ไม่สนโควิด ‘พิจารณ์’ ซัด กมธ. งบฯ ซีกรัฐบาลรู้กัน รวบรัดผ่าน ‘งบกองทัพเรือ’ ฉลุย เมินฝ่ายค้านขอตัดงบซื้อโดรน 5,000 ล้าน

0
733

วันที่ 30 ก.ค. 64 อาคารรัฐสภา ในกรรมาธิการพิจารณาร่าง พ.ร.บ. งบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ. 2565 ได้เกิดความวุ่นวายขึ้นในการรายงานผลการปรับลดงบประมาณของคณะอนุกรรมาธิการครุภัณฑ์และ ICT จนทำให้กรรมาธิการฝ่ายค้าน walk out จากที่ประชุม
.
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สาเหตุเกิดจากในการพิจารณาปรับลดงบประมาณของ ‘กองทัพเรือ’ คณะอนุกรรมาธิการฯ ไม่สามารถพิจารณางบของกองทัพเรือได้เนื่องจากกองทัพเรือไม่แสดงเอกสารสัญญาในหลายฉบับที่ร้องขอไปโดยอ้างว่าเป็นความลับและเกี่ยวกับความมั่นคง เช่น เอกสารสัญญาการซื้อเรือดำน้ำลำที่ 1, เอกสารที่ไปที่มาถึงเงินงวดจ่ายเรือดำน้ำลดลง และแสดงสัญญาจัดซื้อเรือสนับสนุนเรือดำน้ำ LPD คณะอนุกรรมาธิการฯ จึงมีมติส่งเรื่องให้คณะกรรมาธิการใหญ่เป็นผู้พิจารณาปรับลดงบประมาณของกองทัพเรือ โดยในชั้นอนุฯไม่สามารถตัดงบของกองทัพเรือได้แม้แต่บาทเดียว
.
อย่างไรก็ตาม เมื่องบประมาณกองทัพเรือเข้าสู่การพิจารณาในคณะกรรมาธิการงบประมาณชุดใหญ่ นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ กรรมาธิการจากสัดส่วนพรรคพลังประชารัฐได้รวบรัดด้วยการเสนอญัตติขอตัดงบประมาณทันทีเพียงแค่ 900 ล้านบาท เฉพาะส่วนที่กองทัพเรือขอเลื่อนโครงการจัดซื้อเรือดำน้ำ ลำที่ 2 และ 3 ไปก่อนหน้านี้ โดยงบประมาณส่วนอื่นของกองทัพเรือจะไม่มีการปรับลดเลย
.
ในขณะที่ ศิริกัญญา ตันสกุล กรรมาธิการจากพรรคก้าวไกล ได้เสนอญัตติเช่นกัน โดยเสนอให้ตัดงบประมาณเพิ่มเติมในอีก 5 โครงการ ได้แก่ โครงการจัดหาโดรน UAV ขนาดใหญ่ 3 ลำ รวมงบผูกพัน 4,100 ล้านบาท (จ่ายในปีงบประมาณ 65 จำนวน 880 ล้านบาท), โครงการจัดหาโดรน UAV ขนาดเล็ก 2 ลำ วงเงิน 570 ล้านบาท, โครงการจัดซื้อเรือสนับสนุนเรือดำน้ำ LPD ระยะที่ 2 งบประมาณ 519 ล้านบาท โครงการซ่อมปรับปรุงเฮลิคอปเตอร์ 25.7 ล้านบาท และงบประมาณสำหรับรถประจำตำแหน่ง พล.ร.อ. 5 คัน เป็นเงิน 8.38 ล้านบาท เนื่องจากกรรมาธิการในสัดส่วนพรรคก้าวไกลให้ความเห็นว่าโครงการเหล่านี้ยังไม่มีความจำเป็นในสถานการณ์ขณะนี้ จึงสมควรเลื่อนหรือลดงบประมาณส่วนนี้ออกไปก่อน แต่สุดท้าย กมธ. งบฯ เสียงข้างมากซึ่งเป็นฝ่ายรัฐบาลกลับไม่สนใจและผ่านงบประมาณของกองทัพเรือไปโดยไม่มีใครสนับสนุนญัตติของ ศิริกัญญา แม้แต่เสียงเดียว ทำให้กรรมาธิการสัดส่วนจากพรรคฝ่ายค้านทำการ walk out จากที่ประชุมทันที ผลที่ตามมาคือกรรมาธิการลงมติปรับลดงบประมาณกองทัพเรือไปเพียง 908.38 ล้านบาท เท่านั้น จากงบประมาณเรือดำน้ำที่กองทัพเรือเป็นผู้ถอนออกไปเอง 900 ล้านบาท และงบประมาณจัดหารถประจำตำแหน่ง 5 คันสำหรับนายทหารระดับพล.ร.อ. 8.38 ล้านบาท
.
ต่อกรณีดังกล่าว นายพิจารณ์ เชาวพัฒนวงศ์ อนุฯ กมธ. จากพรรคก้าวไกล ให้ความเห็นว่า จากสถานการณ์โควิด 19 ในขณะนี้ ไม่ใช่สถานการณ์ของการสู้รบ หลายโครงการจึงควรถูกปรับลดงบลง เช่น โครงการจัดหาเรือ LPD ระยะที่สอง เป็นต้น
.
“โครงการจัดซื้อเรือสนับสนุนเรือดำน้ำ LPD มี 2 ระยะ ระยะแรก วงเงิน 4,385 ล้านบาท ซึ่งของบไปแล้ว โครงการปัจจุบันเป็นระยะที่ 2 ในปี 2562-2564 ตั้งงบประมาณไว้เดิม 3,200 ล้านบาท แต่กลับมีการเบิกจ่ายไปทั้งสิ้น 3,700 ล้านบาท ต่อมาปี 65 ก็ขอมาเหมือนเดิมอีก 1,170 ล้านบาท ทำให้โครงการนี้จะมีการใช้เงินเกินไป 519 ล้านบาท กรรมาธิการจึงเสนอให้ปรับลดงบประมาณที่เกินมาส่วนนี้ เพราะมีความกังวลว่าการตั้งงบประมาณเกินวงเงินที่โครงการใช้ จะเปิดช่องให้กองทัพเรือสามารถโยกงบประมาณส่วนนี้ไปจัดซื้ออาวุธอื่นๆ ดังที่เคยเกิดขึ้นแล้วในปี 2563 ที่กองทัพเรือใช้เงินเหลือจ่ายจากโครงการโอนไป ซื้อยานเกราะสะเทินน้ำสะเทินบก 3 ลำ วงเงิน 398 ล้านบาท โดยที่การจัดซื้อก้อนนี้ ไม่เคยถูกนำเข้ามาพิจารณาในสภาเลย”
.
“ถ้า กมธ. งบ 65 ผ่านงบก้อนนี้ไป เราก็กลัวว่าประวัติศาสตร์จะซ้ำรอยเดิม ที่เป็นการตีเช็คเปล่าให้กองทัพ มีงบประมาณเหลือใช้ไปจัดซื้อยุทโธปกรณ์โดยไม่ผ่านการตรวจสอบจากสภาในยามที่ประชาชนทั้งประเทศกำลังยากลำบากจากสถานการณ์วิกฤต” พิจารณ์ ระบุ