่อประโยชน์ในการรักษาความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ 4.เพื่อประโยชน์ในการป้องปัดภัยพิบัติสาธารณะ ซึ่งการออก พ.ร.ก.จะออกได้ด้วย 4 เหตุนี้เท่านั้น และต้องเป็นเรื่องความจำเป็นเรื่องด่วนด้วยถึงจะออกได้ เมื่อมาพิจารณาว่า พ.ร.ก.นี้เข้าเหตุทั้ง 4 เหตุหรือไม่ ท้าย พ.ร.ก.ก็ไม่ได้เขียนยืนยันว่ามีเหตุจาก 4 เหตุข้างต้นเลย มีเนื้อหาเพียงว่า เนื่องจาก พ.ร.บ.ส่งเสริมการพัฒนาและคุ้มครองสภาบันครอบครัว พ.ศ.2562 ยังไม่พร้อมที่จะถูกบังคับใช้ เนื่องจากหน่วยงานต่างๆยังไม่พร้อมทำงานตาม พ.ร.บ.นี้ จึงต้องนำเอา พ.ร.ก.มาเบรคให้ พ.ร.บ.ไม่บังคับใช้ ปัญหาก็คือวิญญูชนทั่วไปพิจารณาก็จะเห็นว่าเข้าเหตุผลตาม4 ข้อในรัฐธรรมนูญหรือไม่

“นอกจากนี้ ตามรัฐธรรมนูญได้บัญญัติไว้ว่าคณะรัฐมนตรีจะต้องนำ พ.ร.ก.ที่ออกมาเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาโดยเร็วที่สุด นั่นหมายถึงการประชุมสัปดาห์หน้าเรื่องนี้ต้องเข้าสภาทันที เพื่อให้พิจารณาว่าจะให้ความเห็นขอบ พ.ร.ก.ฉบับนี้หรือไม่ ถ้าสภาลงมติแล้วไม่เห็นชอบก็จะตกไปทันที แต่ประเด็นที่มากไปกว่านั้น คือมีความรับผิดชอบทางการเมืองที่คณะรัฐมนตรีจะต้องรับผิดชอบจากการออก พ.ร.ก.โดยไม่ถูกต้องตามมาอยู่ด้วย ซึ่งในอดีตมีการออกมาหลายฉบับ ส่วนใหญ่จะผ่านการลงมติในสภาเนื่องจากเสียงข้างมากเป็นพวกเดียวกับรัฐบาล มีเพียง พ.ร.ก. 3 ฉบับที่ไม่ผ่าน คือ ในสมัยรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลย์สงคราม 2 ครั้ง ในสมัยรัฐบาล พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ 1 ครั้ง ซึ่งโดยธรรมเนียมแล้วหาก พ.ร.ก.ไม่ผ่านคณะรัฐมนตรีจะรับผิดชอบด้วยการลาออกหรือยุบสภา และนอกจากนี้ หากสภาเห็นว่าการออก พ.ร.ก.ไม่เข้าเหตุจำเป็น 4 ข้อ ส.ส.จำนวน 1 ใน 5 ยังมีสิทธิร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยว่าสุดท้ายแล้ว พ.ร.ก.นี้เข้าเหตุในการออกตามรัฐธรรมนูญหรือไม่ ความไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญของ พ.ร.ก. ฉบับนี้ มีช่องทางไปได้ 2 ช่อง คือการลงมติโดยสภาแล้วตกไป หรือศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยออกมา ซึ่งในสัปดาห์หน้าจะได้ทราบกัน

“ผมมองว่านี่เป็นปัญหาใหญ่ของคณะรัฐมนตรีภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ ที่มีอำนาจพิเศษตาม ม.44 มา 5 ปีเต็มๆ ทำให้การใช้อำนาจขาดซึ่งความระมัดระวัง หากย้อนไปดูจะพบว่า 5 ปีที่ผ่านมามีการออกกฎหมายแบบผิดพลาด สะเพร่า เผอเรอหลายครั้ง วันนี้ออกกฎหมายมาอย่าง วันรุ่งขึ้นออก ม.44 มาแก้ เมื่อก่อนอาจแก้ด้วยอำนาจพิเศษ แต่วันนี้ไม่มี ม.44 แล้ว ท่านคงคุ้นชินกันการใช้ ม.44 จึงไปหาช่องทางที่ง่ายที่สุดคือการออก พรก.มาใช้ แต่ท่านคงลืมไปแล้วว่าวันนี้เรามีรัฐสภาและฝ่ายค้านแล้ว ส.ส.มีสิทธิที่จะพิจารณาไม่เห็นชอบ พรก.หรือส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญได้ ท่านต้องใช้อำนาจอย่างระมัดระวังมากกว่านี้ ท่านไม่ได้มี ม.44 อีกต่อไปแล้ว” นายปิยบุตรกล่าว

นายปิยบุตร กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ จากการที่ตนไปค้นคว้าดูประเด็นของกฎหมายฉบับนี้ออกมา เจ้าภาพที่จะบังคับใช้คือกระทรวงการพัฒนาสังคมเพื่อความมั่นคงของมนุษย์ มีความพร้อมใช้กฎหมายฉบับนี้เต็มที่ พ.ร.บ.นี้มีเนื้อหาที่ครอบคลุมการคุ้มครองสถาบันครอบครัวจากความรุนแรงในครอบครัวที่กว้างขวางขึ้น แต่วันนี้กลับมี พ.ร.ก.นี้ออกมาระงับเสียจนทำให้คนที่จะได้รับประโยชน์ความคุ้มครองต้องเสียโอกาส นอกจากนี้ พ.ร.ก.ฉบับนี้ออกมาวันที่ 23 สิงหาคม ลงราชกิจจานุเบกษา วันที่ 26 สิงหาคม แต่เขียนย้อนให้มีผลในวันที่ 20 สิงหาคม มีความลุกลี้ลุกลนผิดปกติ ถามว่าเกิดอะไรขึ้น ทำไมมีการใช้อำนาจด้วยความเผอเรอขนาดนี้ สำหรับเรื่องนี้ พรรคจะมีการพิจารณาและหารือร่วมกับพรรคร่วมฝ่ายค้าน เพื่อจะได้หาทางออกร่วมกันต่อไป ว่าจะใช้ช่องทางไหนในการดำเนินการ แต่ปัญหาสำคัญที่ตนอยากตั้งคำถาม คือ หาก พ.ร.ก.นี้มีอันเป็นไปจริงรัฐบาลจะรับผิดชอบหรือไม่ อย่างไร ตามแนวทางในอดีตที่ผ่านมา นั่นคือ ลาออก หรือยุบสภา

นายปิยบุตร กล่าวว่า ประเด็นที่ 3 กรณีการเลิกพรรคประชาชนปฏิรูป พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง ปี 2560 มีเจตนารมณ์เกี่ยวกับการควบรวม และการเลิกพรรค ไว้ดังนี้
1.ไม่ประสงค์ให้ควบรวมพรรคการเมือง สาเหตุเพราะว่าผู้ร่างมีบทเรียนที่ผ่านมาในอดีต คือ มีพรรคไทยรักไทยเกิดขึ้นในเวลานั้น แล้วเมื่อเข้าสู่สภาก็เข้าไปควบรวมพรรคการเมืองต่างๆกลายเป็นพรรคขนาดใหญ่เกิน 300 เสียง ดังนั้นกฎหมายพรรคการเมือง ปี 2560 จึงเขียนเอาไว้ในหมวด 9 ว่าด้วยการควบรวมพรรคการเมืองว่า จะควบรวมพรรคการเมืองแบบไม่มีเงื่อนไขไม่ได้ การควบรวมพรรคการเมืองตามกฎหมายปัจจุบันจะเกิดได้มีเงื่อนไข คือ 1. ถ้าอยู่ในสมัยประชุมสภาห้ามควบรวมพรรคการเมืองเด็ดขาด เพื่อป้องกันการควบรวมจากพรรคเล็กไปพรรคใหญ่ 2. หากสองพรรคมารวมกันต้องกำเนิดพรรคใหม่ขึ้นมา มิใช่ เล็กไปรวมกับใหญ่ แล้วอยู่ในนามพรรคใหญ่ 3. ต้องเรียกประชุมใหญ่ทั้ง 2 พรรคเพื่อลงมติการควบรวมพรรค

2.การเลิกพรรคการเมือง ตามมาตรา 91 (7) ถ้าหากมีการเลิกพรรคเกิดขึ้นให้ปฎิบัติเหมือนถูกยุบพรรค และเพื่อคุ้มครองสถานะของ ส.ส. ให้ ส.ส.สามารถหาพรรคใหม่ได้ภายใน 60 วัน
การใช้ช่องทางการเลิกพรรค จะต้องไม่นำมาซึ่งการควบรวมพรรคโดยปริยาย จะต้องไม่ใช่การใช้ช่องทางการเลิกพรรคอย่างบิดเบือน เพื่อไปทำให้เป็นการควบรวมพรรค โดยหลีกเลี่ยงกฎหมายข้อห้ามและเงื่อนไขการควบรวมพรรค
“กรณีที่มีประกาศจากคณะกรรมการการเลือกตั้งมีมติให้พรรคประชาชนปฎิรูปให้สิ้นสภาพ โดยเหตุที่ว่ามีการเลิกพรรค หากพิจารณาตามกฎหมาย ผมคิดว่าการเลิกพรรคแบบนี้น่าจะทำไม่ได้ เพราะเป็นการใช้บทบัญญัติเรื่องการเลิกพรรคแบบบิดผัน เพื่อส่งผลให้เกิดการควบรวมพรรคการเมืองโดยปริยาย และเป็นการควบรวมพรรคที่ไม่สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง และจะเกิดผลเสียดังต่อไปนี้ 1. พรรคเล็ก 1 เสียง จะใช้ช่องทางนี้ควบรวมกับพรรคการเมืองขนาดใหญ่ เพราะหากใช้กฎหมายควบรวมตอนนี้ยังทำไม่ได้เพราะอยู่ในสมัยประชุมสภา จึงหนีไปใช้ช่องทางเลิกพรรคการเมืองแทน 2. ส่งผลต่อการคำนวน ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ 3. ส.ส.ซึ่งเป็นสมาชิกพรรคที่ถูกเลิกกิจการ ส.ส. คนนั้น จะไม่มีวันหลุดจาก ส.ส.อีกเลย อย่างเช่น หากมี ส.ส.คนหนึ่ง ย้ายไปอีกพรรคหนึ่งที่ใหญ่กว่า แล้วเกิดมีการเลือกตั้งซ่อม ส.ส แบบแบ่งเขต ภายใน 1 ปีนี้ ก็ต้องนำคะแนนดิบทั้งประเทศมาคำนวณที่นั่ง ส.ส. บัญชีรายชื่อใหม่ ส.ส.บัญชีรายชื่อที่เคยอยู่พรรคเล็กเดิม ก็ไม่ต้องกังวลว่าพรรคตนเองจะเสียที่นั่ง ส.ส.อีกแล้ว เพราะ ตนเองย้ายมาพรรคใหม่แล้ว แต่กลายเป็นว่า ส.ส.บัญชีรายชื่อลำดับท้ายของพรรคใหญ่ ต้องกังวลว่า หากคำนวณที่นั่ง ส.ส.บัญชีรายชื่อใหม่แล้ว ตนเองจะหลุดจากการเป็น ส.ส.หรือไม่ และ 4.เป็นการทำลายระบบพรรคการเมือง และทำลายเจตจำนงของประชาชนที่เลือกพรรคนั้นๆ” นายปิยบุตร กล่าว

นายปิยบุตร กล่าวว่า ประเด็นที่ 4 เรื่องคดีความของพรรคอนาคตใหม่ ณ ตอนนี้ถูกร้องเรียนจากหน่วยงานต่างๆ ทั้งหมด 22 รายการ ที่เข้าสู่กระบวนการขององค์กรต่างๆ บางคดีร้องถึงตัวบุคคล และบางคดีร้องถึงทั้งพรรค บางคนดีอยู่ในชั้นตำรวจ บางคดีอยู่ในชั้น กกต บางคดีอยู่ในชั้น ป.ป.ช. บางคดีอยู่ในชั้นศาลรัฐธรรมนูญ แต่มีคดีเป็นที่น่าจับตาของประชาชน มีอยู่ 3 เรื่อง 1.เรื่องหุ้นวี-ลัค มีเดีย ของนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรค วันนี้ สถานะล่าสุดคือ ศาลรัฐธรรมนูญจัดประชุมเพื่อจะมีมติให้มีการไต่สวนหรือไม่ หากมีการไต่สวน ศาลจะนัดคู่ความเพื่อกำหนดวันไต่สวนอีกครั้งหนึ่ง แต่หากศาลไม่อนุญาติให้ไต่สวน ศาลจะกำหนดว่าวินิจฉัยเมื่อไหร่ ดังนั้นวันนี้ไม่ใช่วันวินิจฉัยคดีของนายธนาธร แต่จากการคาดการแล้วอีกประมาณ 1 เดือน คดีนี้จะเกิดการวินิจฉัย 2.คดีอิลลูมินาติ ที่มีชายนายหนึ่งไปร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญโดยตรง อ้างว่าหัวหน้าพรรค และผม ใช้เสรีภาพล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ซึ่งขั้นตอนคดีนี้ ยังอยู่ชั้นคำให้การต่อศาล ดังนั้น คดีนี้ยังไม่มีการวินิจฉัย และ 3.คดีเรื่องเงินกู้ หัวหน้าพรรคให้พรรคกู้เงิน ตอนนี้อยู่ในชั้นของคณะกรรมการการเลือกตั้ง อยู่ในขั้นตอนของคณะกรรมการสืบสวน สอบสวน และไต่สวน

“หากมองไปถึง 3 คดีนี้แล้ว หากผลคำวนิจิฉัยเป็นไปในทางที่เลวร้ายต่อพวกเราอย่างที่สุด ก็ไม่ส่งผลให้เกิดการยุบพรรค คดีหุ้นวี-ลัค มีเดีย ของหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ เลวร้ายที่สุด หัวหน้าพรรคก็จะหลุดจากการเป็น ส.ส. มิได้ถูกยุบพรรคแต่อย่างใด ด้านคดีอิลลูมินาติ เต็มที่ได้แค่ศาลสั่งให้งดใช้เสรีภาพในการกระทำอันเป็นการล้มล้าง มิเกี่ยวข้องอะไรกับการยุบพรรค และคดีที่หัวหน้าพรรค ให้พรรคกู้เงิน หากศาลตัดสินว่าผิดจริง ก็จะบอกว่าเงินกู้นี้ ทำไม่ได้ให้เอาไปคืน มิได้มีบทบัญญัติอะไรให้ไปยุบพรรค ทั้ง 3 คดีใหญ่ๆนี้ ไม่เกี่ยวข้องกับการยุบพรรคทั้งสิ้น พรรคอนาคตใหม่มั่นใจว่าจะสู้คดีได้และจะสู้จนถึงที่สุด ทั้งนี้ ผมขอตั้งข้อสังเกตว่า ทำไมสังคมถึงคิดว่าพรรคอนาคตใหม่จะโดนยุบ สังคมเชื่อโดยล่วงหน้า หากแต่สังคมประเมินจากประวัติศาสตร์ 13 ปีที่ผ่านมาที่มีการยุบพรรคบ่อยครั้ง นั่นหมายความว่า คนจำนวนมากประเมินและตัดสินล่วงหน้าโดยไม่คำนึงถึงปัจจัยกฎหมาย เพราะทุกคดีเรา ไม่เกี่ยวกับการยุบพรรคทั้งสิ้น พรรคอนาคตใหม่ยืนยันว่า ส.ส.ในพรรคทุกคนเข้มแข็งและยึดมั่นในอุดมการณ์ของพรรค และพรรคอนาคตใหม่มีแนวทางการแก้ปัญหาของเรา” นายปิยบุตร กล่าว