ขี่ช้างจับตั๊กแตน ! ‘พิธา’ เผย กรมโยธาฯ ทุ่มสร้าง ‘เขื่อนกัดเซาะชายฝั่ง’ กิโลเมตรละ 100 ล้านบาท แลกปกป้อง ‘ถนนเลียบทะเล’ กิโลเมตรละ 8.4 ล้านบาท แถมแก้ปัญหาไม่ได้ ด้าน ‘ศิริกัญญา’ สับต่อ เน้น ‘โครงสร้างแข็ง’ เพราะงบสูงแต่ไม่อิงข้อมูลวิชาการ ถามอีก ส่อขวางทางน้ำ ขออนุญาตกรมเจ้าท่าแล้วหรือยัง

0
900

วันที่ 20 กรกฎาคม 2564 ที่อาคารรัฐสภา นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ในฐานะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณา ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ตั้งคำถามต่อหน่วยงานรับงบประมาณ ‘กระทรวงมหาดไทย’ ในกรณีของ ‘กรมโยธาธิการและผังเมือง’ ถึงแนวคิดและความจำเป็นในโครงการด้านการสร้างเขื่อนป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง ซึ่งใช้งบประมาณเยอะมาก แต่นอกจากไม่ได้แก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืนแล้ว ยังได้สร้างปัญหาใหม่ด้วย
.
“ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งมีอยู่จริง เพราะเวลาผมไปในพื้นที่ได้คุยกับประชาชนที่ได้รับผลกระทบ ในการแก้ปัญหามีแนวคิดว่าการสร้างเขื่อนป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งเป็นการต่อสู้กับธรรมชาติ แต่ก็มีแนวคิดอื่นที่แย้งว่า การแก้ไขด้วยวิธีสร้างเขื่อนแบบนี้จะไปสร้างปัญหาในอีกมิติอื่นๆด้วย เป็นที่น่าสังเกตว่า ตั้งแต่ยกเลิกการทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA)ในเดือนธันวาคม ปี 2556 งบประมาณด้านนี้ก็เพิ่มขึ้นในทุกปีอย่างมีนัยยะสำคัญขึ้นเป็น 500% ปี 57 ใช้งบประมาณ 170 ล้านบาท ถึงปีปัจจุบัน งบประมาณปี 65 ตั้งไว้สูงถึง 1,080 ล้านบาท สำหรับการสร้างเขื่อนป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง คำถามก็คือการสร้างเขื่อนแบบนี้เป็นการแก้ปัญหาหรือสร้างปัญหากันแน่” พิธา กล่าว
.
หัวหน้าพรรคก้าวไกล กล่าวต่อไปว่า วิธีที่จะตอบปัญหาดังกล่าวได้ จำเป็นต้องยกตัวอย่างพื้นที่ที่มีโครงการสร้างเขื่อนฯ จริงมาเปิดเผยให้เห็น ได้แก่ พื้นที่ตำบลเพ อำเภอเมือง จังหวัดระยอง ซึ่งแบ่งเป็น 4 พื้นที่ 1.ชุมชนบ้านเพ ซึ่งเป็นชุมชนประมง ที่อยู่อาศัย ตลาดและท่าเรือ 2.หาดสวนสน ซึ่งเป็นหาดท่องเที่ยว 3.หาดสวนสน ซึ่งเป็นที่จอดเรือ และ 4.หาดดวงตะวัน ซึ่งเป็นรีสอร์ทและหาดท่องเที่ยว
.
“กรณีหาดดวงตะวันได้มีการจะสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งริมทะเลพร้อมปรับภูมิทัศน์ความยาว 786 เมตร วงเงินงบประมาณรวม 78.6 ล้านบาท หมายความว่าได้ใช้งบประมาณสร้างเขื่อนคิดเป็นกิโลเมตรละ 100 ล้านบาท แต่มีข้อมูลอีกหนึ่งชุดที่เป็นงบประมาณสร้างถนนใหม่เลียบทะเลโดยกรมทางหลวงชนบทปี 2565 พบว่าใช้งบประมาณสร้างถนนกิโลเมตรละ 8.4 ล้านบาท ทั้งหมดนี้จึงขอตั้งข้อสังเกตว่า เรากำลังขี่ช้างจับตั๊กแตนหรือไม่ คือสร้างเขื่อนกิโลเมตรละ 100 ล้านบาท เพื่อมาปกป้องถนนที่ใช้งบประมาณสร้างประมาณ 8.4 ล้านบาท” พิธา ระบุ
.
พิธา กล่าวต่อไปว่า ในกรณีของหาดดวงตะวันนั้น เนื่องจากมีการทำปากน้ำ เลยทำให้สมดุลของทรายและของน้ำเปลี่ยนไป ทำให้เกิดปัญหาทรายฝั่งหนึ่งมีจำนวนเยอะ ทรายอีกฝั่งหนึ่งน้อย วิธีการแก้ของกรมโยธาฯคือการถมหิน และเมื่อถมหินก็เกิดการกัดเซาะ จึงต้องตั้งข้อสังเกตว่าเหตุใดยิ่งแก้แต่ปัญหากลับยิ่งเพิ่ม แทนที่จะแก้ไขปัญหาที่ต้นเหตุ เหตุใดจึงไปแก้ไขปัญหาที่ปลายเหตุของปลายเหตุ ด้วยการไปสร้างเขื่อนป้องกัน เพราะถ้าหากแก้ที่ต้นเหตุ คงต้องไปแก้โดยการย้ายทรายจากฝั่งที่เกินมาถมฝั่งที่ขาด เนื่องจากระหว่างทรายและหินมีความสามารถในการดูดซับคลื่นทะเลไม่เท่ากัน ดังนั้นอาจจะไม่ต้องถมหินตั้งแต่แรกหากมีการย้ายทราย และหากไม่ถมหินก็จะไม่นำไปสู่การกัดเซาะชายฝั่งและกัดเซาะถนน และไม่ต้องสร้างเขื่อนมาปกป้องถนน
.
“หาดดวงตะวันเกิดการกัดเซาะอย่างรุนแรงชัดเจนหลังการสร้างกองหิน หรือแม้กระทั่งในกรณีของพื้นที่ชุมชนบ้านเพ มีการสร้างเขื่อนกั้นทะเลตั้งแต่ปี 2535 ซึ่งเมื่อเอาของแข็งไปใส่กลางทะเลก็นำไปสู่ปัญหาที่ตามมา ไม่ว่าความเร็วของคลื่น ความลึกของทะเลที่เปลี่ยนไป การเข้าออกของน้ำทะเลก็เปลี่ยนไป ทำให้น้ำอ้อมและพัดขยะไปบริเวณชุมชนบ้านเพ ตรงนั้นเลยกลายเป็นพื้นที่น้ำเน่าเสียตลอด 20 ปีที่ผ่านมา แล้วก็ไม่มีการคิดรอบด้านพอ เอางบประมาณไปจัดการให้กับพี่น้องประชาชน การนำเขื่อนไปกั้นทะเล เป็นการใช้วิธีโครงสร้างแข็ง ที่อาจจะช่วยคนกลุ่มหนึ่งคือป้องกันท่าเรือได้ แต่ไปสร้างปัญหาเพิ่มให้กับประชาชน ประมงพื้นบ้าน ทำให้มีปัญหาเรื่องสิทธิชุมชน เรื่องของสิทธิประชาชนที่อยู่ในพื้นที่เดียวกันได้รับผลกระทบมาเป็นระยะเวลาที่ยาวนาน”
พิธา ยังได้กล่าวกับหน่วยงานว่า ประการแรก ขอให้กรมโยธาธิการและผังเมือง ทบทวนโครงการเขื่อนป้องกันตลิ่งริมทะเล ปรับปรุงภูมิทัศน์พื้นที่ชายฝั่งทะเล หมู่ที่ 3 หาดดวงตะวัน ตำบลแกลง อำเภอเมืองระยอง ที่เป็นงบผูกพันปี 64 แต่ยังไม่เริ่มก่อสร้าง ซึ่งโครงการนี้เห็นปัญหาที่จะเกิดขึ้นชัดเจน
.
ประการที่สองเป็นกลุ่มโครงการที่จะขอให้ทางกรมโยธาฯชะลอไปก่อน เนื่องจากเป็นการตั้งงบประมาณก่อนเปิดรับฟังความคิดเห็นจากประชาชน เช่น โครงการฟื้นฟูบูรณะและปรับปรุงภูมิทัศน์เพื่อป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งทะเลบ้านผาแดง หาดทรายรี-ชุมพร งบประมาณทั้งโครงการ 42.7 ล้านบาท โครงการเขื่อนป้องกันตลิ่งพื้นที่ชายฝั่งทะเลชุมชนบางกะไชย แหลมสิงห์-จันทบุรี งบประมาณทั้งโครงการ 88 ล้านบาท โครงการฟื้นฟูบูรณะและปรับปรุงภูมิทัศน์เพื่อป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งทะเลหาดดงตาล สัตหีบ-ชลบุรี งบประมาณทั้งโครงการ 48 ล้านบาท
.
ประการที่สาม ขอรายละเอียดเอกสารเพิ่มเติมในโครงการเขื่อนกัดเซาะชายฝั่งที่ผูกพันใหม่ในงบปี 65 ทั้ง 6 โครงการ และโครงการเขื่อนกัดเซาะชายฝั่งที่ภาระผูกพัน 41 โครงการ โดยเหตุผลที่ต้องขอรายละเอียดและต้องการให้ทางหน่วยงานชี้แจงเพิ่มเติมเพราะต้องการเห็นว่า ในเอกสารมีการแยกแยะแต่ละพื้นที่แต่ละโครงการหรือไม่ว่า เป็นการกัดเซาะ ‘แบบชั่วคราว’ หรือเป็นการกัดเซาะ ‘แบบชั่วโครต’ เพราะการกัดเซาะแบบชั่วคราว เป็นการกัดเซาะในบางฤดูกาลเท่านั้น แต่การกัดเซาะแบบชั่วโคตรอาจเกิดจากปัจจัยด้านโลกร้อน หรือเหตุปัจจัยอื่นๆที่จะก่อให้เกิดการกัดเซาะถาวร หากแยกแยะว่าเป็นการกัดเซาะแบบไหนก็จะสามารถแก้ไขได้อย่างตรงจุด เพราะวิธีการที่ใช้ในการแก้ไขปัญหาจะแตกต่างกันออกไป
.
ด้าน ศิริกัญญา ตันสกุล ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานกรรมาธิการ กล่าวเพิ่มเติมในประเด็นเดียวกันว่า กรมทรัพยากรทะเลและชายฝั่งมีงานศึกษาถึงความรุนแรงการกัดเซาะชายฝั่ง ซึ่งเป็นการศึกษาย้อนหลัง 50 ปี ทำให้ทราบว่าพื้นที่ใดมีการกัดเซาะระดับวิกฤต พื้นที่ใดกัดเซาะระดับรุนแรง พื้นที่ใดเป็นการกัดเซาะระดับปานกลาง ซึ่งจะทำให้ทราบว่าพื้นที่ใดเหมาะสม-ไม่เหมาะสมในการสร้างโครงสร้างแข็งป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง
.
“ปีนี้เสนอมาเพิ่ม 6 โครงการที่เป็นโครงการใหม่ ซึ่งเป็นโครงการที่ไม่จำเป็นต้องใช้โครงสร้างแข็งในการป้องกันคลื่น แต่สามารถใช้โครงสร้างอ่อนอื่นๆแก้ปัญหาได้ เช่น ถมทราย ปักไม้ไผ่ที่สามารถรื้อถอนง่าย และไม่สร้างผลกระทบสิ่งแวดล้อม โดยโครงการดังกล่าวมีทั้งที่ ท่าขึ้น อ.ท่าศาลา จ. นครศรีธรรมราช, ปากแตระ อ.ระโนด จ. สงขลา, หาดดงตาล อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี, บางกระไชย อ.แหลมสิงห์ จ.จันทบุรี”
.
นอกจากนี้ ศิริกัญญา ยังตั้งคำถามถึงความซ้ำซ้อนในหน้าที่ระหว่างกรมเจ้าท่า กระทรวงคมนาคม และกรมโยธาธิการและผังเมือง กระทรวงมหาดไทย ในการสร้างโครงสร้างเขื่อนแข็ง โดยปีที่แล้ว มี 12 เขื่อนที่ตั้งงบในปี 64 และยังไม่ได้เบิกจ่ายเลยแม้แต่เพียงบาทเดียว ซึ่งจะพิจารณาลดงบประมาณปี 65 เพื่อชดเชยของปี 64 ที่ทำไม่เสร็จต่อไป
.
สำหรับปีนี้มีการสร้างเขื่อนริมตลิ่งมีทั้งสิ้น 199 โครงการ มูลค่ารวม 12,000 ล้านบาท เบิกจ่ายในปี 65 จำนวน 2,350 ล้านบาท ขณะที่ปี 64 มีการจัดทำ 180 เขื่อน มีมูลค่าค่อนข้างมาก แต่ละโครงการมีขนาดเล็ก ความยาวไม่เกิน 500 เมตรเท่านั้น แต่มีจำนวนมากและใช้งบประมาณสูง จึงอยากตั้งคำถามว่าการก่อสร้างเหล่านี้ได้คุยคณะกรรมการน้ำและขออนุญาติกรมเจ้าท่าหรือไม่ เพราะสิ่งปลูกสร้างเหล่ามีผลกระทบกับการขวางเส้นทางน้ำได้