ที่วิทยาลัยนานาชาติปรีดีพนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วิทยาเขตท่าพระจันทร์ มีการจัดปาฐกถาพิเศษเรื่อง “89 ปี การอภิวัฒน์สยาม พ.ศ.2475” เนื่องในวันสำคัญทางประวัติศาสตร์ไทย 24 มิถุนายน 2475 วันเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองไทยจากสมบูรณาญาสิทธิราชเป็นระบอบประชาธิปไตย โดยมีผู้ร่วมกล่าวปาฐกถาพิเศษหลายท่านประกอบด้วย รศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ ศาสตราภิชาน แล ดิลกวิทยรัตน์, รศ.ดร.โภคิณ พลกุล, ศ.ดร.สุชาติ ธาดาธำรงเวช, รศ.ดร.ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี และนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ดำเนินรายการโดย อาจารย์วิโรจน์ อาลี
ศ.ดร.สุชาติ ธาดาธำรงเวช อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และอดีตหัวหน้าพรรคเพื่อไทย หนึ่งในองค์ปาฐกได้กล่าวไว้อย่างน่าสนใจว่า “การอภิวัฒน์สยาม พ.ศ.2475 ไม่สามารถเปลี่ยนวิธีคิดของสังคมได้มากนัก ซึ่งแตกต่างกับการปฏิวัติประชาธิปไตยของสหรัฐอเมริกา และการปฏิวัติสังคมนิยมของจีนที่ทั้งสองประเทศสามารถแก้ไขปัญหาประเทศได้อย่างดี แต่ภายหลังสยามอภิวัฒน์ 89 ปีแล้ว สังคมไทยยากจนลงมากประชาชนประสบปัญหาหลายด้าน ปัจจุบันยังตกอยู่ภายใต้การปกครองแบบอยุธยา แบบขุนศึกขุนนางศักดินาและนายทุนเป็นใหญ่ คนเหล่านี้มีอำนาจและทรัพย์สินเงินทองประชาชนเป็นข้าทาสบริวาร เมื่อปี 2475 ประชาชนไทยเคยทะลุออกจากกะลาแล้ว แต่ตอนนี้ถูกครอบเข้ามาอยู่ในกะลาใหม่อีกรอบ จรก่อเกิดคณะราษฎรยุคใหม่ ซึ่งเป็นเด็กนักเรียนนักศึกษาลุกขึ้นมาเรียกร้องอนาคตของตนเอง
ศ.ดร.สุชาติ กล่าวอีกว่า “การเสนอความเห็นต่างๆของนักวิชาการ นักต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย และประชาชนถูกจำกัดอยู่ภายใต้กรอบสังคมแบบขุนศึกศักดินา จึงเป็นการเสนอทางเทคนิคเท่านั้น เมื่อนำมาปฏิบัติไม่ได้ จึงทำให้ผู้ปกครองยิ่งมีอำนาจมากขึ้น ทวงบุญคุณจากประชาชน แม้ในศตวรรษที่ 21ประชาชนไทยยังถูกจำกัดให้เป็นข้าทาสบริวารต่อไป”
“เรื่องสังคมสวัสดิการและการสร้างความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจมีรายละเอียดทางวิชาการอยู่แล้ว แต่สังคมขุนศึกศักดินามักใช้นำมากล่าวอ้างเพื่อสร้างบุญคุณ ยิ่งเวลาผ่านไป ความเหลื่อมล้ำก็ยิ่งเพิ่มขึ้น เพราะผู้มีอำนาจไม่ได้มาจากประชาชน ไม่มีใจเพื่อประชาชน ผิดกับการสร้างความเป็นธรรมในจีน ที่ผู้นำมาจากประชาชนหรือการสร้างความเป็นธรรมในสหรัฐอเมริกา หรือยุโรป ที่ผู้นำมาจากประชาชน ทั้งๆ ที่ประเทศไทยมีชื่อโครงการเพื่อความเป็นธรรม เหมือนกับประเทศเหล่านี้ แต่วิธีคิดแบบศักดินา ไม่ใช่วิธีคิดแบบประชาชน งบประมาณทั้งหมดจึงถูกจัดแบบขุนศึกขุนนางมีอำนาจ มิใช่ประชาชนมีอำนาจ”
“แนวทางแก้ไข คือ ‘การลดอำนาจผู้ปกครอง เพิ่มอำนาจประชาชน’ โดยรัฐทำหน้าที่เท่าที่จำเป็น นั่นคือการลดเก็บภาษี เพื่อให้ประชาชนมีอำนาจใช้เงินที่ตนเองหามาได้ ยกเลิกการเกณฑ์ทหาร ยกเลิกกฎหมายที่บังคับขู่เข็ญประชาชน ความจริงรัฐบาลเป็นลูกจ้างประชาชน ประชาชนจึงมีหน้าที่เสียภาษีเท่านั้น ส่วนโครงการสวัสดิการได้แก่การศึกษา การสาธารณสุข คนทุพพลภาพ ผู้สูงอายุ คนยากจน ภัยพิบัติ โรคระบาด ให้รัฐบาลทำโครงการแบบประชาชนมีอำนาจเป็นผู้ใช้เงิน ไม่ใช่ให้องค์กรของรัฐมีอำนาจ เช่น โครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค โครงการคูปองการศึกษาให้นักเรียนและผู้ปกครองสามารถเลือกโรงเรียนได้ และที่สำคัญหน่วยงานของรัฐบาลกลางให้มีเท่าที่จำเป็น ให้ยกเลิกการโฆษณาประชาสัมพันธ์รัฐบาล ยกเลิก กอ.รมน. เลิกการทำ IO หรือปฏิบัติการทางข้อมูลข่าวสาร เพื่อตรวจสอบประชาชน เพราะสิ่งเหล่านี้มีในประเทศเผด็จการเท่านั้น ให้ยกเลิกการบริหารส่วนภูมิภาค ให้ท้องถิ่นมาจากการเลือกตั้งทุกระดับ ให้องค์ปกครองท้องถิ่น (อปท.) ทำหน้าที่รับใช้ประชาชน โดยรัฐบาลกลางทำหน้าที่ในภาพใหญ่ระดับประเทศดูแลปกป้องประชาชน“