เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 11 พฤษภาคม ที่สำนักงานอัยการสูงสุด ถ.รัชดาภิเษก นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า นางสาวพรรณิการ์ วานิช กรรมการบริหารคณะก้าวหน้า เดินทางมาเพื่อรายงานตัวตามที่พนักงานสอบสวนมีคำสั่งฟ้อง ตามความผิด ป.อาญา ม.116 ฐานร่วมกันกระทำให้เกิดแก่ประชาชน ด้วยวาจา และหนังสือ ด้วยวิธีอื่นใด อันมิใช่เป็นการกระทำภายใต้ความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ หรือมิใช่เพื่อแสดงความคิดเห็นหรือติชมโดยสุจริต เพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน ตามที่ นายสุวิทย์ ทองประเสริฐ หรือ อดีตพระพุทธอิสระ เป็นผู้ร้องทุกข์กล่าวโทษกับ สน.พญาไท เมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา
*** “ปิยบุตร” งงข้อกล่าวหาไม่เข้าองค์ประกอบความผิด แต่ พนง.สอบสวนสั่งฟ้อง
นายปิยบุตร กล่าวว่า คดีนี้นายสุวิทย์ ร้องทุกข์ว่าเราทำผิด ป.อาญา ม.116 เรื่องยุยงปลุกปั่น และวันนี้พนักงานสอบสวนมีความเห็นสั่งฟ้อง และนำตัวพวกเราไปให้พนักงานอัยการดำเนินการต่อไป โดยก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2563 เราเดินทางไปรายงานตัวที่ สน.พญาไท ตอนนั้นพนักงานสอบสวนออกหมายเรียกรับทราบข้อกล่าวหา ก็ได้อ่านบันทึกการแจ้งความ บันทึกข้อกล่าวหาทั้งหมดแล้ว ซึ่งว่ากันอย่างตรงไปตรงมา มันไม่เข้าองค์ประกอบความผิด ม.116 เลย โดยในกรณีของนายธนาธร อ้างถึงว่า เคยอภิปรายแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการอภิวัฒน์สยาม 24 มิถุนายน 2475, เคยพูดถึงประวัติศาสตร์การเมืองไทย 14 ตุลาคม 2516 และ 6 ตุลาคม 2519, เป็นหนึ่งในผู้ก่อตั้งวารสารฟ้าเดียวกัน, เคยอภิปรายงบประมาณรายจ่ายประจำปีต่างๆ รวมทั้งงบประมาณที่เกี่ยวข้องกับสถาบันกษัตริย์, ไปปรากฏตัวในที่ชุมนุม นี่คือข้อเท็จจริงของนายธนาธรที่เขาเอามาอ้างว่าผิด ม.116
“สำหรับในกรณีของผม ก็ไปเอางานวิชาการตั้งแต่สมัยเป็นอาจารย์อยู่ที่คณะนิติศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ งานที่ตีพิมพ์อยู่ในวารสารฟ้าเดียวกันบ้าง ตีพิมพ์รวมเล่มอยู่ในหลังสือราชมัลลงทัณฑ์บัลลังก์ปฏิรูปบ้าง รวมถึงความเห็นของผมที่เสนอให้สภาผู้แทนราษฎรตั้ง กมธ.วิสามัญศึกษาการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ เพื่อที่จะทำให้เอาข้อเรียกร้องของการชุมนุมนั้นไม่ต้องไปอยู่บนท้องถนน ให้เข้ามาอยู่ในสภา การชุมนุมจะได้คลี่คลายเบาบางลง คือไปเอาเรื่องเหล่านี้มาบอกว่าทำให้ยุยงเยาวชนนักศึกษาออกมาชุมนุม และยิ่งในกรณีของคุณพรรณิการ์นั้นยิ่งตลก เพราะใช้เรื่องการที่ไปปรากฏตัวในที่ชุมนุมแล้วไลฟ์สดเพื่อนำข้อมูลข่าวสารในที่ชุมนุมให้พี่น้องประชาชนที่ดูอยู่ทางบ้านได้รับรู้ แค่นั้นเอง” นายปิยบุตร กล่าว
***ชี้ พนง.สอบสวนไม่ใช่บุรุษไปรษณีย์หรือหุ่นยนต์ – ต้องใช้ดุลยพินิจบังคับใช้กฎหมาย
“นายปิยบุตร กล่าวอีกว่า ข้อเท็จจริงเหล่านี้ทั้งหมด นายสุวิทย์บอกว่าเราทำผิดตาม ป.อาญา ม.116 ฐานยุยงปลุกปั่น เราก็คิดว่าพนักงานสอบสวนจะใช้ดุลยพินิจที่ตัวเองได้เรียนกฎหมายมา แล้วก็สั่งไม่ฟ้องตาม ป.วิ.อาญา แต่ปรากฏว่าพนักงานสอบสวนไม่ทำ วันนี้สั่งฟ้องไปที่อัยการ ดังนั้น พวกเราจึงต้องมาในวันนี้ ซึ่งปัญหากรณีนี้คือว่า พนักงานสอบสวนเหล่านี้เรียนนิติศาสตร์บัณฑิตมา ตนถามง่ายๆ เลยว่า ถ้าเอาข้อเท็จจริงที่พูดถึงทั้งหมดไปจำลองเหตุการณ์ ออกเป็นข้อสอบในวิชากฎหมายอาญา ปี 2 วิชากฎหมายวิอาญา ปี 3 คณะนิติศาสตร์ แล้วเอาพนักงานสอบสวนเหล่านี้ย้อนกลับไปเป็นนักศึกษาคณะนิติศาสตร์ เขาจะตอบข้อสอบเหล่านี้อย่างไร เขาก็ต้องตอบแน่นอนว่ามันไม่ผิด ม.116 คือมันไม่เข้าองค์ประกอบความผิด การกระทำที่เกิดขึ้นมันไม่สัมพันธ์กับผล ไม่เป็นความผิดแน่นอน”
“แต่น่าเสียดาย ที่บรรดาที่คนพวกนี้เติบโตขึ้นมาได้เป็นพนักงานสอบสวนแล้วก็เดินหน้าทำแบบนี้ คือ สั่งฟ้องเรา ปัญหาคือว่า พนักงานสอบสวนไม่ใช่บุรุษไปรษณีย์ที่จะนำคำร้องทุกข์กล่าวโทษจากนายสุวิทย์ส่งให้อัยการ พนักงานสอบสวนมีดุลยพินิจ มีความเห็นได้ แต่พนักงานสอบสวนทำราวกับว่าตนเองเป็นบุรุษไปรษณีย์ นำข้อความที่นายสุวิทย์ฟ้องมาให้อัยการ พนักงานสอบสวนไม่ได้เป็นหุ่นยนต์ที่ตั้งโปรแกรมอะไรไว้ต้องทำตาม พนักงานสอบสวนเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ใช้กฎหมาย มีดุลยพินิจในการตีความกฎหมาย” นายปิยบุตร กล่าว
*** ลั่นหยุดสังคมแห่ง “นักร้อง-ค้าความ” ทำคดีรกศาล เชื่อกระบวนการยุติธรรมยังเชื่อมั่นได้
นายปิยบุตร กล่าวด้วยว่า อีกด้านหนึ่ง ต้องพิจารณาไปถึงคนอย่างนายสุวิทย์ด้วยว่า คนแบบนายสุวิทย์ที่เที่ยวแจ้งความคนต่างๆ เต็มไปหมดนั้น สุดท้ายเขาไม่ต้องมีความรับผิดชอบอะไรเลยใช่หรือไม่ ตกลงประเทศนี้เราจะปล่อยให้มีนักร้องมืออาชีพคอยร้องคนต่างๆ ส่วนผลจะเป็นอย่างไรไม่รู้ ทำให้เกิดความเดือดร้อนรำคาญก่อนก็พอใจแล้ว ตกลงประเทศนี้จะเอาอย่างนี้ใช่หรือไม่ สังคมไทยจะเป็นสังคมแห่งการค้าความกันหรือ ต่อไปนี้เราจะมีนักร้องเรียน คอยร้องไปตามองค์กรต่างๆ เราจะมีนักร้องรับจ้าง รับงานมาเที่ยวไปร้องคนโน้นคนนี้ เราจะเอาอย่างนี้กันเหรอ ทำให้คดีรกโรงรกศาล เจ้าหน้าที่พนักงานอัยการ หรือถ้าวันหนึ่งไปถึงศาล ผู้พิพากษาก็ต้องมาเสียเวลากับเรื่องพวกนี้ แทนที่จะได้ไปทำคดีสำคัญ ก็ต้องมาทำคดีพัวพันการเมืองเหล่านี้
“ผมคิดว่า วันนี้ผมทำตามกฎหมาย กฎหมายให้เรามาก็มาเพื่อให้พนักงานสอบสวนนำตัวส่งอัยการ และเดี๋ยวก็เตรียมตัวสู้คดีต่อไป ก็คิดว่าพนักงานอัยการจะให้ความเป็นธรรม เพราะที่ผ่านมา หลายครั้ง เรื่องของพวกเรา ไม่ว่าจะเป็นคดีของคุณธนาธร คดีของคุณพรรณิการ์ มาถึงชั้นพนักงานอัยการแล้ว พนักงานอัยการก็มีความเห็นสั่งไม่ฟ้องมาแล้ว ก็คิดว่ากระบวนการยุติธรรมในประเทศไทยยังเชื่อมั่นได้อยู่”
1:27
*** ม.112 – ม.116 ถูกใช้เป็นเครื่องมือการเมือง – ชี้ตีความกฎหมายรองต้องอยู่ในกรอบรัฐธรรมนูญ
นายปิยบุตร กล่าวด้วยว่า ปัญหาเรื่องการใช้ ป.อาญา ม.112 ด้วย ก็เป็นกลุ่มก้อนเดียวกันกับที่ว่ามา ก็คือการเอากฎหมายเป็นเครื่องมือในทางการเมืองกัน หลายต่อหลายเรื่องไม่เข้าองค์ประกอบความผิด ก็ตั้งข้อหาไว้ก่อน และตั้งข้อหาที่สูงๆ เช่น ม.112, ม.116 เพื่อที่ในท้ายที่สุด จะได้เป็นเหตุในการที่จะไม่ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว ไม่ได้รับการประกันตัว วันนี้ก็ทราบมาว่าที่ศาลอาญาจะมีการไต่สวนน้องๆ อีกหลายคน ก็คาดหวังว่าจะได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว อย่างไรก็ตาม ตนมีข้อสังเกตตรงนี้ว่า เวลาเราอ่านกฎหมาย เราบอกว่ารัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดใช่ไหม ดังนั้นเวลาตีความกฎหมายที่รองลงไป ก็ต้องอยู่ภายใต้กรอบของรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่ตีความกฎหมายในรายละเอียดย่อยต่างๆ จนทำให้หลักใหญ่ของรัฐธรรมนูญนั้นถูกทำลายไป ซึ่งหลักใหญ่ของรัฐธรรมนูญในกรณีนี้คือ เขายังเป็นผู้บริสุทธิ์ จนว่าศาลจะมีคำพิพากษา แต่มีการนำกฎหมายลำดับรอง ตั้งแต่ ป.วิอาญา ลงไปจนถึงแนวทางปฏิบัติของผู้พิพากษาต่างๆ แนวทางอัยการ แนวทางผู้พิพากษาในอดีต เอาพวกนี้มาประกอบ และผลสุดท้ายเพื่อจะบอกว่า นี่เป็นเหตุให้ไม่ต้องประกันตัวก็ได้
“อย่างนี้ผมคิดว่าไม่ถูกต้อง เพราะสำคัญที่สุดคือต้องยึดรัฐธรรมนูญ ส่วนกฎหมายอื่นๆ มันเป็นกฎหมายในทางขยายความเท่านั้นเอง อย่างกรณีที่หลายท่านได้รับการปล่อยตัวโดยมีเงื่อนไข โดยเฉพาะเงื่อนไขหนึ่งเรื่องการเคลื่อนไหวต่างๆ จนทำให้เกิดความผิดซ้ำอีก หรือทำให้เกิดความเสื่อมเสียต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ เหล่านี้ต้องลองไปคิดดูว่า มันเป็นส่วนหนึ่งในกฎหมายหรือเปล่าตามเงื่อนไขต่างๆ ที่ศาลวางไว้” นายปิยบุตร กล่าว
*** “ธนาธร” อัดรัฐบาลบริหารวัคซีนผิดพลาด -จี้ยอมรับและเดินหน้าแก้ไข เชิญชวนประชาชนร่วมฉีดวัคซีน
ผู้สื่อข่าวสอบถามความเห็นนายธนาธรถึงสถานการณ์การฉีดวัคซีน และการบริหารวัคซีนของรัฐบาลในขณะนี้ นายธนาธร กล่าวว่า สำหรับสถานการณ์การฉีดวัคซีน ตอนนี้ฉีดได้ 1 เปอร์เซ็นต์กว่าๆ ของจำนวนประชากรทั้งประเทศ จำนวนการฉีดหลังจากนี้คงเพิ่มขึ้นไม่มาก จนกว่าจะถึงปลายเดือนมิถุนายนที่วัคซีนล็อตใหญ่เข้ามา ขอให้กำลังใจบุคคลากรทางการแพทย์ที่ต่อสู้กับการแพร่ระบาดของโควิด-19 และขอเชิญชวนให้พี่น้องประชาชนไปรับการฉีดวัคซีนกัน ซึ่งต้องบอกว่าวัคซีนแต่ละประเภทมีผลกระทบข้างเคียงกับคนแต่ละกลุ่มแตกต่างกัน แต่ในภาพรวมของสังคมแล้ว ถ้าเราไปช่วยกันฉีดวัคซีนก็จะได้ผลประโยชน์ จะทำให้เกิดการสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ให้กับสังคมได้ดีกว่า เพราะวันนี้ ยังมีพ่อแม่พี่น้องหลายคนกลัวการฉีดวัคซีน
“วันนี้ สังคมไทยคงตระหนักแล้วว่า การบริหารวัคซีน หรือกลยุทธ์การจัดซื้อจัดหาวัคซีนที่เกิดขึ้นเมื่อไตรมาส 3 และ 4 ของปีที่แล้วผิดพลาด ก็คงเหลืออย่างเดียว คือลงมือทำ แก้ไขความผิดพลาด จัดหาวัคซีนให้ได้มากขึ้น หลากหลายขึ้น และเร็วมากขึ้น ขอให้กำลังใจเจ้าหน้าที่กระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงการต่างประเทศที่ได้พยายามเจรจาจัดหาวัคซีนให้กับประชาชนอยู่ในขณะนี้ การจะได้วัคซีนยี่ห้อใหม่ๆ มาในจำนวนมาก ในไตรมาส 3 หรือ 4 ในปีนี้ ก็อาจจะยาก เพราะว่าที่มีพร้อมอาจถูกจับจองไปหมดแล้ว แต่อย่างไรก็อยากให้กำลังใจ วัคซีนเป็นความหวังเดียวที่จะทำให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ในสังคมได้ ฝากรัฐบาลถ้าตระหนักในความผิดพลาดของตัวเองในปีที่แล้ว เร่งทำงานแก้ไข” นายธนาธร กล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับคดีที่แกนนำคณะก้าวหน้าทั้ง 3 คน ซึ่งพนักงานสอบสวน มีมติสั่งฟ้อง ตามความผิด ป.อาญา ม.116 ตามที่ นายสุวิทย์ หรือ อดีตพระพุทธอิสระ เป็นผู้ร้องทุกข์กล่าวโทษนั้น อัยการมีคำสั่งให้เลื่อนการพิจารณาออกไป และให้มารายงานตัวในวันที่ 13 กรกฎาคม 2564